4 ก.ย. เวลา 13:28 • ธุรกิจ

คำมี สตูดิโอ ปั้นดิน กินพิซซ่า สร้างงานเซรามิกให้เป็นเวิร์กช็อปแห่งแรกของแพร่

‘คำมี สตูดิโอ’ สตูดิโอเซรามิกแห่งแรกของแพร่ที่มีเวิร์กช็อปให้ผู้สนใจ เปิดสอนเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์เท่านั้น
คราฟต์เซรามิกที่มีเอกลักษณ์เป็นงานไม่มีรูปแบบ ถนัดปั้นขด ทำแค่สิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน
เมื่อคราฟต์กลายเป็นเรื่องคาบเกี่ยวระหว่างงานกับชีวิต การจัดการให้ลงตัวคงไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป ยิ่งเป็นเรื่องของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ยิ่งหนีไม่พ้นความเป็นศิลปินที่มีเรื่องของอารมณ์มาเกี่ยวข้อง อารมณ์กับรายได้เลี้ยงชีพ จึงกลายเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ศิลปินต้องเลือกเทน้ำหนัก สมดุลของความต่างจึงเป็นสูตรสำเร็จที่ผสมยาก แต่ คำมี สตูดิโอ กำลังทำได้ในเมืองเล็กๆ ชื่อ แพร่
ผมรู้จัก โก้-ธัชพงศ์ พัฒนสารินทร์ ครั้งแรกเมื่อได้เข้าร่วมโครงการ PhaeRich ของวิทยาลัยชุมชนแพร่ และได้ทำกิจกรรมเวิร์กช็อปกับคำมี สตูดิโอ เขาเริ่มแนะนำตัวก่อน
“ผมเรียนจบ Animation จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ช่วงที่ไปทำงานบริษัทโฆษณาที่กรุงเทพฯ เกิดชอบตลาดจตุจักร ตรงที่มีพื้นที่ขายงานอาร์ต หลังจากที่ดูตลาดของงานศิลปะอยู่สักพัก พบว่างานเซรามิกยังมีช่องว่างให้เราสร้างธุรกิจได้ เคยเรียนเซรามิกเป็นวิชาเลือกทำให้มีความรู้อยู่แล้ว จึงตัดสินใจกลับไปที่แม่ฟ้าหลวงอีกรอบ คราวนี้เริ่มเรียนรู้อย่างจริงจังจากอาจารย์ และได้เปิดร้านที่จตุจักรเมื่อปี 2553”
เมื่อลาออกจากงานแล้ว โก้บอกว่าตอนนั้นต้องเดินทางไป-กลับระหว่างเชียงรายกับจตุจักรทุกอาทิตย์ ร้านเซรามิกก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่นานเข้าก็เริ่มเหนื่อย เลยติดสินใจกลับบ้านที่แพร่ เมื่อปี 2554 จึงเริ่มสร้างสตูดิโอ ทำบ้านดิน เพื่อได้นั่งนิ่งๆ คิดงานได้
“ใช้ชื่อ “คำมี” เพราะที่นี่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่คำมี ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อยของแม่น้ำยม ได้ความคิดจะจัดเวิร์กช็อปที่บ้าน เพราะยังไม่มีที่ไหนในแพร่ทำมาก่อน แรกๆ จะมีปัญหาเรื่องการบาลานซ์วันเวิร์กช็อปกับวันทำงานเซรามิก พอทำทั้งสองอย่างพบทั้งปัญหา คือ การขัดจังหวะการทำงานส่วนตัว
ส่วนด้านโอกาส เราได้ขยายตลาด ขายได้ทั้งโปรดักต์และเวิร์กช็อป จนสุดท้ายสรุปจัดเวิร์กช็อปแค่เสาร์ อาทิตย์ และจันทร์ ส่วนวันที่เหลือได้มีเวลาอยู่นิ่งๆ คิดงาน ทำงานของเรา เราใช้ชีวิตเป็นความคาบเกี่ยวระหว่างงานกับชีวิต ภายนอกทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ภายในมีความสุข”
จริงอย่างที่โก้บอก ในการทำงานศิลปะ ถ้าเราสร้างสมดุลไม่ดี บางทีศิลปินอาจจะสูญเสียทั้งเวลาทำงานและจิตวิญญาณในเวลาเดียวกัน
ผมรับดินมาบีบๆ ปั้นๆ นึกไม่ออกว่าจะปั้นอะไร จนคำของโก้ลอยมา
“อย่าใช้สมองเยอะ ทำไปตามความรู้สึกได้”
น่าจะเป็นประโยคที่ดีสำหรับคนที่เริ่มเรียนรู้ศิลปะ ถ้าเป็นรูปแบบเกินไป เราคงไม่เรียกว่าคราฟต์ ดินที่ใช้ที่นี่แยกเป็นดินขาวที่รับมาจากลำปาง เมื่อเผาเสร็จได้เป็นสีขาว และดินดำจากเชียงใหม่ เมื่อเผาเสร็จจะได้เป็นสีน้ำตาล
“งานของคำมีเหมาะสำหรับคนที่ชอบสัมผัส ไม่มีรูปแบบ ผมถนัดปั้นขด ไม่ใช้เครื่องแป้นหมุน เราต้องรู้จริงในทุกกระบวนการ ทุกมุม ทุกหลีบ รู้ลึกในสิ่งที่ทำ ทำจนเป็นของเรา ในรัศมีร้อยกิโลเมตร ผมมั่นใจว่าเราเจ๋งสุด”
โก้จบท้ายประโยคกึ่งจริงกึ่งหยอก
“นอกจากเวิร์กช็อปแล้ว แฟนยังทำพิซซ่าออร์แกนิกขาย เผื่อคนที่มาทำกิจกรรมจะได้มีอาหารกิน เคยมีคนถามว่าทำไมไม่ทำอาหารอย่างอื่นขายด้วย ผมแค่บอกว่า เราถนัดแค่นี้ โฟกัสแค่นี้ มันแปลว่าสิ่งที่เราให้มันดีที่สุดสำหรับทุกคน จนตอนนี้ผมตกตะกอนแล้วว่า งานของเรามีฤดูกาล เวิร์กช็อปเยอะช่วงพฤศจิกายน ธันวาคม และมกราคม ส่วนช่วงหน้าฝนมีเวลาใช้ชีวิต”
กว่าโก้จะพบคำตอบของงานศิลปะและชีวิต ต้องใช้เวลาไม่น้อย
“มองหาแค่ใครบางคน เราไม่จำเป็นต้องแสวงหาทุกคนมาชื่นชอบผลงาน”
โก้ยกประโยคของศิลปินเชียงรายท่านหนึ่งให้ผมฟังส่งท้าย
TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด
รายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
#คำมีสตูดิโอ #เซรามิกเมืองแพร่ #sme #smethailand #เพื่อนคู่คิดธุรกิจเอสเอ็มอี #เรื่องธุรกิจต้องSMETHAILAND
โฆษณา