'ความสามารถของแพทย์ รวมกับ AI ช่วยให้เราอายุยืน จากการวินิจฉัยมะเร็งได้แม่นยำกว่า 85%'
หนึ่งในผลลัพธ์ที่ได้จากการร่วมมือระหว่างมนุษย์และ AI
“เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์” เราอยากจะบอกว่าในปี 2024 เราได้ก้าวข้ามผ่านวาทกรรมนี้กันไปแล้ว เราต่างรู้ถึงความสามารถ หลายคนใช้งานมันเป็นประจำแล้วด้วยซ้ำ ในตอนนี้บริบทของ AI คือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการทำงานของเราไปอย่างสิ้นเชิง มันกำลังเปลี่ยนแปลงวงการต่างๆ ในโลก จะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติทางทักษะเลยก็ว่าได้
AI ไม่ใช่สิ่งใหม่อะไรหากมองย้อนไปในอดีต มันเป็นเครื่องมือและแนวคิดที่ถูกพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง เพียงแค่ในสองปีที่ผ่านมานั้น มันโดดเด่นและเข้าถึงผู้ใช้งานในระดับบุคคลได้มากยิ่งขึ้น เราสามารถพูดได้ว่า AI นั้นแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่พวกเราคาดคิด ไม่ว่าจะในระบบการนำทางที่ใช้อัลกอริทึมในการค้นหาเส้นทางที่เร็วที่สุดอย่างเรียลไทม์ หรือแม้แต่กล้องตรวจจับความเร็วก็ยังใช้เทคโยโลยีจดจำตัวอักษรบนป้ายทะเบียน ทั้งหมดที่เรากล่าวมาล้วนมี AI เกี่ยวข้องทั้งสิ้น
แต่หากเราพูดถึงความโด่งดังในตัว AI คงจะหนีไม่พ้น Deep Learning ที่เป็นเทคโนโลยีการเรียนรู้รูปแบบจากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น Large Language Models (LLMs) ที่โด่งดังอย่าง ChatGPT ที่ถูกฝึกฝนด้วยข้อมูลมหาศาลทั้งข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ จนพัฒนาความสามารถหลากหลาย และถูกใช้งานอย่างอย่างสม่ำเสมอ
หนึ่งในการปฏิวัติครั้งสำคัญของวงการแพทย์ คือ AI สามารถช่วยตรวจจับมะเร็งได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขยายการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ปรับปรุงการวินิจฉัยโรค และให้การรักษาเฉพาะบุคคล จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘npj Digital Medicine’ พบว่าอัลกอริทึม AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแพทย์มนุษย์ในบางหน้าที่
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า AI จะมาแทนที่แพทย์ได้ทั้งหมด เพราะ AI ก็มีข้อจำกัดของมันเอง เช่น ปัญหาอคติในข้อมูล (Data Bias) ยกตัวอย่าง หากโมเดล AI ถูกฝึกฝนด้วยภาพผิวหนังของคนผิวขาวเป็นส่วนมาก เมื่อต้องวินิจฉัยโรคผิวหนังในคนผิวดำ มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การผสมผสานระหว่าง AI และแพทย์สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยแพทย์ที่ใช้ AI ช่วยในการวินิจฉัยสามารถเพิ่มอัตราการวินิจฉัยมะเร็งที่ถูกต้องจาก 81.1 เปอร์เซ็นต์ เป็น 86.1 เปอร์เซ็นต์ ส่งเสริมข้อมูลที่ว่า AI ต้องทำงานร่วมกับมนุษย์เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด
🤖[ วงการวิทยาศาสตร์: AI นักวิจัยที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ]
ทางด้านการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ AI ก็กำลังสร้างมิติใหม่ของการทำงาน โดย ‘Ross King’ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า ‘หุ่นยนต์นักวิทยาศาสตร์’ ชื่อ Adam ซึ่งสามารถตั้งข้อสมมติฐาน ทำการทดลองด้วยแขนกล เก็บผลลัพธ์ด้วยเซนเซอร์ และวิเคราะห์ผล โดยไม่ต้องหยุดพักเพื่อกินหรือนอนเหมือนนักวิจัยที่เป็นมนุษย์
นอกจากนี้ ยังสามารถจดจำและจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มนุษย์ไม่สามารถประมวลผลได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองผลลัพธ์จากเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อค้นหาอนุภาคใหม่ หรือ การติดตามวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีการตีพิมพ์จำนวนมาก ระบบ AI สามารถวิเคราะห์บทความวิชาการจำนวนมากเพื่อหาช่องว่างในการทำวิจัย รวมแนวคิดเก่าในรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่เสนอสมมติฐานใหม่ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า AI จะสามารถสร้างการค้นพบที่ปฏิวัติวงการได้ ผลลัพธ์อาจจะออกมาว่า AI ไม่ได้เก่งกว่ามนุษย์ในการคิดนอกกรอบหรือการเชื่อมโยงความคิดแบบก้าวกระโดดก็เป็นได้ แต่ในตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงวงการวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดนักวิจัยที่ทำงานได้ตลอดเวลาโดยไม่หยุดพัก
🤖[ วงการสื่อและบันเทิง: AI สร้างคอนเทนต์ แต่ศิลปินยังคงสำคัญ ]
ถึงแม้ AI จะมีความสามารถมากมาย แต่มันก็ยังคงมีข้อจำกัดมากมาย เช่น AI ไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ด้วยตนเอง หรือ แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองหากปราศจากมนุษย์ มันยังเป็นเพียงแค่ซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อน ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีความคิดหรือความเป็นอิสระ AI ยังคงต้องพึ่งพามนุษย์ในการสั่งการและตรวจสอบผลลัพธ์
‘การตรวจสอบ’ วิศวกรจะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบและแก้ไขโค้ดที่สร้างโดย AI ในเมื่อมันมีความสามารถในการเขียนโค้ดได้ค่อนข้างแม่นยำ เราก็มอบหน้าที่ให้มันและคอยตรวจสอบความถูกต้อง
‘การเชื่อมต่อ’ วิศวกรจะต้องเป็นตัวกลางสำหรับการร่วมมือระหว่าง AI หลายๆ ตัวที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากยิ่งขึ้น
‘การออกแบบ’ เมื่อ AI เข้ามาทำงานที่ซับซ้อน ส่งผลให้วิศวกรมีเวลาไปพัฒนาทักษะการออกแบบได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ User Stories, Frameworks, Communication, และ Business Result เป็นต้น
ในวงการ PMs เองก็ต้องใช้งาน AI ให้มากยิ่งขึ้น เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลง โดยการนำไปใช้ของตำแหน่งนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็น AI ที่ซับซ้อนมาก แค่มีความสามารถในการสร้างโครงการ จัดการ และ Productive ได้ก็พอ เช่น Low-code, No-code, LLMs เป็นต้น
PMs ต้องพัฒนาทักษะในการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน AI ทั้งการทำให้ผู้ใช้เชื่อมั่นในผลลัพธ์ของ AI และการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงเพื่อให้มั่นใจว่ามีการตรวจสอบความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์
🤖[ ทำไมข้อจำกัดของ AI ถึงเป็นมนุษย์? ]
แม้ว่า AI จะมีความสามารถที่น่าทึ่ง แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ โดยเฉพาะในด้านการให้เหตุผลและการตัดสินใจ AI ในปัจจุบันเก่งในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เช่น บทความ รูปภาพ วิดีโอ หรือ ดนตรี โดยอาศัยข้อมูลที่ฝึกฝนมา แต่มันยังไม่เก่งในการตัดสินใจว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นมีความเหมาะสมหรือมีเหตุผลในสถานการณ์นั้นๆ หรือไม่
แม่แต่นักวิจัยเองก็ยังไม่แน่ใจว่าการเพิ่มข้อมูลในการฝึกฝนจะทำให้ AI มีความสามารถในการให้เหตุผลอย่างสม่ำเสมอได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องมีการพัฒนาโมเดล AI แบบใหม่ทั้งหมด จึงจะเป็นไปได้
ดังนั้น ผู้ที่จะสามารถตัดสินใจได้ตั้งแต่กระบวนการการเริ่มต้นทำงานของ AI จวบไปจนถึงผลผลิตที่ออกมาแล้วนั้น ยังคงเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น การที่จะกล่าวว่ามนุษย์คือข้อจำกัดของ AI นั้นก็คงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ จนกว่าจะถึงวันที่ปัญญาประดิษฐ์มีรูปร่าง มีเป้าหมาย และมีความคิดเป็นของตัวเอง อย่างในเกมดีทรอยต์: บีคัมฮิวแมน (Detroit: Become Human) นั่นแหละคือวันที่มนุษย์ไม่ใช่ข้อจำกัดของ AI อีกต่อไป
🤖[ อนาคตของ AI และบทบาทของมนุษย์ ]
เมื่อพิจารณาถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของ AI เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่สิมันเกิดขึ้นไปแล้ว ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ หรือ ในขณะที่คุณกำลังอ่านมัน AI อาจจะถูกพัฒนาจนเข้ามาทำหน้าที่แทนใครหลายๆ คน หรือ สร้างโอกาสใหม่ๆ ก็ได้เช่นกัน
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ AI อย่างมีประสิทธิภาพ เราควรมองว่า AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเรา ไม่ใช่ตัวแทนที่จะมาแทนที่เราทั้งหมด การพัฒนาทักษะที่ AI ยังไม่สามารถทำได้ดี เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และทักษะทางสังคม จะเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานยุค AI
นอกจากนี้ เราควรตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมในการใช้งาน AI ด้วย เนื่องจาก AI มีอำนาจมหาศาลในการประมวลผลข้อมูลและตัดสินใจ การกำกับดูแลและการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่า AI จะถูกใช้งานในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
AI อาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงโลกของเรา แต่ในท้ายที่สุด มนุษย์เรายังคงเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าเราจะเดินทางไปอย่างไรกันแน่?