Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กระทรวงการต่างประเทศ
•
ติดตาม
5 ก.ย. 2024 เวลา 03:38 • ข่าวรอบโลก
“ตรวจหา DNA คนไทยในมาเลเซีย” หนึ่งในภารกิจการทูตเชิงรุกเพื่อประชาชน
ผู้อ่านอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างกับการจัดเที่ยวบินอพยพคนไทยกลับประเทศ ในสภาวะวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือการอพยพคนไทยออกจากพื้นที่ที่เกิดความรุนแรง ภารกิจเหล่านี้ล้วนถือเป็นภารกิจด้านการต่างประเทศที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางตามนโยบาย “การทูตเชิงรุกเพื่อประชาชน” ทั้งสิ้น โดยมีสำนักงานของไทยในต่างประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ เป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว
แต่นอกเหนือจากภารกิจอพยพคนไทย กระทรวงการต่างประเทศยังมีภารกิจอื่นๆ อีกที่อาจไม่คุ้นตากันมากนัก แต่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมไม่แพ้กัน ในครั้งนี้ ผมจะขอพาผู้อ่านทุกท่านเดินทางไปยังบริเวณชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อไปทำความรู้จักกับโครงการการทูตเชิงรุกเพื่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ จังหวัดนราธิวาส และเมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย กันครับ
ปัจจุบัน การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม หรือด้านอื่นๆ เช่นเดียวกับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่กลายเป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐานอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งบางส่วนตกอยู่ในสถานะแรงงานผิดกฎหมาย เป็นผู้ที่ไม่มีข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ และขาดการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับด้วย
สื่อมวลชนทำข่าวการการตรวจหาสารพันธุกรรม DNA คนไทยในมาเลเซีย (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
เมื่อได้เล็งเห็นถึงการมีตัวตนอยู่ของกลุ่มคนไทยผู้โยกย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ ซึ่งบางส่วนมีบุตรหลานโดยไม่ได้แจ้งเกิดด้วย กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย จึงเกิดไอเดียจัดโครงการการตรวจหาสารพันธุกรรม DNA คนไทยในมาเลเซีย เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ให้สามารถมีสิทธิขั้นพื้นฐาน เข้าถึงบริการภาครัฐ และอาศัยในมาเลเซียได้อย่างถูกกฎหมาย
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายธนรัช ไชยชมภู หรือพี่ก้าว นักการทูตปฏิบัติการ กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ ผู้ประสานงานโครงการการพาสื่อมวลชน กว่า 17 สำนักข่าวไปเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเยี่ยมชมโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พี่ก้าวเล่าว่าก่อนจัดโครงการนี้ขึ้น ทีมงานได้มีการเตรียมการและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู และสำนักงานจังหวัดนราธิวาส ซึ่งพี่ก้าวกล่าวด้วยความประทับใจว่าทุกหน่วยงานให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
พี่ก้าว ธนรัช ไชยชมภู นักการทูตปฏิบัติการ กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ
จากนั้น ทีมงานได้มีการติดต่อเพื่อเชิญสื่อมวลชนจากสำนักข่าวต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งมีสื่อมวลชนจำนวนมากแสดงความสนใจเดินทางไปร่วมโครงการครั้งนี้ สอดคล้องกับความต้องการของผู้จัดที่อยากให้โครงการดังกล่าวเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ด้วยโครงการอาจยังไม่เป็นที่รู้จักของสื่อและประชาชนเท่าที่ควร แม้จะเป็นภารกิจสำคัญที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อคนไทยในต่างแดนอย่างเป็นรูปธรรมก็ตาม
โครงการการตรวจหาสารพันธุกรรม DNA คนไทย มีกำลังหลักในการดำเนินการคือ สถานกงสุลใหญ่ฯ แต่คงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญ ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี 2560 โดยปัจจุบันนับเป็นปีที่ 7 แล้ว ซึ่งในปีนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 235 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 100 ราย และสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยในมาเลเซียมีความเชื่อมั่นกับโครงการครั้งนี้ไม่น้อย
เจ้าหน้าที่ให้บริการตรวจหาสารพันธุกรรม DNA คนไทยในมาเลเซีย (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
เมื่อถามถึงกระบวนการของการตรวจหา DNA พี่ก้าวเล่าว่า หลังจากผู้ลงทะเบียนกรอกเอกสาร และให้ความยินยอมเรียบร้อยแล้ว ผู้ลงทะเบียนจะต้องร่างแผนผังครอบครัว (Family Tree) และจะต้องพาคนในครอบครัวมาด้วย เพื่อเป็นคู่เทียบในการตรวจ DNA โดยจะตรวจหาผ่านเซลล์ในเยื่อบุกระพุ้งแก้ม เมื่อแล้วเสร็จ ทางสถานกงสุลใหญ่ฯ จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อออกเอกสารสำคัญ เช่น สูติบัตร และบัตรประจำตัวประชาชนให้โดยเร็วที่สุด เรียกได้ว่าเป็นการดำเนินการแบบ One Stop Service เลยทีเดียว
เพื่อให้สื่อมวลชนได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียในระดับประชาชนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กระทรวงฯ จึงได้นำคณะเดินทางไปพบปะชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามที่มีมากกว่าสองหมื่นคนในพื้นที่ โดยได้เดินทางไปที่โรงเรียนวัดพิกุลทองวรารามในรัฐกลันตันของมาเลเซีย ซึ่งเปิดสอนในหลักสูตรภาษาไทย ศาสนา และวัฒนธรรมไทย ทำให้เด็กๆ ชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามได้รู้จักวัฒนธรรมร่วมของไทยและมาเลเซีย และก่อให้เกิดความแน่นแฟ้นในชุมชนที่มีการผสนผสานระหว่างวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ
การพบปะชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายสยาม ณ โรงเรียนวัดพิกุลทองวราราม (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้พาสื่อมวลชนไปร่วมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนแบบคงที่ของไทยและมาเลเซียที่แม่น้ำโก-ลกด้วย โดยมีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้จัดการบรรยาย ซึ่งการจัดทำหลักเขตแดนของทั้งสองประเทศร่วมกันนี้ มีมาตั้งแต่ปี 2516 เพื่อช่วยรักษาความมั่นคงร่วมกัน ลดความขัดแย้ง และส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างกัน โดยสื่อบางสำนักได้ยกการจัดทำหลักเขตแดนนี้ว่า เป็นโมเดลต้นแบบของการจัดทำหลักเขตแดนเลยด้วย
โครงการดังกล่าวยังไม่จบแค่นั้น เพราะภายในระยะเวลา 3 วันของกิจกรรม กระทรวงฯ ยังได้นำคณะสื่อมวลชนร่วมโครงการอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ได้แก่ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Let’s Go Green! ภารกิจรักษ์โลกของสหายตัวน้อย” ที่ได้ร่วมมือกับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย โดยองค์การยูนิเซฟ ทำให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ แก่เด็กๆ ในประเด็นต่างๆ ของ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “SDGs” (Sustainable Development Goals) ที่ล้วนเป็นประเด็นสำคัญของโลกของเราในทุกวันนี้
นอกจากนั้น ได้พาสื่อมวลชนเข้าชมสวนวาเลนไทน์พันธุ์ไม้ ศูนย์รวมแคคตัส และวิสาหกิจชุมชนอย่างร้านซาโลมาปาเต๊ะ ในจังหวัดนราธิวาสด้วย
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Let’s Go Green! ภารกิจรักษ์โลกของสหายตัวน้อย” และการเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
เรียกได้ว่าภายในเวลาสามวัน ผู้เข้าร่วมได้ร่วมโครงการกันแบบจัดเต็มเลยทีเดียว พี่ก้าวยังได้เล่าอีกว่าสื่อมวลชนที่เข้าร่วมได้นำเรื่องราวโครงการของเราไปเผยแพร่ต่อรวมกันมากกว่า 60 ชิ้นงาน ทั้งในรูปแบบ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ วิทยุ และโทรทัศน์ สะท้อนถึงความสนใจของสื่อที่เข้าร่วม
ในอนาคต พี่ก้าวเล่าว่าก็อาจจะมีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ให้กับคณะสื่อมวลชนอีก โดยอาจพาสื่อไปชมกิจกรรมที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพื่อนำเสนอมิติของการต่างประเทศที่กระทรวงฯ ดำเนินการ ตามนโยบายการทูตเชิงรุกเพื่อประชาชน ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สื่อมวลชนขณะสัมภาษณ์รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
มาเลเซีย
ต่างประเทศ
คนไทยในต่างแดน
บันทึก
2
3
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย