5 ก.ย. เวลา 08:41 • ประวัติศาสตร์

พบรอยแตกบนหยกผักกาดขาวล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์ไทเป

ซินหัวเน็ต-พิพิธภัณฑ์พระราชวังเดิมในไต้หวันพบรอยแตกบน “หยกผักกาดขาว” ในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นชิ้นงานล้ำค่าของพิพิธภัณฑ์ สร้างความงุนงงให้กับหลายฝ่ายถึงที่มาของความเสียหาย
มีการสงสัยว่าชิ้นงานอาจได้รับความเสียหายระหว่างการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ในขณะที่ทางพิพิธภัณฑ์กลับแย้งว่า รอยแตกดังกล่าวพบตั้งแต่ขนส่งมาถึงไต้หวันแล้ว โดยคาดว่าอาจจะเป็นรอยแตก “ดั้งเดิม”ในสมัยที่อยู่ในพระราชวังของราชวงศ์ชิง
หยกผักกาดขาวมีขนาดยาว 18.7 ซม. กว้าง 9.1 ซม. หนา 5.07 ซม. แกะสลักจากหยกเขียวที่มีลักษณะซีกหนึ่งขาวซีกหนึ่งเขียว ทำให้หยกผักกาดขาวชิ้นนี้มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร นอกจากนี้บนใบผักยังสลักตั๊กแตนสีเขียวขนาดใหญ่ไว้ ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า “แม่นางทอผ้า” และตั๊กแตนหนวดสั้น ซึ่งมีความหมายแฝงว่า “ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง”
รายงานของหนังสือพิมพ์เหลียนเหอหวั่นเป้าของไต้หวันระบุ หยกผักกาดถูกนำมาแสดงในหนันเซี่ย เมืองเกาสงตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2003 เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากส่งคืนพิพิธภัณฑ์ก็พบว่าหนวดของตั้กแตนยักษ์บนหยกผักกาดขาวมีรอยแตก
ต่อเรื่องดังกล่าว หลินมั่นลี่ หัวหน้าพิพิธภัณฑ์พระราชวังเดิม(ไต้หวัน)กล่าวว่า จากข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์มีอยู่ชี้ว่า รอยแตกดังกล่าวมีมานานแล้ว ไม่เกี่ยวกับการจัดแสดงในหนันเซี่ย ด้านจีรั่วซินหัวหน้าฝ่ายดูแลวัสดุจากหยกของพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า
รอยแตกดังกล่าวมีมาตั้งแต่สมัยสมัยราชวงศ์ชิงแล้ว พร้อมทั้งนำรูปถ่ายของผักกาดหยกซึ่งถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 1966 – 1995 มาให้ผู้สื่อข่าวดูเพื่อไขข้อสงสัยว่ารอยแตกนี้มีมานานแล้ว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องก็ออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ชิ้นงานจะได้รับความเสียหายระว่างการขนส่งมาไต้หวัน
ทั้งนี้ จีรั่วซิน เห็นว่าจุดตำหนิเล็กน้อยนี้ไม่จำเป็นต้องซ่อม เพราะไม่กระทบต่อความงามโดยรวมของ “ผักกาดขาวหยกเขียว” แต่อย่างใด และหากซ่อมแล้วอาจออกมาดูไม่เป็นธรรมชาติ
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้พิพิธภัณฑ์พระราชวังเดิม(ไต้หวัน)ก็พบรอยตำหนิบน “หินรูปเนื้อ” อันล้ำค่าที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจินรั่วซินกล่าวว่า นั่นไม่ใช่รอยตำหนิ แต่เป็นความจงใจของศิลปินที่ต้องการมุมหักเพื่อสื่อถึงความงามของศิลปะ ทำให้มันดูคล้ายกับเนื้อย่างของจริงอย่างยิ่ง มองแวบแรกจะคิดว่าเป็นเนื้อน่าทานชิ้นหนึ่ง
“หยกผักกาดขาว” เดิมตั้งแสดงอยู่ในห้องบรรทมของสนมเอกจิ่น ในตำหนักหย่งเหอในรัชสมัยพระเจ้ากวงสูแห่งราชวงศ์ชิง(ค.ศ 1875-1908) เล่ากันว่าเป็นสินหมั้นของสนมเอกจิ่น ส่วน “หินรูปเนื้อ” ก็มาจากพระราชวังในสมัยราชวงศ์ชิงเช่นกัน ทั้งนี้วัตถุล้ำค่าทั้งสองชิ้นเป็นชิ้นงานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้.
เผยแพร่: 30 เม.ย. 2550 13:37
โดย: MGR Online
โฆษณา