Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บันทึก-นึก-เล่า
•
ติดตาม
5 ก.ย. เวลา 09:08 • ท่องเที่ยว
วัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร
กราบพระประธาน ๗ องค์ ชมจิตรกรรมฝาผนังอายุ ๔๐๐ ปี
ณ วัดชุมพลนิกายาราม พระนครศรีอยุธยา
วัดชุมพลนิกายาราม เป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณหัวเกาะตรงสะพานข้ามไปยังสถานีรถไฟบางปะอิน ตำบลบางเลน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้านเหนือติดกับพระราชวังบางปะอิน ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางจำนวนวัดเก่าแก่มหาศาลในเมืองหลวงเก่าแห่งนี้ แม้ที่นี่จะไม่ใช่จุดหมายยอดนิยม แต่ความสวยงามและความเป็นมาที่น่าสนใจกลับไม่เป็นรองที่ใดเลย
สถานะของวัดชุมพลนิกายารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓ ภายในอาณาบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งพระราชเคหสถานเดิมของพระราชมารดาของพระองค์ และสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเองได้ทรงพระราชสมภพที่นี่
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ วัดชุมพลนิกายารามได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งหนึ่ง โดยสมเด็จพระเจ้าราชวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทราพิทักษ์ ระหว่างทรงผนวชอยู่ที่วัดโคกแสง จากนั้นบ้านเมืองประสบภัยสงครามจากการแย่งชิงราชสมบัติ และข้าศึกภายนอกที่เข้ามารุกราน ตัววัดจึงไม่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์อีก
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายารามโดยโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา เขียนภาพผนังด้านในใหม่ พื้นภายในเดิมซึ่งปูด้วยกระเบื้องหน้าวัวก็เปลี่ยนเป็นหินอ่อน
ความน่าสนใจของวัดชุมพลนิกายารามได้แก่พระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอายุเกือบ ๔๐๐ ปี ซึ่งตั้งอยู่อย่างสง่างามท่ามกลางสิ่งก่อสร้างยุคต่อมา ศาสนสถานทั้งสองแห่งยังแสดงรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยา รัชกาลพระเจ้าปราสาททองอย่างเด่นชัด แม้จะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ตาม
ด้านหน้าพระอุโบสถรูปฐานโค้งสำเภา เห็นพระศรีอาริยเมตไตรย์ประดิษฐานอยู่ในกรอบกระจกด้านหน้า
พระอุโบสถภายในกำแพงแก้ว ๒ ชั้น เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบทรงโรง หลังคาลาดลดหลั่น ๓ ชั้น ด้านหน้าและด้านหลังสร้างเป็นมุขเด็จยื่นออกมา มีรูปแบบฐานโค้งสำเภา มีมุขยื่นทั้งสองด้าน อันเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาอย่างเด่นชัด หน้าบันประดับลายพระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชลัญจกรประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลวดลายภาพชุมนุมพลเพื่อการตั้งทัพ
หน้าบันเหนือขึ้นไปสลักภาพทัพทั้งสี่เหล่า ด้านหลังบานประตูหน้าต่างเขียนภาพเครื่องบูชาแบบจีน โดยมีซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มทรงปราสาทยอดปรางค์ มุขหน้าและมุขหลังของตัวพระอุโบสถประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรยภายในซุ้มจระนำ
พระประธานทั้ง ๗ องค์ งดงามเรืองรองยิ่งนัก
ด้านนอกน่ามองแล้ว ด้านในยิ่งตรึงสายตากว่า เพราะประดิษฐานพระพุทธรูปอดีตพระพุทธเจ้า ๖ พระองค์ และพระพุทธเจ้าสมณโคดม ๑ องค์ รวม ๗ องค์ ตั้งเรียงลดหลั่นกันลงมาอย่างงดงาม ได้แก่
๑. พระพุทธเจ้าวิปัสสี พระพุทธรูปปางมารวิชัย
๒. พระพุทธเจ้าสิฐี พระพุทธรูปปางสมาธิ
๓. พระพุทธเจ้าเวสสภู พระพุทธรูปปางมารวิชัย
๔. พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธรูปปางสมาธิ
๕. พระพุทธเจ้าโกนาคมน์ พระพุทธรูปปางสมาธิ
๖. พระพุทธเจ้ากัสสป พระพุทธรูปปางมารวิชัย
๗. พระพุทธเจ้าสมณโคดม พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ลักษณะพระพุทธรูปประธานมีพระพักตร์สี่เหลี่ยม พระวรกายตั้งตรง นิ้วพระพักตร์เสมอกัน และพระเพลาผายกว้าง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะอู่ทอง จึงมีข้อสันนิษฐานว่าวัดชุมพลนิกายารามอาจจะเป็นวัดร้างมาก่อน และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เกือบจะเป็นการสร้างใหม่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาเมื่อได้รับการบูรณะใหม่อีกครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเขียนรูปพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่เหนือเศียรพระพุทธรูปพระประธาน
จิตรกรรมฝาผนังด้านตรงข้ามพระประธาน เล่าเรื่องพุทธประวัติอดีตพระพุทธเจ้าและพระสมณโคดมในกัลป์ต่างๆ ด้านนี้ยังมีลายเส้นสวยงามคมชัด
สิ่งสะดุดตาเมื่อก้าวเข้ามาในพระอุโบสถนอกจากพระประธานทั้ง ๗ องค์ คือโดยรอบฝาผนังสี่ด้านประดับภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เล่าเรื่องพุทธประวัติอดีตพระพุทธเจ้าและพระสมณโคดมในกัลป์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธรูปประธานทั้ง ๗ พระองค์ แม้ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ส่วนใหญ่จะลบเลือนไปตามกาลเวลา ทว่าความงดงามอ่อนช้อยก็ยังปรากฏแจ่มชัด
เสา ๘ ต้นในพระอุโบสถเขียนลายพวงอุบะและพู่กลิ่น ภาพส่วนใหญ่ยังเห็นสีสันสดใส มีชีวิตชีวา
เพดานพระอุโบสถและเสา ๘ ต้นเขียนลายพวงอุบะและพู่กลิ่นที่แขวนประดับตามพระตำหนัก วิจิตรประณีตนุ่มนวลยิ่งยวด ส่วนบานประตูหน้าต่างภายในเขียนลายแท่นบูชาแบบกระบวนจีนซึ่งต่างจากวัดอื่นๆ ที่มักวาดภาพทวารบาล
บานประตูกับหน้าต่างวาดภาพเครื่องบูชาแบบจีน ลายเส้นหนักแน่น รายละเอียดยังแจ่มชัด งามตาอย่างยิ่ง
กราบสักการะพระประธานและชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังละเมียดละไมทั้งบนเสา บานประตูหน้าต่าง และบนฝาผนังแล้ว ออกมาด้านนอกต้องไม่ลืมไปกราบพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองทางด้านหลังพระอุโบสถด้วย ตัวเจดีย์เป็นศิลปะแบบอยุธยาแท้ๆ ได้รับการบูรณะสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพดี
พระเจดีย์องค์นี้บรรจุพระบรมธาตุขนาดกลาง ๒ องค์ ขนาดเล็ก ๒ องค์ รวม ๔ องค์ ห่อด้วยทองหนักไม่ถึง ๑/๔ เฟื้องไว้ในผอบจันทน์แดง ซึ่งซ้อนอยู่ในผอบจันทน์ขาวและผอบศิลาตามลำดับ แล้วรวมบรรจุไว้ในมณฑปศิลา สันนิษฐานว่าน่าจะบรรจุไว้คราวบูรณะครั้งหลังสุด
พระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองด้านหลัง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ถ้ายังมีเวลาอีกนิดอย่าลืมแวะไปกราบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ๑๑ องค์ในพระวิหารซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก หลังคาลด ๒ ชั้น หน้าบันเรียกว่ากระเท่เซร์ ตกแต่งด้วยลายอุบะ มีหลังคารอบ หน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้นเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ประดิษฐานบนพาน ๒ ชั้น ขนาบด้วยพระเศวตฉัตร ล้อมรอบด้วยลายเครือเถาก้านขด ส่วนช่อฟ้าและหางหงส์ทำเป็นรูปเศียรนาค
แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตและมิได้มีชื่อเสียงเทียบเท่าวัดแห่งอื่นในเมืองหลวงเก่าอันอุดมด้วยศาสนสถานเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ หากวัดชุมพลนิกายารามได้ให้ความหมายของคำว่าสงบงาม นำพาจิตผ่องแผ้วเบิกบาน ด้วยความสงบสงัดของสถานที่ซึ่งมิได้ใช้ในเชิงพุทธพาณิชย์เลย
จิตรกรรมฝาผนังอีกด้านอาจจะลบเลือนตามกาลเวลา แต่เรื่องเล่าที่แทรกอยู่ในผนังยังคงงดงามขรึมขลัง
*หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ "ศาสนศิลป์สยาม" วารสารทิศไท วารสารรายสามเดือนของมูลนิธิสร้างเสริมเอกลักษณ์ของชาติ ฉบับตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๖๗
ไลฟ์สไตล์
ท่องเที่ยว
ประวัติศาสตร์
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย