6 ก.ย. เวลา 00:00 • สุขภาพ

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ แต่บางรายอาจเผชิญภาวะนี้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจพบภาวะดังกล่าวได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แต่หญิงตั้งครรภ์บางรายอาจมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปากแห้ง และรู้สึกเหนื่อยหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งบางอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกับอาการของคนตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับอาการที่เผชิญอยู่
สาเหตุของเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ทำให้หญิงตั้งครรภ์บางรายเกิดภาวะร่างกายต่อต้านอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ในตับอ่อนและทำให้ร่างกายเผาผลาญกลูโคสเป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากร่างกายมีระดับอินซูลินต่ำหรือร่างกายดื้อต่ออินซูลิน จะส่งผลให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
ปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
1. ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 30 ขึ้นไป
2. ปัญหาสุขภาพ ผู้ที่เคยป่วยหรือมีญาติใกล้ชิดป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 รวมทั้งเคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
3. ชาติพันธุ์ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักพบในชาวเอเชีย ลาตินอเมริกัน แอฟริกัน และอเมริกันอินเดียนมากกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ
4. เคยคลอดทารกน้ำหนักมาก หญิงที่เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม เสี่ยงเผชิญภาวะนี้
ตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและของบุคคลในครอบครัวพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและวัดค่าดัชนีมวลกายว่ามากกว่า 30 หรือไม่ เพื่อคัดกรองความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล
กรณีที่แพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์สูง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล โดยแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จากนั้นให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายกลูโคสแล้วตรวจเลือดซ้ำอีก 2-3 ครั้งใน 2 ชั่วโมง เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่
การรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การรักษาคือลดระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงคนปกติให้มากที่สุดโดยการ คุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการฉีดอินซูลิน และควรจะเจาะเลือดเพื่อปรับขนาดอินซูลินแนวทางการรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้แก่
การรับประทานอาหาร
1. การเจาะเลือดเพื่อควบคุมโรค
2. การรักษาด้วยยา
3. การออกกำลังกายเป็นประจำ
ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ผู้ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะคลอดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรง อย่างไรก็ตาม หากได้รับการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนี้
ผลกระทบต่อทารกในครรภ์
1. มีน้ำหนักตัวมาก ระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดที่สูงมากของหญิงตั้งครรภ์อาจขัดขวางการทำงานของตับอ่อน โดยจะกระตุ้นให้ตับอ่อนของทารกผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคลอด หากเกิดภาวะดังกล่าว แพทย์อาจประเมินให้ทำการผ่าคลอดเพื่อป้องกันการฉีกขาดของช่องคลอด
2. ตัวเหลือง ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำอาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลืองหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้เด็กต้องเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล
3. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทารกแรกเกิดบางรายอาจเผชิญภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป และอาจทำให้ทารกมีอาการชักได้ อย่างไรก็ตามการให้นมบุตรและการฉีดกลูโคสเข้าทางหลอดเลือดดำสามารถปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
4. คลอดก่อนกำหนด เด็กอาจคลอดในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์และอาจเผชิญภาวะหายใจลำบากซึ่งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าปอดของทารกจะสมบูรณ์เต็มที่แต่ทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งป่วยเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจเผชิญภาวะหายใจลำบากได้เช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้คลอดก่อนกำหนดก็ตาม
 
ผลกระทบต่อมารดา
1. ภาวะน้ำคร่ำมาก ปริมาณน้ำคร่ำในมดลูกที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และอาจเกิดปัญหาอื่นๆขึ้นในระหว่างคลอดได้
2. เบาหวานหลังคลอด ผู้ที่เคยเผชิญภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นเบาหวานอีกครั้งเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนต่อไป และอาจป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หลังคลอดได้ ซึ่งการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว
3. ครรภ์เป็นพิษ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษซึ่งอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์
การป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยสูงแต่มีไขมัน น้ำตาล และแคลอรี่ต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช แต่ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่เหมาะสมเสมอเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ โดยเลือกวิธีออกกำลังกายที่ใช้แรงระดับปานกลาง เช่น เดิน ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3. ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก่อนเตรียมตัวตั้งครรภ์และควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น ยาเพรดนิโซน เป็นต้น
โฆษณา