6 ก.ย. 2024 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

มนุษย์เงินเดือนลาออกจากงาน จัดการกองทุน PVD อย่างไรได้บ้าง

ต้องเกริ่นก่อนว่า กองทุน Provident Fund (PVD) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการของบริษัทที่มอบให้กับลูกจ้าง และเราสามารถเลือกเองได้ว่าจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมั้ย
เมื่อเราลาออกจากบริษัท หลายคนมักจะจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยการขาย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและไม่ยุ่งยาก แต่เราจะต้องนำผลประโยชน์ทั้งหมดที่ได้ไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีในปีนั้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นที่ช่วยจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลาออกจากบริษัท และที่สำคัญ เป็นวิธีที่เราไม่ต้องเสียภาษี
วิธีจัดการกับกองทุน PVD เมื่อเราลาออก / เปลี่ยนงาน
1. คงเงินไว้กับบลจ.เดิม
2. โอนย้ายกองทุน PVD ไปไว้กับบริษัทใหม่
3. โอนไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD)
4. ถอนเงินทั้งหมด และชำระภาษี
1. คงเงินไว้กับบลจ.เดิม
การคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามเดิม โดยเราจะได้ผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างอีกต่อไป และยังได้รับใบรับรองหรือรายงานยอดเงินสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund Statement) คอยแจ้งยอดเงินในกองทุนตามรอบปกติ
นอกจากนี้จะมีค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้ไม่เกิน 500 บาท/ปี
วิธีนี้เหมาะกับ
- คนที่อยากลงทุนต่อเนื่องกับกองทุนนี้ และรอถอนเงินเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์เพื่อรับสิทธิยกเว้นภาษี
- คนที่รอโอนย้ายย้ายกองทุน PVD ไปที่บริษัทใหม่
2. โอนย้ายกองทุน PVD ไปไว้กับบริษัทใหม่
ก่อนอื่นต้องเช็คกับบริษัทใหม่ก่อนว่า มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มั้ย และถ้ามีสามารถโอนย้ายไปที่บริษัทใหม่ได้เลย หรือต้องผ่านช่วงทดลองงานก่อนถึงจะย้ายได้
หลังจากที่ทราบช่วงเวลาที่สามารถโอนไปกองทุน PVD ของบริษัทใหม่ ก็สามารถยื่นเรื่องกับกองทุนเดิมและ HR บริษัทใหม่ โดยในการโอนจะต้องโอนเงินลงทุนในกองทุนเดิมไปทั้งหมด
3. โอนไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD
เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจและเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเราจะต้องโอนเงินลงทุนทั้งหมดไปที่กองทุน RMF for PVD ซึ่งเป็นกองทุนที่รับโอนจากกองทุน PVD โดยเฉพาะ ไม่มีค่าธรรมเนียมโอนย้าย และไม่มีค่ารักษาสมาชิกรายปี เมื่อโอนย้ายไปแล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมาที่กองทุน PVD ได้อีก
เมื่อย้ายเข้ากองทุน RMF for PVD แล้ว จะต้องถือครองตามเงื่อนไขของกองทุน RMF คือ ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี (นับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิกกองทุน PVD) และสามารถขายเมื่ออายุครบ 55 ปีขึ้นไป
วิธีนี้เหมาะกับ
- คนที่ลาออกจากงานประจำ ไปทำบริษัทตัวเอง หรือไปเป็นฟรีแลนซ์
- บริษัทใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้
4. ถอนเงินทั้งหมด และชำระภาษี
วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้ายที่แนะนำ เพราะการถอนเงินทั้งหมดออกมาก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่ถึง 5 ปี จะถือว่าผิดเงื่อนไขการได้รับยกเว้นภาษี
ดังนั้นเมื่อเราถอนเงินออกมาก่อนจะมีภาระภาษีตามมาด้วย
โฆษณา