6 ก.ย. เวลา 01:50 • หนังสือ

📚 รีวิวสรุปหนังสือ “Outlive” วิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้เรามีความสุขจากสุขภาพที่แข็งแรงและยืนยาว

Outlive : The Science & Art of Longevity
 
เขียนโดย Dr. Peter Attia กับ Bill Gifford
 
Part 1
 
📌 Outlive เป็นหนังสือเล่มหนาอีกเล่มหนึ่งเลยครับที่ผมอ่านจบสำเร็จ (เย่!) โดยหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มาแรงมาก ๆ ในหมวดของสุขภาพ เมื่อได้อ่านจบผมก็ได้ความรู้ใหม่ ๆ และรู้สึกว่าอยากให้คนที่เรารักและคนใกล้ตัวเราได้อ่านหนังสือเล่มนี้เช่นกัน
ผู้เขียนคือ Dr. Peter Attia ได้ให้แนวคิดที่เขาพยายามผลักดันคือ Medicine 3.0 ที่เน้นในการป้องกันโรคร้ายไม่ให้เกิดขึ้นมากกว่าที่จะมาทำการรักษาหลังจากที่เราเป็นโรคร้ายนั้น ๆ แล้วครับ
“Catching the falling eggs” 🥚🥚🥚
Dr. Peter Attia เริ่มต้นบทนำของหนังสือเล่มนี้โดยการเล่าความฝันของเขาที่เขาพยายามจะเก็บไข่ที่ถูกโยนลงมาจากยอดตึกสูง ไข่ตกลงมาอย่างรวดเร็วและเยอะมาก จนทำอย่างไรเขาก็ไม่สามารถรับไข่ที่ตกลงมาได้ทัน เขาเองก็เกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ ไข่มันตกมาจากไหนกันเยอะแยะ ใครกันที่โยนมันลงมา
เขาบอกว่าความฝันนี้เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยลืมแล้วเก็บมาคิดตลอดจนกระทั่งเขาคิดได้ว่า วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คงไม่ใช่การทำอย่างไรเราถึงจะเก็บไข่ให้ได้เร็วที่สุด แต่เป็นการ “ยับยั้งไม่ให้ไข่ตกลงมา” ไม่ว่าจะเป็นการตามหาคนที่โยนไข่ลงมาจากตึกสูงให้ได้แล้วจัดการเขาซะ
💡 Dr. Attia เปรียบเปรยเรื่องนี้ไว้กับเนื้อหาของหนังสือ “Outlive” เล่มนี้ว่า การที่เราจะมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพที่แข็งแรงนั้น เราจำเป็นต้องเริ่มจาก ”ต้นทาง” การที่มนุษย์พยายามจะใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์รักษาโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วด้วยนั้น ดูเป็นไปได้ยากเพราะเวลาที่เราเจออาการโรคต่าง ๆ นั้น เรามักจะเจอในเวลาที่สายเกินไปแล้ว
“Four Horsemen” 🏇🏇🏇🏇
 
การที่จะมีอายุที่ยืนยาวนั้นเราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเป็นโรคร้าย ซึ่ง Dr. Attia บอกว่ามีอยู่ 4 โรคที่เขาเรียกว่า “Four Horsemen” ได้แก่
 
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
โรคสมองเสื่อม
โรคเบาหวาน
ซึ่งโรคร้ายทั้งสี่โรคนี้ติดอันดับสาเหตุของการเสียชีวิตเบื้องต้นทั่วโลก และโรคทั้งสี่นี้มีลักษณะที่เหมือนกันคือเป็นโรคไม่ติดต่อ และค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และใช้เวลาหลายปีถึงจะแสดงอาการออกมาครับ การที่เราหลีกเลี่ยงการเป็นโรคร้ายทั้งสี่โรคนี้ได้หรืออย่างน้อยก็ยืดระยะเวลาในการเป็นโรคเหล่านี้ให้ช้าลง ก็สามารถเพิ่มโอกาสให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวได้มากแล้วครับ
“Life Span กับ Health Span ต่างกันอย่างไร” 👽
👉🏻 คำว่า Longevity คือ การมีอายุที่ยืนยาว ประกอบไปด้วยสองส่วนครับ คือ Lifespan และ Healthspan
 
หลายคนคงคุ้นเคยดีกับคำว่า Lifespan ก็คือช่วงอายุที่เราจะอยู่ได้ แต่สำหรับคำว่า healthspan มันคือระยะเวลาที่เราสามารถอยู่ได้แบบแข็งแรงปกติโดยไม่เป็นโรคอะไรครับ
 
💡 ถามว่าจริง ๆ แล้วถ้าเราเลือกได้ เราอยากจะมีชีวิตอยู่ยืนยาว แต่เป็นโรคนั้นโรคนี้ อยากมีอายุที่ยืนยาวแต่เป็นผู้ป่วยติดเตียงมั้ยครับ หรือคุณจะอยากมีชีวิตที่และสามารถอยู่ได้อย่างคนปกติโดยไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรงแบบไหนมากกว่ากันครับ?
ดังนั้นผู้เขียนจึงให้ความสำคัญกับคำว่า healthspan คือเราจะทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นโรคร้าย
“Medicine 3.0” 💊💉🏥
แม้ว่าเทคโนโลยีการแพทย์ของเราจะพัฒนาไปมาก แต่วิธีการทางการแพทย์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบันคือ “การรักษา” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในเวลาที่ช้าเกินไป คือหลังจากที่เรามีอาการ หรือเป็นโรคนั้น ๆ แล้ว ซึ่งมันสายเกินไปในหลาย ๆ ครั้ง
การแพทย์ของมนุษย์เรามีพัฒนาการมาดังต่อไปนี้ครับ
1️⃣ Medicine 1.0 คือเริ่มต้นจากชาวกรีกชื่อว่า Hippocrates (ฮิปโปเครติส) ที่ริเริ่มนำการรักษาโรคแบบใช้การวินิจฉัยก่อนทำการรักษาซึ่งเป็นพื้นฐานของการแพทย์ในปัจจุบัน
2️⃣ Medicine 2.0 คือการเริ่มค้นพบเชื้อโรค แบคทีเรีย ทำให้เราสามารถรักษาโรคระบาดร้ายแรงอย่างโปลิโอ ผีดาษ รวมไปถึงสามารถป้องกันเชื้อไวรัส HIV ได้ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สำคัญของมนุษยชาติเลยครับที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ
3️⃣ Medicine 3.0 คือ สิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พยายามจะนำเสนอว่าเราควรให้ความสำคัญ คือการป้องกันโรคมากกว่าการรักษานั่นเองครับ คือ ทำอย่างไรเราถึงจะไม่เป็นโรคต่าง ๆ เหล่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคร้ายแรง 4 อย่างที่กล่าวไปข้างต้น
Medicine 3.0 ยังรวมไปถึงการรักษาในแบบจำเพาะเจาะจงในแต่ละบุคคล ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างจาก Medicine 2.0 ที่รักษาผู้ป่วยลักษณะเดียวกันด้วยวิธีเดียวกันหมด
อีกประเด็นคือ Medicine 3.0 ยังมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องของ Risk หรือ ความเสี่ยง ซึ่งในการแพทย์ปัจจุบันเราพยายามที่จะทำอะไรโดยเน้นให้ไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงกับคนไข้ เราจำเป็นต้องเปรียบเทียบความเสี่ยงของการไม่ทำอะไรเลยไปด้วย ซึ่งอาจมีมากกว่าการรักษาแต่มีผลข้างเคียงต่อคนไข้
สุดท้าย ในขณะที่ Medicine 2.0 นั้นให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วย ยืดอายุหรือ lifespan ให้อยู่ได้นานขึ้น แต่ Medicine 3.0 นั้นจะให้ความสำคัญกับ healthspan หรือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคและเพิ่มคุณภาพในการใช้ชีวิตที่เหลือมากกว่า
“ทำไมเราถึงอยากมีอายุยืนกันเป็นร้อยปีหรือที่เขาใช้คำว่า “Centenarians” กันครับ?” 💯
การที่เราอยากจะมีอายุที่ยืนยาวนั้นก็น่าจะมาจากเรายังอยากทำอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง อยากอยู่กับคนที่เรารักไปนาน ๆ ใช่มั้ยครับ?
 
ซึ่งคำตอบที่เราตอบมานั้นเราจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อเรามี healthspan ที่ดี (แข็งแรง มีแรงทำกิจกรรมได้เท่าตอนหนุ่ม ๆ ไม่เป็นโรคร้าย) และยืนยาวมากกว่าการมีแค่ lifespan ครับ
 
📍 ข้อสรุปที่ Dr. Peter Attia ได้แนะนำจากแนวทางของ Medicine 3.0 ในการยืด healthspan และ Lifespan ก็คือ
 
1. การออกกำลังกายที่เหมาะสมและครบทุกรูปแบบ
2. การควบคุมอาหารหรือโภชนาการที่เหมาะสม
3. การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ
4. การมีสุขภาพจิตที่ดี
 
เห็นมั้ยครับดูง่ายมาก ๆ เลยและผมก็เชื่อว่าทุกคนพอทราบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ในแต่ละข้อนั้นมีรายละเอียดที่ในหนังสือ Outlive ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจครับ เช่น การออกกำลังกาย ต้องออกแบบไหนถึงจะมั่นใจว่าแข็งแรงปลอดโรค? ผมจะทยอยมาสรุปรายละเอียดให้ได้อ่านกันครับ 😃
#BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
 
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook : สิงห์นักอ่าน
โฆษณา