6 ก.ย. เวลา 03:30 • การเมือง

ยุโรปหลังสงครามยูเครน หน้าตาเป็นอย่างไร

สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) ได้เผยแพร่รายงานประจำเดือนกันยายน 2024 โดยมีใจความที่น่าสนใจสรุปได้ว่า “มาร่วมทำข้อตกลงกับรัสเซียดีกว่า” ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากบทความในสื่อตะวันตกโดยทั่วไปที่เน้นวิเคราะห์โจมตีหรือหาทางขัดขวางฝั่งรัสเซีย โดยผู้เขียนบทความรายงานฉบับนี้คือ โทมัส เกรแฮม
“โทมัส เกรแฮม” โปรไฟล์ไม่ธรรมดา เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในโลกตะวันตก เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการศึกษาเกี่ยวกับรัสเซียและยูเรเซียที่มหาวิทยาลัยเยล อดีตผู้อำนวยการอาวุโสด้านรัสเซียที่สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และอดีตหัวหน้าการเจรจาเชิงกลยุทธ์ระหว่างทำเนียบขาวและเครมลิน
โทมัส เกรแฮม เครดิตภาพ: Civilnet
เขาเขียนว่า ดินแดนของยูเครนเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งระหว่างตะวันตกและรัสเซียมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ดังนั้นแม้แต่การแก้ไขความขัดแย้งในปัจจุบันก็ไม่สามารถยุติการเผชิญหน้าระหว่างสองฝั่งอำนาจได้ ไม่มีใครจะโค่นล้มปูตินได้ รัสเซียจะไม่ล่มสลาย เศรษฐกิจของรัสเซียจะไม่ล่มสลายด้วยเช่นกัน
ดังนั้นเราจึงต้องหาทางอยู่ร่วมกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นการที่รัสเซียหันเข้าไปหาทางตะวันออก (จีน) และกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจเด็ดขาดว่าอยู่ฝั่งไหน) ทำให้ยุโรปประสบปัญหาใหญ่หลวง เพราะหากก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของรัสเซียก็จริง แต่มาตอนนี้กลับทำให้รัสเซียสามารถทำสงครามได้โดยไม่ต้องมองย้อนกลับไปที่ผลที่ตามมาทางเศรษฐกิจ (มีพันธมิตรใหม่ที่พัฒนาขึ้นมา)
2
เกรแฮมเชื่อว่า “การปฏิรูปนาโต” เป็นการตัดสินใจที่ต้องทำแต่เนิ่นๆ โดยควรมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหลักที่ 1: สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป กลุ่มที่ 2: ตุรกีและอังกฤษ (ไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป) โดยรวมกันทั้งสองกลุ่มผสานทรัพยากรที่มีเข้าด้วยกัน ลดความซ้ำซ้อน (อเมริกาหัวหลักนาโต แต่ไม่ได้อยู่ในยุโรปติดรัสเซีย)
กรอบความร่วมมือใหญ่นี้จะเป็นผู้รับผิดชอบในการคาดการณ์กองกำลังทหารแบบเดิม ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะยังคงมี “ร่มคุ้มภัยคุกคามนิวเคลียร์” ให้กับทางยุโรป
เครดิตภาพ: Taylor Callery / WSJ
ประเด็นสำคัญตามที่เกรแฮมกล่าวคือ สหภาพยุโรปและนาโตจะขยายตัวต่อไป และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า “จะรวมถึงรัฐในยุโรปเกือบทั้งหมด” โดยเขามั่นใจว่าจะเกิดในอีกสองสามทศวรรษข้างหน้า มีความเป็นไปได้ที่จะ ”สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศในยุโรปและนาโตภายในกรอบของสหภาพยุโรป และความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับรัสเซีย” จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอยู่บนเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1
  • “การรักษาเสถียรภาพในยูเครน” รัสเซียไม่ควรรุกคืบไปข้างหน้าอีก และเศรษฐกิจของยูเครนควรเดินหน้าต่อไป
  • “การรักษาเสถียรภาพของพรมแดนระหว่างรัสเซียและนาโต” การติดอาวุธให้แก่สวีเดนและฟินแลนด์ ตลอดจนการเสริมสร้างอุตสาหกรรมการทหารของสหภาพยุโรป รวมถึงความแน่วแน่ของสหรัฐฯ ที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีตามมาตรา 5 ของนาโต
  • “การเร่งสร้างเสาหลักยุโรปของนาโต” ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ยุโรปจำเป็นต้องสร้างความพยายามร่วมกันทางด้านการทหารระหว่างกองทัพยุโรป บูรณาการร่วมกัน เป้าหมายหลักคือเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการรุกรานของรัสเซีย
  • “การลดศักยภาพของรัสเซียในสงครามพันทาง” จำเป็นต้องพัฒนาระบบป้องกันทางไซเบอร์และปรับปรุงระบบควบคุมข้อมูลข่าวสาร (โฆษณาชวนเชื่อต่างๆ)
2
เครดิตภาพ: 1lurer.am
ประเด็นรองที่ผู้เขียนรายงานฉบับนี้พูดถึงคือ “ลดการสนับสนุนสงครามในหมู่คนรัสเซีย” ไม่ใช่เฉพาะสงครามที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่พูดถึงการลดความเต็มใจของคนรัสเซียที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ สำหรับในยูเครน (บริบทของเรื่องหลังจากสงคราม) เกรแฮมเชื่อว่า “ไม่จำเป็นต้องยอมรับยูเครนเข้ามาในนาโต” การรับประกันความปลอดภัยให้ก็เพียงพอแล้ว แต่จำเป็นต้องยอมรับยูเครนเข้ามาในสหภาพยุโรป
ในที่สุดการเจรจาด้านความมั่นคงในยุโรปควรดำเนินการโดยสองอำนาจใหญ่ “สหรัฐอเมริกา” และ “รัสเซีย” เพื่อเปลี่ยนสมการความมั่นคงในยุโรป และสมาชิกประเทศในยุโรปเพียงแค่เข้าร่วมในการเจรจา (ในลักษณะผู้สังเกตการณ์)
เกรแฮมเสนอให้บรรลุข้อตกลงสำหรับดินแดนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในภายหลัง (หมายถึงภูมิภาคที่ถูกรัสเซียผนวกในสงครามยูเครนตอนนี้หรือมากกว่านี้ในอนาคต) ผ่านการลงประชามติ (ที่ได้รับการยอมรับจากตะวันตก) เกี่ยวกับการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ซึ่งอาจกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับข้อพิพาทเรื่องดินแดนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอื่นๆ รวมถึงในคอเคซัสใต้ (จอร์เจีย, อาร์เมเนีย, อาเซอร์ไบจาน)
เป้าหมายของรายงานฉบับนี้คือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าให้กลับสู่ภาวะปกติระหว่างรัสเซียและตะวันตก ไม่เพียงเพื่อประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียและจีนอ่อนแอลงด้วย ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง สรุปแบบภาษาชาวบ้านคือ “รัสเซีย! คุณสามารถยึดสิ่งที่คุณยึดไว้ตอนนี้ไป แบ่งทรัพยากรแก่เราเหมือนที่เคยเป็น ส่วนฝั่งเราขอใช้เวลาฟื้นฟู เมื่อถึงเวลาพร้อมเมื่อไหร่ เราจะกลับมาหาคุณอีก”
บทความรายงานต้นเรื่องอ้างอิงได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
เรียบเรียงโดย Right Style
6th Sep 2024
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Chloe Cushman / The Economist>
โฆษณา