6 ก.ย. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ครม. เอาจริง ! เปิด 5 มาตรการสกัดสินค้าจากต่างประเทศ ต้องมีสำนักงานในไทย

ครม. เอาจริง ! เปิด 5 มาตรการปราบธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ย้ำ แอปฯขายของออนไลน์ ต้องมีสำนักงานในไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 5 มาตรการหลัก และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ โดย 5 มาตรการหลัก ประกอบด้วย
1. ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบ/กฎหมายอย่างเข้นข้น เช่น บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load)
5 มาตรการสกัดสินค้าจากต่างประเทศผิดกฎหมาย
เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือการได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สินค้าตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายออนไลน์ โดยจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ รวมถึงการตรวจสอบผู้ประกอบการ/ผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี
2. ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต เช่น กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดแจ้งและจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ
ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย
โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด “ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย” พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด
3. มาตรการด้านภาษี เช่น ภาษีศุลกากร ภาษีรายได้นิติบุคคลภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Ant-dumping: AD) ภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) เป็นต้น
และปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศและแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
ในขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการ AD AC และ SG
4. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งภาคธุรกิจเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าไทยและการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการผลิต และขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน E-Commerce
5. สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่าน E-Commerce ต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับ E-Commerce ในระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 มาตรการจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ปราบปราม และกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายของผู้ประกอบการต่างประเทศในไทย ส่งผลดีต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจและแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนความปลอดภัยของผู้บริโภคไทยในประเทศที่ได้รับบริการและสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/232012
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา