6 ก.ย. 2024 เวลา 06:58 • กีฬา

อินโดนีเซีย กับกลยุทธ์โอนสัญชาติ เพื่อไปบอลโลก

อินโดนีเซียสร้างปรากฏการณ์ บุกไปเสมอซาอุดิอาระเบีย ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2026 โซนเอเชียนัดแรก เก็บ 1 แต้มที่ล้ำค่ามากๆ ออกมาจากเจดดาห์ได้สำเร็จ
1
ตั้งแต่อดีต เวลาทีมอาเซียนไปเยือนซาอุดิอาระเบียในเกมทางการ ผลลัพธ์คือ แพ้ทุกนัดแบบ 100%
อย่างไทยเรา เคยเกือบทำได้ ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2018 ยุคเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง คือจะยันจบ 0-0 ได้อยู่แล้ว แต่มาโดนจุดโทษปริศนาท้ายเกม จึงแพ้ไป 1-0
เวลาผ่านมา จนถึงวันนี้ อินโดนีเซียทำได้ พวกเขาปลดล็อกให้อาเซียน ได้รู้จักคำว่าไม่แพ้ ที่บ้านของซาอุฯ บ้าง
ถ้าคิดในแง่บวก ก็น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้ทั้งอาเซียนได้เห็นว่า อินโดนีเซียเขาเดินไปข้างหน้าแล้วนะ เราเองก็ต้องขยับตามให้เร็วที่สุด ถ้าไม่อยากโดนทิ้งห่างไปเรื่อยๆ
2
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมอินโดนีเซีย ถึงเก่งขึ้นแบบผิดหูผิดตาขนาดนี้
เมื่อ 4 ปีก่อน ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกปี 2022 อินโดนีเซียเป็นทีมแจกแต้มของจริง พวกเขาอยู่กลุ่มเดียวกับ ยูเออี, เวียดนาม, มาเลเซีย และ ไทย ก่อนจะตกรอบแรก แบบเป็นบ๊วย
ชนะ 0 เสมอ 1 แพ้ 7 โดนยิงกระจายไป 22 ลูก (แต่นัดเดียวที่เสมอ คือเสมอไทยเรานี่แหละ)
ณ เวลานั้น อินโดนีเซีย ไม่มีทรงใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีทิศทาง เป็นหมูสนามให้คู่แข่งถลุง
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุด เกิดขึ้นในปี 2023 เมื่ออินโดนีเซียเปลี่ยนนายกสมาคม จากเดิมที่เป็นนายตำรวจใหญ่ ชื่อ โมฮาเหม็ด อีเรียวาน กลายมาเป็นเอริค ทอเฮียร์ นักธุรกิจวัย 53 ปี ที่เคยเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลดังอย่างอินเตอร์ มิลาน
เอริค ทอเฮียร์ เข้ามาพร้อมแนวคิดแบบใหม่ นั่นคือ จะสร้างทีมชาติให้แข็งแกร่งที่สุดในเส้นทางลัด โดยไม่สนใจว่า จะโดนใครว่าใครแซะอย่างไร
ในประวัติศาสตร์ของของอินโดนีเซีย พวกเขาเป็นเมืองขึ้นของประเทศเนเธอร์แลนด์ มา 150 ปี โดยใช้ชื่อประเทศยุคนั้นว่า "ดัตช์ อีสต์ อินดีส์" ก่อนจะได้รับเอกราช หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945
ด้วยความที่ 2 ประเทศนี้ มีความสัมพันธ์กันมานาน ทำให้มีการโยกย้ายของประชากรระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา มีคนอินโดนีเซียไปตั้งรกรากที่เนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่อดีตกาลแล้ว
กลุ่มคนอินโดฯ ที่ย้ายไปอยู่ถาวร สร้างครอบครัวขึ้นมา และถือสัญชาติเนเธอร์แลนด์ คนกลุ่มนี้จะเรียกว่าพวก อินโด-ดัตช์
สถิติระบุว่า ณ เวลานี้ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีประชากรทั้งหมด 18 ล้านคน ประมาณ 10% หรือ 1.8 ล้านคน เป็นคนเชื้อสายอินโด-ดัตช์
ขณะที่เรื่องความผูกพันใดๆ เด็กอินโด-ดัตช์รุ่นใหม่ๆ ที่เกิดในเนเธอร์แลนด์ ส่วนใหญ่ จะรู้ว่าแบ็กกราวน์ตัวเองมีเชื้อสายอยู่ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนอินโดนีเซีย แต่เป็นคนดัตช์เต็มตัว
2
ความน่าสนใจคือ ในจำนวนอินโด-ดัตช์ 1.8 ล้านคนที่ว่านั้น มีไม่น้อยที่ หันไปเล่นฟุตบอลอย่างจริงจัง เพื่อความฝันจะเป็นนักเตะอาชีพ
หลายๆ คน ก้าวไปเล่นในระดับลีกดัตช์ได้สำเร็จ และคนที่เก่งมากเป็นพิเศษ ก็จะถูกเรียกตัวติดทีมชาติเนเธอร์แลนด์ด้วย เช่น โจวานนี่ ฟาน บรองค์ฮอร์สต์, จอห์นนี่ ไฮติงก้า หรือ รอย มาคาย เป็นต้น
ไอเดียของเอริค ทอเฮียร์ นายกสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียก็คือ จะทำการทาบทามนักเตะเชื้อสาย อินโด-ดัตช์ ทั้งหมด ที่ไม่ถูกเรียกติดทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ว่าสนใจจะมาเล่นให้อินโดนีเซียหรือไม่
ก็ใช่ คุณอาจไม่ดีพอ ที่จะเล่นให้เนเธอร์แลนด์ ที่มีแต่นักเตะระดับโลก อย่างเวอร์จิล ฟาน ไดค์ หรือ เฟรงกี้ เดอ ยอง แต่ฝีเท้าของคุณดีเกินพอ ถ้าจะเล่นในระดับเอเชีย
เอริค ทอเฮียร์ มองว่า ถ้าไปมัว งมหานักเตะในลีกอินโดฯ คงต้องใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะสู้กับชาติใหญ่ๆ ในเอเชียได้
ในวันนี้ฟุตบอลโลกกำลังแข่งกันอยู่ ตอนนี้เลย ทำไมพวกเขาไม่ใช้ทางลัด นั่นคือโอนสัญชาตินักเตะอินโด-ดัตช์ ที่เกิดในเนเธอร์แลนด์ มาเล่นแทน นักเตะท้องถิ่นที่เกิดในอินโดนีเซีย
2
การโอนสัญชาตินั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่แฟนบอลไม่ค่อยยอมรับ
ตัวอย่างเช่น สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ เคยคิดจะโอนสัญชาติ เอนินโญ่ นักเตะบราซิลในปี 2012 แต่โดนแฟนบอลด่าเละ ว่าประเทศสิ้นไร้ไม้ตอกแล้วหรือ ถึงต้องไปเอาคนชาติอื่นมาเล่นแทน สุดท้ายแผนก็เลยล่มกันไป
แต่กับเคสของอินโดนีเซียครั้งนี้ แฟนบอล "พอจะยอมรับได้"
1
สาเหตุเพราะนักเตะที่สมาคมติดต่อไป ล้วนมีเลือดเนื้อของอินโดนีเซียไหลเวียนในตัว แม้จะเกิดและเติบโตในยุโรปก็ตาม มันก็เลยพอจะถูไถกันไปได้บ้าง
ที่อินโดนีเซียทำ ไม่เหมือนสิงคโปร์ ที่โอนสัญชาติ อเล็กซานเดอร์ ดูริช จากเซอร์เบีย และไม่เหมือนจีน ที่โอนสัญชาติ เอลเคซอน จากบราซิล ในสองกรณีนี้ ทั้งคู่ไม่มีเลือดเนื้อเกี่ยวพันใดๆ เลยกับประเทศที่โอนมา
ไซม่อน แม็คเมเนมี่ อดีตเฮดโค้ชทีมชาติอินโดนีเซีย อธิบายว่า "ผู้เล่นจากต่างแดน จะยกระดับคุณภาพของทีมทันที ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ลีกในประเทศยังไม่สามารถผลิตนักเตะที่เก่งพอจะสู้กับทีมใหญ่ในเอเชียได้ ดังนั้นสมาคมจึงไปควานหานักเตะที่ดีกว่าจากลีกอื่นแทน"
วิธีการของอินโดนีเซีย คือใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ที่ตัวเองเคยเป็นเมืองขึ้น ในเมื่อมีคนเชื้อสายของเรา ไปอยู่ที่ประเทศเจ้าอาณานิคมซะเยอะขนาดนั้น เราก็ควรเอาสิ่งนี้ มาสร้างทีมชาติให้แกร่งกว่าเดิม
นี่เป็นวิธีการที่ประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นชาติยุโรป เราไม่มีคนอพยพไปอยู่ ชาติไหน เป็นแสนเป็นล้าน แบบอินโด-ดัตช์ ขนาดนั้น
สรุปคือ สิ่งที่อินโดนีเซียทำ ไม่ใช่ไล่ตามหาลูกครึ่งเก่งๆ แบบไทย (นิโคลัส มิคเคลสัน, โจนาธาร เข็มดี) และไม่ใช่ตามหาตัวเก่งๆ มาโอนสัญชาติ แบบจีน
แต่เป็นวิธีการเฉพาะตัว ที่มีแต่ชาติตัวเองเท่านั้นที่ทำได้ นั่นคือ "โอนสัญชาติ ให้นักเตะที่มีเชื้อสายอินโด-ดัตช์"
อินโดนีเซีย ไม่ต้องทำอะไรเลย พวกเขาให้ระบบเยาวชนของเนเธอร์แลนด์ปั้นเด็กขึ้นมา จากนั้นก็ค่อยๆ เก็บตกเอาคนที่เก่งรองๆ ลงไป ที่ไม่ใช่ตัวท็อปคลาสของรุ่น เจรจาให้มาเล่นกับอินโดนีเซียแทน
ในมุมของนักเตะเกรดรองๆ เหล่านี้ พวกเขาใฝ่ฝันจะติดทีมชาติอยู่แล้ว ใครๆ ก็อยากเล่นฟุตบอลโลก แต่จะให้ติดทีมชาติเนเธอร์แลนด์ก็คงไม่ไหว ดังนั้นเมื่อมีข้อเสนอจากสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ก็ตอบรับทันทีแบบไม่คิดมาก ได้ทั้งชื่อเสียงมากขึ้น ได้สร้างฐานแฟนใหม่ๆ ที่อินโดนีเซีย แถมถ้าชนะก็ได้เงินรางวัลพิเศษอีก ไม่มีอะไรที่ นักเตะอินโด-ดัตช์ จะรู้สึกเสียเปรียบเลย
ราฟาเอล สตรูอิค กองหน้าจากสโมสรเดน ฮาก ตอนแรกมีคนฟอลโลว์ในอินสตาแกรม หลักพัน แต่พอเลือกโอนสัญชาติมาเล่นให้อินโดฯ ปั๊บ ปัจจุบันมีคนตาม 4 ล้านฟอลโลเวอร์
ยอดคนตามเพิ่มขนาดนี้ เขาก็ต่อยอด ไปรับงานโฆษณาได้อีกมากมาย นี่เป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัด จากการเปลี่ยนมาเล่นให้อินโดนีเซีย
1
ถามว่า กลยุทธ์ของอินโดนีเซียหมากนี้ มีความยั่งยืนแค่ไหน? คำตอบคือ น่าจะใช้วิธีนี้ได้อีกนาน เพราะระบบฟุตบอลของเนเธอร์แลนด์ ก็สร้างคนขึ้นมาได้ตลอด
สิ่งที่อินโดนีเซียทำก็แค่ช็อปปิ้ง ดูว่าคนไหนเก่ง แล้วเจรจาให้มาเล่นกับอินโดนีเซียให้ได้ แค่นั้น
จุดอ่อนของการโอนผู้เล่นอินโด-ดัตช์ ก็มีบ้าง นั่นคือ ฟุตบอลท้องถิ่นจะลดความนิยมลงไป รวมถึงอาจละเลยการพัฒนาเยาวชนในประเทศ
งบประมาณของสมาคมมีจำกัด การไปดีลกับนักเตะอินโด-ดัตช์ ไม่ได้ทำฟรีๆ แต่มีค่าใช้จ่ายมากมาย แปลว่า เมื่อมีงบน้อยลง คุณอาจไม่พัฒนาโครงสร้างเยาวชนในประเทศอย่างที่ควรจะทำ
นอกจากนั้น คือเรื่องความภาคภูมิใจในท้องถิ่น คือบรรยากาศในแคมป์มันก็คงแปลกๆ ที่มีแต่ภาษาดัตช์เต็มไปหมด แถมเราไม่รู้ว่าในแคมป์จะแบ่งแยกกันไหม กลุ่มคนเกิดที่เนเธอร์แลนด์ กับ กลุ่มคนที่เกิดในอินโดนีเซีย คือมันจะสื่อสารกันทั่วถึงได้ยังไง
2
พร้อมกับคำถามว่า อินโดนีเซียมีประชากรเกือบ 300 ล้านคน คุณปั้นนักเตะคุณภาพขึ้นมาไม่ได้เลยหรือ จึงต้องไปพึ่งพากลุ่มอินโด-ดัตช์ ที่มีแค่ 1.8 ล้านคน
แต่เอาล่ะ สำหรับแฟนบอลอินโดนีเซียตอนนี้ เรื่องอนาคตไว้ว่ากันทีหลัง ตอนนี้พวกเขาร้างความสำเร็จมานานเกินไปแล้ว ขอชนะบ้าง อะไรบ้างได้ไหม
ฟุตบอลโลก 2026 ชาติเอเชียจะได้โควต้า 8.5 ทีม อินโดนีเซียอยากไปฟุตบอลโลกให้ได้ในรอบนี้เลย ดังนั้นการโอนสัญชาติจึงจัดเต็มทุกกระเบียดนิ้ว
11 ตัวจริง ในระบบ 5-4-1 ของอินโดนีเซีย เกมพบซาอุดิอาระเบีย มีถิ่นกำเนิดดังนี้
GK : มาร์เท่น เพส (เกิดที่เนเธอร์แลนด์)
DF : เจย์ อิดเซส (เกิดที่เนเธอร์แลนด์)
DF : คาลวิน เวอร์ดองก์ (เกิดที่เนเธอร์แลนด์)
DF : ริซกี้ ริดโฮ (เกิดที่อินโดนีเซีย)
DF : นาธาน โจ-เอ-ออน (เกิดที่เนเธอร์แลนด์)
DF : แซนดี้ วอลช์ (เกิดที่เบลเยี่ยม)
2
MF : ทอม เฮย์ (เกิดที่เนเธอร์แลนด์)
MF : อิวาร์ เจนเนอร์ (เกิดที่เนเธอร์แลนด์)
MF : รักนาร์ โอรัทมันโกน (เกิดที่เนเธอร์แลนด์)
MF : วิทาน สุเลมาน (เกิดที่อินโดนีเซีย)
FW : ราฟาเอล สตรูอิค (เกิดที่เนเธอร์แลนด์)
11 ตัวจริงของอินโดนีเซีย เกิดที่เนเธอร์แลนด์ 8 คน, อินโดนีเซีย 2 คน และ เบลเยี่ยม 1 คน
ถ้าเจาะลึกลงไปอีกนิด ว่า 11 ตัวจริงชุดนี้ เล่นอยู่ในลีกประเทศอะไรบ้าง คำตอบคือ
ลีกดัตช์ 3 คน, ลีกอินโดนีเซีย 2 คน, ลีกเบลเยี่ยม 2 คน, ลีกสหรัฐฯ 1 คน, ลีกอังกฤษ 1 คน, ลีกอิตาลี 1 คน, ไร้สังกัด 1 คน
คิดดูว่า ประเทศไทยเรา มีตัวที่เล่นลีกต่างชาติแค่ 2-3 คน อย่าง มิคเคลสัน, สุภโชค สารชาติ และ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา เราก็เลเวลอัพได้เยอะแล้ว แต่อินโดนีเซีย มีคนเล่นลีกต่างแดน 8-9 คน มันก็ต้องแกร่งขึ้นเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
1
ดังนั้น ทีมที่ซาอุดิอาระเบียเจอเมื่อคืนนี้ ในเปลือกนอกคืออินโดนีเซีย แต่ภายใน ไม่ต่างอะไรกับทีมเนเธอร์แลนด์ เกรด B
2
ถ้าซาอุฯ คิดว่าแมตช์นี้คือการดวลกับทีมจากอาเซียนล่ะก็ พวกเขาประเมินผิดแล้ว เพราะนี่คือกลุ่มนักเตะที่มีมาตรฐานการฝึกฝน มาจากเลเวลยุโรป
บทสรุปของเกมนี้ จึงจบลงด้วยสกอร์ 1-1 อินโดนีเซีย เก็บแต้มแรกอันล้ำค่าในฟุตบอลโลกได้สำเร็จ
คือสังคมจะพอใจในวิธีการหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ มันโอเค ทีมชุดนี้ทำให้อินโดนีเซียมีลุ้นต่อยาวๆ ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ไม่ใช่โดนถล่มเละ 7 ลูกแบบจีน ตั้งแต่เกมแรก
ส่วนเรื่องความนิยมในฟุตบอลลีกท้องถิ่น หรืออะไร ค่อยมาว่ากันทีหลัง ตอนนี้เอาทีมชาติชุดใหญ่เป็นหลักไว้ก่อน
บทสรุปจากเรื่องอินโดนีเซีย เราจะเห็นว่า แต่ละชาติ ก็จะค้นหาวิธีการใหม่ๆ ทำอย่างไรก็ได้ ในกรอบที่ฟีฟ่าอนุญาต ที่ทำให้ชาติตัวเองเก่งขึ้นกว่าเดิม
คุณจะชอบหรือไม่ อันนั้นก็ถกเถียงกันได้ แต่นาทีนี้ อินโดนีเซีย คือชาติเดียวของอาเซียนที่เหลืออยู่ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย
และถ้าพวกเขาไปถึงเป้าหมาย นั่นคือฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายล่ะก็ อินโดนีเซียคือเบอร์หนึ่งของอาเซียนทันที โดยไม่จำเป็นต้องได้แชมป์ AFF แม้แต่หนเดียวเลยด้วยซ้ำ
4
โฆษณา