7 ก.ย. เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตลาดทุนกับการลดก๊าซเรือนกระจก

โดย นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
เป็นที่ทราบกันดีว่าคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เป็นกลไกลหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก ในประเทศไทยทุกท่านน่าจะได้เริ่มเห็นการระดมทุนที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลากหลายรูปแบบ เช่น การออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bonds) การลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เป็นต้น
ตลาดทุนจึงมีส่วนร่วมในการเป็นกลไกสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) สอดรับกับแนวนโยบายของภาครัฐที่เดินหน้าเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากเกณฑ์ต่าง ๆ ในฝั่งหลักทรัพย์ที่ ก.ล.ต. ได้ออกบังคับใช้ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนและการระดมทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน เช่น เกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond)
ก.ล.ต. ยังได้ขับเคลื่อนผ่านกลไกในฝั่งสินทรัพย์ดิจิทัลโดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่คำนึงถึงความยั่งยืนในทำนองเดียวกับฝั่งตราสารหนี้
นอกจากนี้ ล่าสุดได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาคสมัครใจผ่านการออกโทเคนดิจิทัล ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และการปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567
กรณีเป็น utility token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออุปโภคบริโภค หรือเป็นการรับรอง (certificate) หรือแทนเอกสารสิทธิใด ๆ จะได้รับยกเว้นการขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล และการให้บริการ utility token ประเภทดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ รวมถึง tokenized carbon credit ด้วย เป็นต้น
การแปลงคาร์บอนเครดิตเป็นโทเคน (tokenization) เป็นการนำคาร์บอนเครดิตของผู้ที่มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานนำคาร์บอนเครดิตดังกล่าวมาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัล โดยให้สิทธิกับผู้ถือโทเคนในการแลกคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และสภาพคล่องในการซื้อ-ขาย/เปลี่ยนมือคาร์บอนเครดิตในตลาดที่มีการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน
ก.ล.ต. ยังสนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนสามารถรองรับและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวคิดในการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Investment Trust) เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมภาคป่าไม้หรือการเกษตร ซึ่งได้ผ่านมติเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
อันเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ของประเทศไทย หลังจากนี้ ก.ล.ต. จะดำเนินการยกร่างประกาศและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณะต่อไป
ทุกท่านคงมองเห็นเป็นภาพเดียวกันว่า บริบทของความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีผลกระทบต่อภาคการเงินการลงทุนได้ในหลายแง่มุม ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน จึงมุ่งพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นหนึ่งในเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายอย่างรอบด้านจากทั้งสถานการณ์ปัจจุบันและการพัฒนาเครื่องมือการลงทุนให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โฆษณา