6 ก.ย. เวลา 11:27 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

รีวิว Strange Darling - ความระทึกแบบ Non Stop จากลูกเล่นของบทภาพยนตร์ที่มอบความบันเทิงได้เต็มหลอด

สิ่งที่ทำให้ Strange Darling แตกต่างจากภาพยนตร์ไล่ล่าระทึกขวัญที่มีอยู่อย่างดาษดื่น คือ การใช้วิธีเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเหตุการณ์ ซึ่งแม้มันจะไม่ใช่วิธีที่ใหม่อะไรเลย แต่ด้วยบทภาพยนตร์สุดบรรเจิดของผู้กำกับเจที โมลเนอร์ (JT Mollner) จึงเปลี่ยนเรื่องราวการไล่ล่าธรรมดาๆ ให้กลายเป็นเรื่องราวสุดระทึกและคาดเดาไม่ได้ตลอดทั้งเรื่อง
Strange Darling
พูดได้เต็มปากว่า Strange Darling คือ ตัวอย่างของภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องได้สนุกและบันเทิงแบบสาแก่ใจสุดๆ นอกจากเทคนิคการสลับเหตุการณ์ที่ใช้ ตัวเรื่องยังสามารถสร้างลูกล่อลูกชนให้กับคนดูได้แบบชนิดที่ว่าแค่คุยกันเฉยๆ ในรถหรือในโรงแรม ยังลุ้นเลยว่าพวกพี่จะแทงกันรึเปล่า (หมายถึงแทงจริงๆ อะนะ) กราฟความระทึกมันทำงานอยู่ตลอดทั้งเรื่อง แทบไม่มีจังหวะให้ได้พักหายใจหายคอกันเลยทีเดียว
Strange Darling
อย่ารู้อะไรก่อนไปดูหนังเรื่องนี้
เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงแต่อย่างใด ความสนุกที่เกิดขึ้นเป็นเพราะภาพยนตร์(บท) เรื่องนี้ มันถูกสร้างขึ้นให้ท้าทาย “ความคาดหวัง” ของผู้ชมอยู่ตลอดเวลา ข้อมูลที่หนังเล่ามาล้วนแต่มีจุดพลิกผันได้เสมอ ในภาพใหญ่ก็คือ เมื่อผ่านครึ่งเรื่องไปแล้วสิ่งที่หนังเล่ามาก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย จะถือว่านี่เป็นจุดหักมุมของเรื่องก็ได้ แต่ภาพเล็กระหว่างทางก็สำคัญไม่แพ้กัน ในระหว่างฉากไม่ว่าจะเป็นฉากพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ มันก็ยังเกิดลูกล่อลูกชนได้ตลอด เหมือนที่บอกไปว่า
“แค่นั่งคุยกันเฉยๆ ก็ยังระทึกได้”
Strange Darling
อีกเทคนิคหนึ่งที่ผู้กำกับเจที โมลเนอร์ นำมาใช้ในการเล่าเรื่อง เรียกว่า ปืนของเชคอฟ (Chekhov's gun) อธิบายง่ายๆ คือ อะไรที่ปรากฏในเรื่องมันจะต้องถูกใช้ ถ้ามีปืนในฉากแรก มันก็จะต้องถูกยิงในฉากหลัง ถ้าไม่ได้ยิงก็ไม่ควรจะใส่เข้ามา ซึ่งมันอนุมานได้ถึงสิ่งของอื่นๆ หรือการกระทำของตัวละครด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหักมุมของ Strange Darling มันถูกเอากลับมาตลบหลังผู้ชมอีกครั้งในครึ่งหลัง ในแบบที่ทุกอย่างสอดคล้องกันอย่างน่าเหลือเชื่อ มันจึงเป็นจุดที่บทภาพยนตร์เรื่องนี้ควรได้รับคำชื่นชมจริงๆ
Strange Darling
ตัวเอกทั้งสองที่ไม่มีชื่ออย่าง The Lady (Willa Fitzgerald) และ The Demon (Kyle Gallner) สามารถกุมภาพรวมของเรื่องได้อยู่หมัด พร้อมด้วยตัวละครสมทบอีกนิดหน่อย นั่นหมายความว่าหากพลังทางการแสดงของทั้งคู่ไม่จัดจ้านจริงๆ ก็คงพาให้หนังล่มเอาได้ง่ายๆ แต่ด้วยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น การแสดงของวิลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ ในบทสาวผมแดง วีรกรรมของเธอจะติดอยู่ในใจของเราไปอีกนาน รวมทั้งหนุ่มหนวดงามอย่าง ไคลี่ กอลเนอร์ ที่เป็นคู่ขาที่ดีให้กับความวายป่วงของนางก็น่าปรับมือให้เช่นกัน
Strange Darling
นอกจากนั้น ตัวหนังยังแอบแซะเรื่องเพศอีกนิดหน่อยพอแสบๆ คันๆ (การแสดงพลังของเพศหญิงที่ต่อต้านเพศชาย ซึ่งภายหลังกลายเป็นความโง่เขลา) สอดรับไปกับงานภาพสีสันจัดจ้านในโทนของภาพยนตร์สยองขวัญในยุค 70 และ 80 อีกทั้งงานภาพจากการถ่ายทำด้วยกล้อง 35 mm ก็ทำให้ฉากการใช้ยาเสพติด ฉากบนเตียง และความรุนแรงต่างๆ กลายเป็นงานศิลปะที่น่าดึงดูดไม่แพ้การเล่าเรื่องเลย
Strange Darling
โฆษณา