7 ก.ย. เวลา 08:42 • ข่าว

กิตตินันท์ ธรมธัช ผู้อยู่เคียงข้างศักดิ์ศรี

ทุกเพศสภาพคือเพื่อนมนุษย์ต้องได้รับความเป็นธรรม
เรื่องเล่าของ ‘กิตตินันท์ ธรมธัช’ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กับการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมของมนุษย์ แม้โลกจะยอมรับความหลากหลาย แต่ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังมีอยู่มาก
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน ประเทศไทยยังไม่ได้เปิดกว้างสำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือชายรักชาย เท่าไหร่นัก หลายคนยังมีทัศนคติต่อคนกลุ่มนี้ว่า เป็นกลุ่มคนเบี่ยงเบนทางเพศบ้าง วิปิริตทางเพศบ้าง เคราะห์ร้ายซ้ำเมื่อโลกพบผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเอชไอวีรายแรกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2524 และพบรายแรกในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2527 จึงทำให้เกิดการต่อต้าน และการที่คนจะเปิดใจยอมรับ เป็นเรื่องยากมาก ๆ ในสมัยนั้น
เพศสภาพไม่ใช่โรคจิต
เรื่องเล่าจาก กิตตินันท์ ธรมธัช หรือ แดนนี่ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ที่เขาพยายามต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ในเมืองไทย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ได้เป็นแกนนำในการเปลี่ยนคำว่า ‘โรคจิตถาวร’ ในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ (สด.43) ให้เป็นคำว่า ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ เพื่อยุติการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนข้ามเพศ
และในปี พ.ศ. 2558 ได้เป็นส่วนหนึ่งผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 รวมทั้งเป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีต่างๆ ของกลุ่ม LGBTQ และยังได้เป็นส่วนหนึ่งเข้าไปยกเครื่องหลักสูตรการศึกษาไทยในวิชาสุขศึกษา ของนักเรียนมัธยมต้น หัวข้อเรื่องการเบี่ยงเบนทางเพศ ที่มีเนื้อหาสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งก็พยายามที่จะเข้าไปแก้ไขว่าโลกสากลยอมรับแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และยังเสริมเรื่องสุขภาวะอื่น ๆ การป้องกันจากเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ในหลักสูตรการศึกษาไทย
-จากนักธุรกิจ ผันต่อมาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
กิตตินันท์ เล่าว่า ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มตัว เดิมทำธุรกิจเกี่ยวกับบ้านจัดสรร และเคยทำธุรกิจบันเทิงหลายอย่าง เป็นแนวสปา ผับ ซาวน่า ฯลฯ แต่พอทำธุรกิจไปซักพัก ก็โดนดูถูก คนไม่ยอมรับ เพราะสมัยนั้นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ชายรักชาย LGBTQ ต่าง ๆ ยังเป็นเรื่องใหม่ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นกลุ่มคนเบี่ยงเบนทางเพศ วิปริต ไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้การทำธุรกิจของตนไม่ราบรื่น จนต้องมีการขึ้นโรงขึ้นศาลบ่อยครั้ง
จนที่สุดด้วยความที่มีความรู้เรื่องกฏหมาย เพราะเรียนจบด้านนี้มาก็เลยอยากจะต่อสู้เรื่องสิทธิให้เป็นที่รับรู้ในสังคมว่า LGBTQ ไม่ได้ผิดปกติทางจิต เพราะถ้ามาดูตอนนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองแล้วว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่คนวิปริต และได้ประกาศถอนภาวะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมในบัญชีจำแนกโรคสากล ฉบับที่ 10 (ICD-10) และบรรจุใหม่ใน ICD-11 ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศแทน
จึงถือว่าไม่ใช่คนเบี่ยงเบนทางเพศ แต่เป็นภาวะของมนุษย์คนนึงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อีกทั้งสมาคมจิตเวชศาสตร์อเมริกา สมาคมจิตวิทยาอเมริกา ก็บอกว่า การมีรสนิยมรักเพศเดียวกันไม่ได้เป็นความผิดปกติใด ๆ
ไม่เพียงเท่านั้นกฏหมายเรื่องสิทธิมนุษยชนก็มีมาหลายปีแล้วเรื่องของปฎิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ที่พยายามบอกมนุษย์โลกว่า ต้องเคารพศักดิ์ศรีกันและกัน และไม่เลือกปฏิบัติต่อความหลากหลายต่างๆ ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ ความคิดเห็นทางการเมือง หลักการทางศาสนา สภาพเศรษฐกิจ สภาพทางร่างกายต่าง ๆ นี่จึงเป็นที่มาว่าควรจะลุกขึ้นมาทำการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมต่าง ๆ
-สมาคมฟ้าสีรุ้ง 26 ปี พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิทธิมนุษยชน
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ก่อตั้งมากว่า 26 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 โดยคำว่า ‘ฟ้าสีรุ้ง’ หมายถึง ฟ้าที่มีสายรุ้งพาดหลังพายุฝนผ่านไป เสมือนสังคมที่ผ่านช่วงเลวร้ายเป็นสังคมที่ผ่านการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ แล้ว ซึ่งค่อย ๆ เติบโต จากชมรม มาเป็นองค์กร กระทั่งเป็นสมาคมฯ ในที่สุด
ภารกิจหลักคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนหลากหลากทางเพศในทุกเพศสภาพ ดูแลเรื่องเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ ประเด็นเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การอนามัย การเจริญพันธ์ โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันดูแลเรื่องสิทธิมุษยชนด้วย เพราะมั่นใจว่าระบบสุขภาพ กับระบบสิทธิมนุษยชนต้องเป็นของคู่กัน
“ตนเองได้เข้ามาทำงานที่สมาคมฯ มองว่าเรื่องคุณภาพชีวิตและสิทธิมนุษยชนต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เชื่อว่าถ้าเราทำให้สิทธิของมนุษย์ เท่ากันได้ ก็จะเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก แต่ตอนนี้ยังไม่มี เพราะสิทธิบางครั้งที่อออกมาก็เป็นริดรอนสิทธิบางอย่าง เช่น กฏหมายชายหญิง ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศหญิง เพศชายอยู่”
ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ทั้งหมดได้ที่ลิงก์
#ความเท่าเทียมทางเพศ
#LGBTQ
#ชายรักชาย
#สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
#ความหลากหลายทางเพศ
#คุณภาพชีวิต
#การพัฒนาที่ยั่งยืน
#SDGs
#ESGuniverse
โฆษณา