7 ก.ย. เวลา 12:00 • การศึกษา

ครอบครัวจีนแห่ย้ายมาไทย หนีการแข่งขันในรั้วโรงเรียนแดนมังกร

ครอบครัวชาวจีนเลือกย้ายมาอยู่ประเทศไทยเพื่อหลีกหนีจากระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันสูงในแดนมังกร
สำนักข่าวเอพี พูดคุยกับครอบครัวชาวจีนที่ย้ายจากบ้านเกิดมาพำนักที่ประเทศไทยด้วยเหตุผลด้านการศึกษาของบุตรหลาน โดยดี เจ หวัง ซึ่งทำอาชีพด้านการท่องเที่ยวที่เชียงใหม่ ตัดสินใจพาครอบครัวมาอาศัยที่ภาคเหนือของไทย เมื่อเห็นว่า วิลเลียม ลูกชาย วัย 8 ขวบต้องร่ำเรียนอย่างหนักในโรงเรียนประถมชั้นนำในเมืองอู่ฮั่น ของจีน
หวัง เล่าว่า ในปีแรกของการเรียนดูไม่น่ากังวลอะไร แต่การบ้านเริ่มถาโถมเข้ามาเมื่อขึ้นประถมศึกษาปีที่ 2 ก่อนที่อีกปีถัดมา ลูกชายของเขาต้องเรียนจนถึงเที่ยงคืน
ครอบครัวของหวังเป็นหนึ่งในคลื่นผู้อพยพชาวจีนที่ย้ายมาพำนักในประเทศไทย เพื่อให้ได้รับระบบการศึกษานานาชาติที่มีคุณภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ผ่อนคลายขึ้นกว่าเดิม
แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีผู้ที่ย้ายมาอยู่ไทยเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนเท่าใด แต่พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวจีนที่ย้ายประเทศ ที่มีตั้งแต่นักธุรกิจร่ำรวยที่ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่นเพื่อรักษาความมั่งคั่งของตน นักเคลื่อนไหวที่ไม่พอใจระบบการเมืองในแดนมังกร ไปจนถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหลีกหนีวัฒนธรรมการทำงานที่แข่งขันสูงในจีน อย่างน้อยก็ในช่วงระยะหนึ่ง
เจสัน จาง ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาด้านการศึกษา Vision Education กล่าวกับเอพีว่า พ่อแม่ผู้ปกครองชาวจีนมองหาทางย้ายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และครอบครัวรายได้ปานกลางจะปักหมุดประเทศไทย เพราะมีโรงเรียนที่ค่าเทอมถูกกว่าโรงเรียนเอกชนในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้
จาง กล่าวว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางไม่ไกล การออกวีซ่าและสภาพแวดล้อมโดยรวมสะดวกสบาย รวมถึงทัศนคติของคนกลุ่มนี้ต่อชาวจีน เอื้อให้พ่อแม่จากจีนแผ่นดินใหญ่รู้สึกปลอดภัย”
การสำรวจเมื่อปี 2023 โดยบริษัทด้านการศึกษาเอกชน New Oriental พบว่าครอบครัวชาวจีนพิจารณาย้ายไปสิงคโปร์และญี่ปุ่นในการศึกษาต่างประเทศ แต่ค่าเรียนและค่าครองชีพนั้นสูงกว่าการอยู่ที่ไทยมาก
ขณะที่พิกัดยอดนิยมในไทยสำหรับครอบครัวจีน ได้แก่ เชียงใหม่ รองลงมาคือพัทยา ภูเก็ต และกรุงเทพฯ
กระแสการย้ายประเทศเพื่อการศึกษาบุตรหลานชาวจีน เกิดขึ้นมานานราว 10 ปีแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่มานี้เริ่มมีชาวจีนแห่ย้ายประเทศมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
โรงเรียนนานาชาติลานนา หนึ่งในโรงเรียนนานาชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ปกครองชาวจีนสนใจส่งลูกหลานเข้าเรียนในปีการศึกษา 2022-2023 พุ่งสูงขึ้นเท่าตัวจากปีการศึกษาก่อน ซึ่งเกรซ หู เจ้าหน้าที่ดูแลการรับนักเรียนชาวจีนที่นี่ กล่าวกับเอพีว่า “พ่อแม่[ชาวจีน]จะมาด้วยความรีบร้อน พวกเขาต้องการเปลี่ยนมายังสภาพแวดล้อมของโรงเรียนใหม่อย่างรวดเร็ว” หลังการระบาดของโควิด-19
ตู้ ซวน จาก Vision Education กล่าวว่าพ่อแม่ชาวจีนที่มาอยู่เชียงใหม่มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ กลุ่มที่วางแผนมาล่วงหน้าว่าต้องการให้ลูกเรียนแบบไหน กับกลุ่มที่ประสบกับความยากลำบากในระบบการศึกษาจีนที่ขับเคี่ยวแข่งขันอย่างหนัก ซึ่งกลุ่มหลังนี้จะถือเป็นสัดส่วนใหญ่ที่ย้ายมา
ในสังคมจีน หลายคนให้คุณค่ากับการศึกษาถึงจุดที่ว่าพ่อหรือแม่จะต้องออกจากงานและเช่าอพาร์ตเมนต์ใกล้กับโรงเรียนลูกเพื่อทำกับข้าวและดูแลพวกเขา เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งเรียกว่า “เป่ยตู้” หรือ “เรียนเป็นเพื่อน” ด้วยเป้าหมายให้ลูกมีการศึกษาที่ยอดเยี่ยมที่สุด แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตของพ่อแม่ก็ตามที
แนวคิดดังกล่าวได้เปลี่ยนไปเมื่อมีแรงกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสังคมจีนเกิดภาวะใหม่ที่บัญญัติศัพท์ขึ้นมาเพื่อกล่าวถึงสภาพการแข่งขันสุดขีด คือ “เหน่ยจวน” ซึ่งหมายถึง วิถีชีวิตแบบแก่งแย่งแข่งขันจนนำไปสู่ภาวะเบิร์นเอาท์ หรือคำว่า “ถังปิง” ที่หมายถึง เลิกทุ่มเททุกอย่างเพราะหมดความทะเยอทะยาน
ตู้ เล่าถึงการแข่งขันอันดุเดือดในการศึกษาจีน โดยเฉพาะการสอบ “เกาเข่า” หรือการสอบแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งในระดับปริญญาตรีของจีนว่า “ได้ 1 คะแนนจะเท่ากับเอาชนะ 10,000 คน การแข่งขันเข้มข้นถึงขั้นนั้น”
ส่วนหวัง เล่าว่า วิลเลียมได้รับคำชมตอนเรียน ป.2 ว่าเป็นเด็กมีพรสวรรค์ แต่เพื่อให้โดดเด่นกว่าเพื่อนอีก 50 คนในชั้นเรียน เขาจะต้องให้เงินหรือของขวัญกับครูอาจารย์ที่นั่นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนทำกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องพาลูกไปโหมเรียนพิเศษเพื่อให้ทันหรือล่วงหน้าเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งนั่นคืองานเต็มเวลาสำหรับพ่อแม่
แต่เมื่อมาอยู่เชียงใหม่ ห่างไกลจากการนั่งท่องจำและทำการบ้านหลายชั่วโมง นักเรียนมีเวลามากพอในการหางานอดิเรกทำได้มากขึ้น
เจียง เหวินฮุ่ย ย้ายจากเซี่ยงไฮ้มาเชียงใหม่ช่วงหน้าร้อนปีก่อน โดยลูกชายมีภาวะสมาธิสั้นเล็กน้อยและผลการเรียนระดับกลาง ๆ ในจีน จึงตัดสินใจลองมาอยู่ที่ไทยเพื่อลดความกดดันในการเรียนลูก และพบว่าร้อดนีย์ ลูกชายที่เพิ่งเริ่มเรียน ป.2 ที่ไทย ได้เรียนกีตาร์และเปียโน เขาพกสมุดโน้ตไป 1 เล่มเพื่อเรียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ตามความสนใจของเขาเอง และมีเวลาไปหางานอดิเรกโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ด้านสมาธิสั้นอีกแล้ว
• ที่มา: เอพี
กันยายน 06, 2024
โฆษณา