Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bangkok Bank SME
•
ติดตาม
7 ก.ย. 2024 เวลา 15:47 • ธุรกิจ
เกษตรแบบสมาร์ท “ไร่พัฒนศักดิ์” ไร่อ้อยที่ประยุกต์ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเพิ่ม Productivity
เริ่มต้นจากปรับปรุงพื้นที่
พื้นที่ ถือเป็นฐานรากของการเพาะปลูก กระนั้น ด้วยบริบทปัจจุบัน การทำเกษตรสมัยใหม่มักกล่าวถึงเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture) โดยนำเครื่องจักรกลการเกษตร นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย ภายใต้แนวคิดการทำเกษตรที่จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Farm Management) ตลอดจนสามารถควบคุมปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ทว่า การบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมในการเพาะปลูกพืชไร่ กลับไม่ค่อยมีเกษตรกรสนใจดำเนินการอย่างจริงจัง เนื่องด้วยเหตุผลด้านต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่องพอสมควร
บทสัมภาษณ์นี้ จึงได้หยิบยกกรณีศึกษาของ “ไร่พัฒนศักดิ์” ไร่อ้อยในจังหวัดกำแพงเพชร ที่นำองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ มาประยุกต์ใช้กับการปลูกอ้อย บนพื้นที่กว่า 3,500 ไร่ เริ่มจากการปรับปรุงพื้นที่ (Land leveling)
โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรปรับผืนหน้าดินให้ราบเสมอกัน มีความลาดเอียงเล็กน้อยทางใดทางหนึ่ง เพื่อระบายน้ำได้ดี ทำให้ลดต้นทุนการบริหารจัดการน้ำ และประหยัดต้นทุนด้านแรงงาน ตลอดจนมีประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนบริหารแปลงปลูกอ้อยเพื่อนำเครื่องจักรกลการเกษตร และเครื่องทุนแรงมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
จุดเริ่มของชาวไร่อ้อยแบบสมาร์ท
คุณมงคล พัฒนศักดิ์ภิญโญ เจ้าของ “ไร่พัฒนศักดิ์” เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ ปี 2564 จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ทำไร่อ้อยมาเกือบ 30 ปี เดิมทีเขาทำเกษตรพืชไร่ โดยปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล เน้นแรงงานคนเป็นหลัก มีการทดลองเพื่อปรับเปลี่ยนหลายด้านที่คาดว่าจะพัฒนาผลผลิตอ้อยให้ดีขึ้น
แต่ยังไม่ประสบผลตามที่หวัง เพราะปัญหาหลักของภาคเกษตร คือเรื่องสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และขาดแคลนแรงงาน เหตุนี้ เขาจึงหันมาศึกษารูปแบบการทำไร่อ้อยแบบใหม่ นำเครื่องจักรกลการเกษตร นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในไร่อ้อย โดยศึกษาจากเกษตรกรที่ทำไร่ในต่างประเทศจากสื่อออนไลน์
เขาได้เรียนรู้ว่า ชาวไร่ในต่างประเทศ ใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทุกกิจกรรมของการทำเกษตร ทั้งยังพึ่งพาแรงงานน้อย แต่ได้ผลผลิตสูง มีการบริหารจัดการฟาร์มได้แม่นยำ และควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด สิ่งเหล่านี้จุดประกายให้เขาไม่เพียงมองเห็นความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาหลัก ๆ ของการทำเกษตรแบบเก่า
ขณะเดียวกันยังสามารถยกระดับอาชีพชาวไร่อ้อยสู่การเป็น Smart Farmer เพราะพิจารณาว่าทำเกษตรไม่จำเป็นต้องลำบากเช่นในอดีต แต่สะดวกสบายขึ้นได้ หากประยุกต์ใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้ และ นวัตกรรม มาจัดการกระบวนการเพาะปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว และขนส่ง ได้อย่างเหมาะสม
มองหาเครื่องมือที่เหมาะสม
โจทย์ใหญ่ของภาคเกษตรยังคงโฟกัสที่การรับมือเพื่อลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อพัฒนารูปแบบการทำไร่อ้อยให้มีประสิทธิภาพ ผลผลิตสูง โครงสร้างแนวคิดการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ของคุณมงคล จึงมองตั้งแต่การกลัดกระดุมเม็ดแรก
คือ เรื่องการบริหารจัดการแปลง โดยเริ่มตั้งแต่การปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม เพื่อลดการใช้น้ำ ลดต้นทุนแรงงาน และเอื้ออำนวยต่อการนำเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีมาใช้งาน เพื่อเพิ่มผลผลิต ได้คุณภาพที่สม่ำเสมอทั้งแปลง
ทั้งนี้ การบริหารจัดการแปลงปลูกอ้อย
โดยการปรับปรุงหน้าดินให้ราบโดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในอดีต มักประสบปัญหาปรับหน้าดินแล้วพื้นที่ไม่ได้ระดับที่ต้องการ มักเป็นหลุม แอ่ง ร่อง เมื่อให้น้ำ หรือฝนตก จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ หากพื้นที่เพาะปลูกไม่สม่ำเสมอ จะทำให้การบริหารจัดการส่วนอื่นยากตามไปด้วย
เหตุนี้ การศึกษาเพื่อเลือกสรรเครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมมาใช้ปรับปรุงหน้าดินจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพของเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ใช้
ประจวบเหมาะกับในช่วงเวลานั้น ได้ไปดูงานแสดงสินค้าที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งจัดแสดงเครื่องจักรกลการเกษตร นวัตกรรม และเทคโนโลยี จึงได้พบกับบริษัทที่จำหน่ายเครื่องจักรกลเกษตร รถแทรกเตอร์ เครื่องเก็บเกี่ยวต้นอ้อย อุปกรณ์ต่อพ่วงการเกษตร ที่ตอบโจทย์ด้านการใช้งานปรับปรุงด้านดินในไร่อ้อย อาทิ
รถแทรกเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีระบบนำร่องอัตโนมัติ AutoTrac™
เป็นระบบการควบคุมทิศทางโดยไม่ต้องอาศัยผู้ควบคุม ทำหน้าที่ควบคุมทิศทางเครื่องจักรในแปลงปลูกโดยอัตโนมัติ และ iGrade™ เทคโนโลยีการปรับระดับหน้าดินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ได้พื้นที่สม่ำเสมอ ดินมีความชื้นเท่ากันทั้งแปลง เหมาะสำหรับการปรับพื้นที่ได้อย่างแม่นยำสูง ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ในการปรับระดับที่ดินแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังสามารถใช้สำหรับออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของการระบายน้ำบนพื้นผิวได้อีกด้วย
รวมถึงนวัตกรรมการปรับระดับพื้นที่แบบ GPS ในระบบ RTK (Real Time Kinematic) เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยให้รู้ตำแหน่ง สูง-ต่ำ ของพื้นที่แปลงปลูกอย่างละเอียดทุกตารางเมตร สามารถใช้ได้ในพื้นที่เนินเขาลาดชัน หรือลูกคลื่น โดยวิธีปรับพื้นที่แบบ GPS ในระบบ RTK มีความยืดหยุ่นสูงและแม่นยำกว่าการใช้เลเซอร์ แต่เบื้องต้นต้องมีการเก็บข้อมูลพื้นที่และคำนวณระดับพื้นที่ก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการพอสมควร
***อ้างอิงhttps://rmaagriculture.com/th/2022/12/15/%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b9%82%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a5%e0%b8%a2%e0%b8%b5%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%99%e0%b8%a2%e0%b8%b3/
คุณมงคล กล่าวว่า เขาเลือกเครื่องจักรกลการเกษตรแบรนด์ แบรนด์ John Deere เพราะมองว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการนำมาใช้งาน และมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับความต้องการในขณะนั้น แต่ไม่ใช่ว่าซื้อเครื่องจักรมาแล้วสามารถใช้งานได้เลย โดยปีแรกที่นำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ปรับสภาพหน้าดิน ยังไม่บรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้
เนื่องจากรถแทรกเตอร์ใช้คลื่นวิทยุในการสั่งการและควบคุม เป็นเครื่องจักรกลการเกษตรเครื่องแรก ที่มีการนำมาใช้ในแถบเอเชียแปซิฟิก ขณะที่การใช้งานคลื่นความถี่วิทยุจะต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแลเสียก่อนเพื่อให้สามารถเปิดช่องสัญญาณในการนำมาใช้งานเครื่องจักรกลเกษตรได้
เรียนรู้ ทดลอง และปรับปรุงแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ
คุณมงคล เล่าว่า “ไร่พัฒนศักดิ์” เริ่มดำเนินการปรับปรุงพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบัน ปรับปรุงพื้นที่ไปแล้วประมาณ 70%จากทั้งหมด 3,500 ไร่ ช่วงแรก ด้วยความที่เครื่องมือยังเป็นสิ่งใหม่มาก ดังนั้น จึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร และชาวไร่อ้อย
ปรับปรุงรูปแบบการทำงานตลอดจนข้อมูลทางเทคนิคให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ ตัวอย่างเช่น นวัตกรรมการปรับระดับพื้นที่แบบ GPS ในระบบ RTK เป็นเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงในการปรับหน้าดินให้ราบ สม่ำเสมอ แต่ยังต้องพิจารณาในแง่ขององศาความลาดเอียงของแปลง เพื่อการระบายน้ำและกระจายความชื้นได้ทั่วทั้งแปลงความถี่ของร่อง ความลึกในการของการไถ และความร่วนละเอียดของดิน ตลอดจนการจัดสรรพื้นที่แปลงปลูกให้ผสานกับการใช้เครื่องจักรในการดูแลรักษา เก็บเกี่ยว และเคลื่อนย้ายผลผลิต
ส่วนนี้จึงเห็นว่า องค์ความรู้ และการนำเครื่องจักรกลเกษตรมาใช้งานต้องผสานกับข้อมูล รวมถึงประสบการณ์ของชาวไร่ด้วย เพื่อให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงต้องมีการปรับสูตร และทดลองอยู่พอสมควร
กระนั้น รูปแบบการปรับผืนหน้าดินในไร่อ้อยไม่ใช่สูตรที่ตายตัว หลายอย่างสามารถปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ ทุกอย่างมาจากการเรียนรู้ ศึกษาเพิ่มเติม และทดลองทำ เพื่อให้ได้รูปแบบ หรือวิธีการที่ช่วยให้การทำงานที่มีประสิทธิภาพ หรือผลผลิตในไร่ที่เพิ่มขึ้น แต่มีต้นทุนการบริหารจัดการต่ำลง
การปรับพื้นที่ให้เหมาะสม เดิมเป็นงานที่หลายคนมองข้าม แต่สิ่งที่เขาทำมา เริ่มเห็นผลชัดเจน การเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิม เฉลี่ยผลผลิตอ้อยประมาณ 8 ตัน/ไร่ แต่เมื่อปรับพื้นที่แปลงใหม่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 10-17 ตัน/ไร่
จะเห็นว่า การปรับปรุงพื้นที่แปลงปลูกให้สม่ำเสมอ ไม่เพียงทำให้บริหารจัดการไร่อ้อยมีประสิทธิภาพ ใช้แรงงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้นด้วย เนื่องจากการใช้รถตัดอ้อย มีค่าการสูญเสียลดลง การลำเลียงเคลื่อนย้ายสะดวก รวดเร็ว เกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญกับการปรับพื้นที่แปลงปลูกมากขึ้น
การปรับพื้นที่ให้ราบเรียบ สม่ำเสมอ มีความลาดเอียงเล็กน้อย ไม่เพียงเกิดประโยชน์ในแง่ของการจัดสรรพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังสามารถลดปริมาณการใช้น้ำสำหรับแปลงปลูกได้ด้วย ซึ่งการปลูกอ้อยไร่พัฒนศักดิ์ ให้น้ำ 2 ระบบ ตามการเจริญเติบโตของอ้อยและพื้นที่แปลง
คือ 1.การให้น้ำแบบหน้าดิน (Flush) โดยการปล่อยน้ำจากสายยางตามจุดที่กำหนดไว้ให้ไหลไปทั่วแปลง วิธีนี้หากไม่มีการปรับพื้นที่แปลงแปลงอาจจะให้น้ำในแปลงไม่ทั่วถึง เกิดท่วมขัง และสิ้นเปลืองน้ำ ต้องให้น้ำเป็นสัปดาห์ แต่หลังปรับปรุงพื้นที่แปลงแล้วลดการใช้น้ำลงได้มากเพียงใช้เวลาประมาณ แค่ 15 - 18 ชม.ต่อครั้ง น้ำส่วนเกินไหลลงสู่คลองธรรมชาติ วิธีนี้สามารถลด
ต้นทุนด้านแรงงานในการวางระบบน้ำเพื่อเพาะปลูกรอบใหม่ หรือก่อนเก็บเกี่ยว และการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ของระบบน้ำเกิดความเสียหายจากการทำงานน้อยลง ที่สำคัญยังลดแรงงานในการให้น้ำด้วย ไม่จำเป็นต้องคอยดูการให้น้ำตลอดเวลาเหมือนในอดีต และ 2.การให้น้ำแบบร่องคู (Furrow) ส่วนนี้จะวางสายยางแบบน้ำหยดหรือสปริงเกอร์ตามแนวร่องระหว่างแปลงปลูก ปัจจุบันผสานกับการนำระบบอัตโนมัติในการเปิดปิดน้ำทำให้การจัดการในส่วนนี้สะดวกมากยิ่งขึ้น
แก้ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษ
สำหรับแก้ปัญหาควันและมลพิษโดยไม่เผาอ้อย ปัจจุบันมีทางเลือก อาทิ ใช้รถตัดใบอ้อยลงแปลง โดยใบอ้อยจะถูกนำไปอัดก้อนเข้าสู่กระบวนการเป็นชีวมวลต่อไป สำหรับ “ไร่พัฒนศักดิ์” เลือกที่จะนำใบอ้อยที่ตัดทิ้งมาคลุมดินเพื่อควบคุมความชื้นภายในดิน ซึ่งใบอ้อยยังสามารถใช้เป็นวัตถุดิบปุ๋ยพืชสด
เพียงรดน้ำและคลุมดินไว้ในแปลง ใบอ้อยจะย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้ดิน ทั้งการคลุมดินไว้ยังช่วยควบคุมวัชพืชได้อีกด้วย รวมถึงการใช้ใบอ้อยคลุมดินยังช่วยรักษาตออ้อยหลังตัดเพื่อการปลูกรอบใหม่ ซึ่งจากการทดลองในแปลงสาธิตของคุณมงคลระบุว่า ต่ออ้อยเดิมสามารถใช้ปลูกได้สูงสุด 7 รอบเก็บเกี่ยว
ปัจจุบัน เรามีองค์ความรู้ให้ชาวไร่อ้อยศึกษา ตลอดจนมีเครื่องมือในการทำงานที่สะดวกมากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ไม่จำเป็นต้องเผาอ้อยเหมือนในอดีต ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาฝุ่นควันและมลพิษ และเป็นปัญหาด้านปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อม ผู้ทำการเกษตรยุคใหม่
จึงต้องปรับตัว ทั้งด้านการปรับปรุงพื้นที่ให้ใช้น้ำและปัจจัยการเกษตร อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภูมิอากาศ เพื่อลดผลกระทบต่อการเพาะปลูก เที่สำคัญ คือหมั่นเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ เหตุผลนี้ คุณมงคลจึงมักจะไปร่วมอบรม และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการเกษตรอยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำไร่อ้อย
ใช้เครื่องจักร ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน
การทำเกษตรสมัยใหม่ ย่อมมีแนวคิดที่แตกต่าง และหลากหลาย จากประสบการณ์และการทดลองของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ สำหรับ คุณมงคล มองว่า การเริ่มปรับพื้นที่ให้เหมาะสม เป็นฐานรากให้การดำเนินการส่วนอื่นสะดวก และลดต้นทุนการจัดการ ปัจจุบันสามารถใช้เครื่องจักรมาทดแทนแรงงานได้หมด
ดังนั้น การพัฒนารูปแบบการทำเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี เป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงการบริหารจัดการที่แม่นยำ ลดต้นทุน แต่ยังสามารถตอบโจทย์ในมิติของการพัฒนาระดับประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก เกษตรกรจึงควรปรับตัวให้ทันยุคสมัย
ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถ และเพิ่มประสิทธิภาพในฐานะผู้ผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ ใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด สิ่งเหล่านี้จะยกระดับอาชีพเกษตรในอนาคต ให้คนรุ่นใหม่สานต่อองค์ความรู้ด้านเกษตรไปสู่การพัฒนาที่มีมาตรฐานยิ่งขึ้น
“ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร หากนำเครื่องมือเกษตรสมัยใหม่มาใช้ เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาด้านนี้ได้ ทั้งในอนาคต แรงงานภาคเกษตรจะยิ่งลดน้อยลง หรือมีต้นทุนที่สูงขึ้น เกษตรกรต้องเตรียมการแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก”
ปัจจุบัน “ไร่พัฒนศักดิ์” นำเครื่องจักรกลเกษตรมาใช้ ตั้งแต่การจัดการพื้นที่ในแปลง ปลูกด้วยเครื่องจักร ให้ธาตุอาหารพืชด้วยเครื่องหยอดปุ๋ย และเก็บเกี่ยวด้วยรถตัด 100% ทำให้การบริหารจัดการไร่อ้อยลดการสูญเสีย และขั้นตอนที่ยุ่งยากลงได้มาก จากเดิมที่ใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 300 คน ทุกวันนี้เมื่อนำเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้ใช้แรงงานเพียง 30 คนเท่านั้น
เกษตรที่มั่นคง ยั่งยืน ส่งต่อรุ่นต่อไป
คุณมงคล บอกลูกของเขาเสมอว่า จะเรียนต่อสาขาอะไรก็ตาม หรืออยากไปทำงานหาประสบการณ์ในด้านอื่นก็ได้ แต่วันหนึ่งจะต้องกลับมารับช่วงต่ออาชีพชาวไร่ของพ่อ เพื่อสานต่อธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่ทำให้เราเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเขาพยายามสร้างรากฐานของอาชีพเกษตร
ที่ไม่เพียงมีรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่ยังวางระบบให้สอดรับกับการพัฒนา ทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีในไร่อ้อย เพราะมองว่าอาชีพเกษตรไม่จำเป็นต้องลำบาก ตรากตรำกลางแดด กลางฝน แต่สามารถทำงานได้สะดวก สบายขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นอาชีพที่มีความยั่งยืน และมั่นคง
“ผมเชื่อว่า ในอนาคต อาชีพเกษตรกรจะเป็นงานที่ผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่จนปรับเปลี่ยนมุมมองของคนรุ่นต่อไป ให้หันมาทำเกษตรมากขึ้น”
สำหรับเกษตรกรที่สนใจ อยากปรับเปลี่ยนการทำเกษตร โดยเน้นใช้เครื่องจักรกลเกษตร สามารถทำได้แม้จะเป็นแปลงขนาดเล็ก เนื่องจากปัจจุบัน เครื่องจักรกลเกษตรมีขนาดที่หลากหลายให้เลือกตามความเหมาะสมและความต้องการมากขึ้น เพราะหัวใจสำคัญของการนำเครื่องทุ่นแรงมาใช้ในภาคเกษตร ไม่ใช่เรื่องของขนาด แต่คือการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เวลา แรงงาน ให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีขึ้น ภายใต้การสูญเสียที่ต่ำที่สุด
ดังนั้น การศึกษาและเรียนรู้เพื่อเลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมสำหรับรูปแบบและพื้นที่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้วัดความสำเร็จ รวมทั้งต้องพิจารณาเรื่องเงินลงทุนอย่างเหมาะสม เช่น หากมีเงินทุนน้อย อาจเริ่มที่เครื่องจักรกลเกษตรมือสอง มาใช้ก่อน เมื่อเห็นผลชัดเจนและมีความพร้อม ค่อยลงทุนเพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป
อนาคตของ “ไร่พัฒนศักดิ์”
คุณมงคล กำลังศึกษาเรื่องระบบการจัดการฟาร์มในรูปแบบอัตโนมัติ ด้วยการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้งาน เช่น ระบบการให้น้ำ การตรวจวัดและประเมินสภาพอากาศก่อนเพาะปลูก ควบคุมการทำงานส่วนต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น
ส่วนหนึ่งมองว่า แม้จะต้องลงทุนพอสมควร แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป เกษตรกรต้องปรับตัวให้ก้าวทันโลก ก้าวต่อไปของไร่พัฒนศักดิ์ อาจจะไม่ได้มีแค่อ้อย เพราะพื้นที่ ที่ปรับปรุงได้เหมาะสมดีแล้ว หากจะขยับไปปลูกพืชชนิดอื่น ก็ย่อมทำได้ไม่ยาก
ไร่พัฒนศักดิ์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 12 ต.วังชะโอน อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ :
https://www.youtube.com/watch?v=YS_fbB6bP6k
1 บันทึก
2
3
1
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย