9 ก.ย. เวลา 01:00 • บันเทิง

"อินฟลูเอนเซอร์" ไทยค่าตัวพุ่ง ชิงแบ่งตลาด 4.5 หมื่นล้าน

ในยุคที่โลกดิจิทัลกำลังเบ่งบาน อาชีพ “อินฟลูเอนเซอร์” ได้ก้าวขึ้นมาเป็นดาวเด่นในวงการสื่อสารการตลาด ด้วยพลังอิทธิพลที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างกว้างขวาง เขาไม่เพียงแต่สร้างเทรนด์และวัฒนธรรมป๊อปยุคใหม่
จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลถึง 5.5 ล้านล้านบาท ประเทศไทยได้คว้าส่วนแบ่งอันน่าภาคภูมิใจถึง 4.5 หมื่นล้านบาท โดยมีครีเอเตอร์กว่า 9 ล้านคนที่กำลังสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ Nano ไปจนถึง Mega Influencer
นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด เผยว่า “ปี 2567 นี้ วงการครีเอเตอร์ไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้มาตรฐานการผลิตคอนเทนต์พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แบรนด์ต่างๆ ไม่เพียงแต่มองหาครีเอเตอร์ที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังต้องการผู้ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นยอดขายหรือการสร้างการรับรู้แบรนด์”
ในขณะเดียวกัน เทรนด์ที่น่าจับตามองในปีนี้ ได้แก่ การเติบโตของกลุ่ม “News Creator” ที่นำเสนอข่าวสารในรูปแบบที่สดใหม่และน่าสนใจ, “Science & Education Creator” ที่ตอบโจทย์ความต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ของคนยุคปัจจุบัน และ “Family Creator” ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์การเลี้ยงลูกและการมีครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป
“ในปีนี้อุตสาหกรรมสามอันดับแรกที่ต้องการลงทุนกับการจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจความงาม โดยเฉพาะผู้ที่รีวิวผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า ผม และเครื่องสำอาง ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ ยังคงเป็นผู้นำในการลงทุนกับครีเอเตอร์
โดยเฉพาะคอนเทนต์รูปแบบ A day in a life ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และธุรกิจการเงิน (สถาบันการเงิน-ประกัน-แอปพลิเคชัน) ความน่าสนใจของครีเอเตอร์สายนี้กำลังมาแรงโดยเฉพาะผู้ที่สามารถอธิบายเรื่องการเงินที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงเรื่องการเงินได้มากขึ้น”
ข้อมูลจาก บริษัท เทลสกอร์ ระบุด้วยว่า รายได้ของ อินฟลูเอนเซอร์” สามารถแบ่งตามระดับของยอดผู้ติดตาม ซึ่งทาง Influencer Marketing Hub ได้แบ่ง Categories ของ “อินฟลูเอนเซอร์” ไว้ดังนี้
  • Nano-influencer มีผู้ติดตาม 1,000 – 10,000 คน เรทรายได้ 3,000 - 5,000 บาท ต่อโพสต์
  • Micro-influencer มีผู้ติดตาม 10,000 – 50,000 คน เรทรายได้ 5,000 - 10,000 บาท ต่อโพสต์
  • Mid-tier influencer มีผู้ติดตาม 50,000 – 500,000 คน เรทรายได้ 10,000 - 30,000 บาท ต่อโพสต์
  • Macro-influencer มีผู้ติดตาม 500,000 – 1,000,000 คน เรทรายได้ 30,000 - 100,000 บาท ต่อโพสต์
  • Mega-influencer มีผู้ติดตาม 1,000,000 คนขึ้นไป เรทรายได้ 80,000 - 300,000 บาท ต่อโพสต์
1
ขณะที่อุตสาหกรรมที่เคยเป็นกำลังซื้อหลัก แต่มีทิศทางการลงทุนที่น้อยลง ได้แก่ หมวดยานยนต์ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของอุตสาหกรรมว่าจะเบนเข็มไปในทิศทางไหน และหมวดอสังหาริมทรัพย์ แม้จะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ แต่การแข่งขันในตลาดครีเอเตอร์สายนี้ค่อนข้างสูง ทำให้แบรนด์ต้องพิจารณาเลือกคัดสรรครีเอเตอร์ที่มีคุณภาพมากขึ้น
“นักการตลาดให้ความสำคัญกับครีเอเตอร์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการรับข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อดั้งเดิม การร่วมงานกับครีเอเตอร์จึงเป็นช่องทางที่ตรงที่สุดในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ครีเอเตอร์ต้องสร้างจุดเด่นของตัวเองเพื่อสร้างฐานผู้ติดตามและเอนเกจเมนต์ที่เป็นออร์แกนิกให้ได้ในระยะยาว โดยสิ่งที่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับครีเอเตอร์ได้ดีที่สุด คือ ความจริงใจต่อคนดูและต่อแบรนด์ พร้อมทั้งการขับเคลื่อนอิมแพคทั้งด้านรายได้ (Revenue) และการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”
ข้อมูลจาก “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)” รายงานถึงสถานการณ์ “Influencer” ในภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 2566 โดยระบุว่าเป็นหนึ่งใน “สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ”นั้น ประเทศไทยมีจำนวน Influencer กว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับสองในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รองจากอินโดนีเซีย
อาชีพ Influencer สามารถสร้างรายได้สูงถึง 800 - 700,000 บาทต่อโพสต์ ทำให้เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ การแข่งขันในวงการ Influencer นำไปสู่การสร้างเนื้อหาที่เน้นความเป็นกระแส โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคม
ปัญหาที่พบจากการนำเสนอเนื้อหาของ Influencer ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงหรือบิดเบือน การโฆษณาเว็บพนันออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิ์และลิขสิทธิ์ การนำเสนอข่าวอาชญากรรมอย่างไม่เหมาะสม การสร้างค่านิยมที่ผิด เช่น การอวดความร่ำรวย
ข้อมูลระบุด้วยว่า หลายประเทศเริ่มออกกฎหมายเฉพาะเพื่อกำกับดูแล Influencer เช่น จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล Influencer แม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องบางส่วน
รายงานจาก สศช.จึงมีข้อเสนอแนะให้ไทยพิจารณาทบทวนนิยามของสื่อออนไลน์ และศึกษาแนวทางการกำกับดูแลจากต่างประเทศเพื่อปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทสังคมไทย ควรมีการยกระดับทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่ม Baby Boomer เพื่อให้รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัล
โฆษณา