Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
journey of the Footprint
•
ติดตาม
8 ก.ย. เวลา 01:15 • ประวัติศาสตร์
สหพระคเณศในพิพิธภัณฑ์ไทย
เนื่องจากช่วงนี้ตรงกับช่วงคเณศจตุรถี เทศกาลสำคัญของผู้ที่นับ "พระคเณศ" หรือ "พระพิฆเณศ" ทางเพจ รอยทางของรอยเท้า Journey of the Footprint เลยจะพาทุกท่านไปชมพระคเณศในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งจริงๆแล้วมีอยู่เยอะพอสมควรเลย แต่ทางเพจจะขอคัดมาทั้งสิ้น 9 องค์ด้วยกัน จะเป็นองค์ไหนบ้าง ไปดูกันครับ
1. พระคเณศ ศิลปะทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
พบจากการขุดแต่งเทวาลัยภายในเมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี
หลักฐานของพระคเณศที่เก่าที่สุดที่พบในประเทศไทย (เพราะสวมเครื่องทรงน้อยชิ้นและมีลักษณะคล้ายช้างตามธรรมชาติ) น่าเสียดายที่พระคเณศองค์นี้อยู่ในสภาพค่อนข้างเสียหาย เลยไม่อาจทราบได้ว่าท่านจะอยู่ในอิริยาบถยืนหรือนั่ง
พระคเณศ ศรีมโหสถ
2. พระคเณศ ศิลปะชวาตะวันตก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เดิมประดิษฐานที่จันทิสิงหาส่าหรี ผู้สำเร็จราชการฮอลันดาได้นำมาถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในครั้งเสด็จประพาสชวา เมื่อปี พ.ศ. 2439
พระคเณศองค์นี้น่าจะเป็นองค์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดองค์นึงในไทยปัจจุบันแล้ว เป็นพระคเณศ 4 กร ทรงศิราภรณ์ เครื่องประดับต่างๆเป็นรูปกะโหลกมนุษย์ และยังประทับบนบัลลังก์กะโหลกมนุษย์ด้วย เป็นพระคเณศในแบบของชวาตะวันออกที่ต่างจากที่พบในศิลปะในประเทศไทย
พระคเณศชวาตะวันออก จันทิสิงหาส่าหรี
3. คนโทรูปพระคเณศ จากเตาพนมดงเร็ก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
นายโยธินและนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติมอบให้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564
พระคเณศที่เพิ่งเข้าประจำการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้ เป็นคนโทเคลือบขี้เถ้าพืชที่ด้านบนเป็นรูปพระคเณศนั่งขัดสมาธิ สันนิษฐานว่า คนโทนี้น่าจะเป็นหนึ่งในภาชนะสำหรับใช้ในพิธีกรรมเนื่องในศาสนาฮินดู แต่จะเป็นพิธีอะไรไม่แน่ชัด
คนโทพระคเณศ เตาพนมดงเร็ก
4. พระคเณศ ศิลปะขอม เดิมอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
พบจากการขุดแต่งปราสาทหลังกลาง ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์
พระคเณศ 2 กรขนาดเล็กที่ประทับขัดสมาธิราบบนฐานเขียงเรียบที่มีเดือยข้างล่างเพื่อใช้ประดิษฐานบนฐานอีกชิ้นหนึ่ง พระกรข้่างซ้ายคล้ายถือขนมโมทกะ
พระคเณศ ปราสาทเมืองต่ำ
5. พระคเณศ ศิลปะขอม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์
ได้รับมอบจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส)
พระคเณศ 2 กรคล้ายกับองค์ที่พบที่ปราสาทเมืองต่ำ แต่องค์นี้มีกรอบซุ้มลายมกรคายนาคแบบที่พบได้ทั่วไปในศิลปะขอม
พระคเณศแบบมีซุ้ม พช.มหาวีรวงศ์
6. ปูนปั้นพระคเณศ ศิลปะขอม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี
พบจากโบราณสถานเนินทางพระ จ.สุพรรณบุรี
เป็นปูนปั้นชิ้นเดียวในในกลุ่มนี้ สันนิษฐานว่าเดิมทีน่าจะเป็นปูนปั้นตกแต่งอาคารศาสนสถาน ปรากฏพระเศียรสวมเครื่องทรง พระหัตถ์ซ้ายจับที่งวง
ปูนปั้นพระคเณศ เนินทางพระ
7. พระคเณศ ศิลปะอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
พบจากโบสถ์พราหมณ์ จ.นครศรีธรรมราช
พระคเณศองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนบนฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 2 ฐาน จุดสำคัญคือที่ฐานพระคเณศองค์นี้มีจารึกอยู่ โดยที่ด้านหน้าเป็นจารึกอักษรทมิฬ ภาษาทมิฬที่มีความหมายว่า ประเทศอันรุ่งเรืองแห่งมัชปาหิ (มัชปาหิต) ส่วนด้านหลังเป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทยว่า มหาวิคิเนกสุระ ที่หมายถึง พระพิฆเณศ นั่นเอง
พระคเณศ โบสถ์พราหมณ์ นครศรีธรรมราช
8. พระคเณศ ศิลปะอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
พระยาโบราณราชธานินทร์เป็นผู้รวบรวม
พระคเณศในอิริยาบถนั่ง แต่เป็นท่านั่งขัดสมาธิแบบหลวมๆ ชันพระชานุขึ้นทั้ง 2 ข้างคล้ายท่านั่งของฤๅษี มีสายโยคปัฏฏ์พาดผ่าน และแม้พระพักตร์จะชำรุดทั้งหมดแต่ยังเห็นพระกรรณขนาดใหญ่และปลายงวงที่ตวัดลงมายืนยันว่าเป็นพระคเณศแน่นอน
พระคเณศ พช.จันทรเกษม
9. พระคเณศ ศิลปะรัตนโกสินทร์ เคยจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เดิมเป็นสมบัติของสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์ ได้รับมอบจากกระทรวงการคลังเมื่อ พ.ศ. 2482
พระคเณศศิลปะรัตนโกสินทร์ที่มีหลักฐานไม่มากนัก เป็นพระคเณศ 4 กรประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดตั้งขึ้นระหว่างพระเนตร 2 ข้างที่อาจหมายถึงพระเนตรที่ 3
#พระคเณศ #คเณศจตุรถี #คเณศจตุรถี67 #พระพิฆเนศ #พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ #Journeyofthfootprint #รอยทางของรอยเท้า
พระคเณศ พช.พระนคร (ปัจจุบันไม่ได้จัดแสดงแล้ว)
blockdit
เรื่องเล่า
ประวัติศาสตร์
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย