9 ก.ย. 2024 เวลา 00:48 • ประวัติศาสตร์

เมื่อความสงสัยสามารถช่วยชีวิตคนได้นับพัน

หลายคนอาจเบื่อคนที่ชอบขี้สงสัย ด้วยเพราะรู้สึกว่าเขาทำตัวขวาง หรือบางทีก็รู้สึกว่าเขาไม่ฉลาดเลย ใครๆ เขาก็รู้ก็เข้าใจกัน ทำไมถึงตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการหยุดชะงัก เกิดการตรวจสอบ ทำให้เกิดความล่าช้า แต่การขี้สงสัยโดยปราศจากความอคติถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันสามารถนำไปสู่การหาคำตอบ ไขความกระจ่างจนนำไปสู่การพัฒนาขึ้นมาได้
จริงๆ แล้วมนุษย์เรามีความขี้สงสัยติดตัวเรามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ด้วยเพราะความขี้สงสัยเหล่านี้มันช่วยทำให้เราเอาตัวรอดการสูญพันธุ์มาได้ ความขี้สงสัยเป็นสาเหตุให้เกิดตั้งคำถามว่า “ทำไม” และมันนำไปสู่การหาคำตอบเพื่อไขความกระจ่าง ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้พัฒนาความสามารถ เกิดความคิดสร้างสรรค์และกลายเป็นวิวัฒนาการขึ้นมา
ผมเพิ่งได้อ่านหนังสือ Crossover Creativity ที่เขียนโดย Dave Trott ได้เล่าเรื่องเคสจริงของการขี้สงสัยที่สามารถช่วยชีวิตคนได้จำนวนมหาศาล
เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 1977 บริษัท Citycorp มีโครงการจะสร้างสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ก มันเป็นตึกสูง 59 ชั้น
แต่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงตรงอาคารนั้นมีโบสถ์ ซึ่งไม่สามารถย้ายโบสถ์ได้ ทำให้แบบโครงสร้างของตึก Citycorp Center จึงได้รับการออกแบบให้มีเสาที่มีความสูง 9 ชั้น มาค้ำตัวอาคาร
1
และต้องวางตำแหน่งเสาให้อยู่ตรงกึ่งกลางของตัวอาคารแต่ละด้าน แทนที่จะวางเสาค้ำไว้ตรงหัวมุมอาคาร ซึ่งเป็นจุดที่มั่นคงในการรับน้ำหนักอาคารได้ดีที่สุด บริษัทที่ทำหน้าที่ก่อสร้างจึงต้องคำนวณการรับน้ำหนักและแรงลมแรงแผ่นดินไหวให้ดี ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายการสร้างเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ ไดแอน ฮาร์ตลีย์ นักศึกษาวิศวกรรมโครงสร้างจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน จึงได้เลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่องการสร้างอาคาร Citycorp หลังนี้ เธอได้ติดต่อกับบริษัทก่อสร้าง และได้รับข้อมูลการคำนวณพร้อมแบบพิมพ์เขียวตัวอาคารทั้งหมด
ไดแอนนำข้อมูลต่างๆ และไล่ดูแบบพิมพ์เขียวที่ทางบริษัทก่อสร้างให้มาก็มาสะดุดกับตัวเลขที่ทางบริษัทก่อสร้างคำนวณมา เธอสงสัยจึงคำนวณค่ารับน้ำหนักต่างๆ ด้วยความคิดตามเหตุผลของเธอเอง แล้วก็พบว่าการคำนวณการรับแรงรับน้ำหนักของเธอกับทีมวิศวกรของบริษัทก่อสร้างไม่ตรงกัน
2
ทางวิศวกรก่อสร้างคำนวณเฉพาะแรงลมที่ปะทะข้างตัวตึกอาคารเท่านั้น ซึ่งวิธีคำนวณนี้จะใช้ได้ในกรณีที่เสารับน้ำหนักต้องตั้งอยู่ที่มุมทั้ง 4 ของตัวอาคาร
แต่อาคาร Citycorp ถูกออกแบบให้เสาไม่ได้ตั้งอยู่ตรงมุม แต่ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของแต่ละด้าน เมื่อคำนวณกับแรงลมที่ต้องปะทะกับมุมตึกแล้ว จะทำให้ตัวอาคารที่มีเสาตั้งแบบนี้มีความแข็งแรงเพียง 60% ของผลการคำนวณแบบปกติ
1
ด้วยความสงสัยไดแอนจึงได้โทรไปสอบถามกับหัวหน้าวิศวกรก่อสร้าง ซึ่งเขาได้แต่ตอบเพียงว่า เสาที่รับน้ำหนักแข็งแรงมากพอแล้ว และรีบวางสายไป จากนั้นเธอก็ไม่สามารถติดต่อฝ่ายวิศวกรก่อสร้างได้อีก แล้วอาคาร CityCorp Center ก็ถูกสร้างเสร็จเรียบร้อย โดยที่ความสงสัยของเธอก็ยังไม่ได้รับไขความกระจ่างเสียที
1
18 ปีผ่านไป ทางสถานี PBS ได้ทำสารคดีเปิดโปงเบื้องหลังความจริงในการสร้างอาคาร Citycorp สาขานิวยอร์กออกมา
ความจริงก็คือ ข้อสงสัยของไดแอนนั้นรู้ไปถึงหูของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ทำหน้าที่ก่อสร้างอาคาร และได้สั่งให้ทำการคำนวณรับน้ำหนักใหม่ ซึ่งก็พบว่าทางทีมวิศวกรบริษัทคำนวณผิด ไม่ได้นึกถึงเรื่องเสาจะรับน้ำหนักได้น้อยลงเมื่อมันไม่ได้อยู่ตรงมุมอาคาร และการคำนวณของไดแอนเป็นการคำนวณที่ถูกต้อง
1
มันทำให้พวกเขาต้องตื่นตระหนก เพราะมันหมายความว่าอาคารมีความเสี่ยงที่จะล้มพังลงเมื่อต้องเจอลมแรง ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนได้
พวกเขาปิดข่าวไม่ให้เรื่องนี้แพร่งพรายออกไป เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก และได้สั่งให้ใช้แผ่นเหล็กหนา 2 นิ้วมาทับสลักเกลียวหลัก 200 ตัว ของอาคารให้แข็งแรงขึ้น และรับน้ำหนักได้ตามการคำนวณใหม่
เมื่อไดแอนได้เห็นสารคดีเรื่องนี้ ถึงได้ทราบคำตอบในเรื่องที่เธอได้สงสัยมานานกว่า 18 ปี และเข้าใจว่าทำไมทีมวิศวกรก่อสร้างถึงไม่ยอมติดต่อเธออีกเลย เธอรู้สึกติดมีอะไรอยู่ในใจมานาน 18 ปี โดยไม่ได้รับไขความกระจ่างเลย แต่วันนี้เธอรู้แล้วว่าความสงสัยของเธอมันสามารถช่วยชีวิตคนนับพันได้
2
เหตุการณ์นี้จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าความสงสัยนำพาไปสู่การพัฒนาหาคำตอบและสามารถช่วยเหลือผู้คนได้
เราจึงควรเรียนรู้ที่จะสงสัยหรือการทักท้วงตั้งคำถามโดยไม่ได้มีอคติ แต่เป็นไปเพื่อการหาคำตอบ ซึ่งคนที่อยู่มานาน คนที่อาวุโสกว่าก็ไม่จำเป็นต้องถูกต้องหรือต้องรู้มากกว่า และการที่เราสงสัยหรือมีคำถามก็ไม่ได้หมายความว่าเราโง่ ดูไม่ฉลาด
 
เพราะหากเราเกิดข้อสงสัยขึ้นมา สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้ชัดเจนครับ
1
อ้างอิง
หนังสือ Crossover Creativity by Dave Trott
โฆษณา