9 ก.ย. เวลา 09:21 • การศึกษา

ความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ตอนที่ 2

  • องค์ประกอบที่ช่วยในการแก้โจทย์ปัญหา
Dewey (1976) อ้างอิงใน สุภาพ ขอนศักดิ์ (2560) ได้กำหนดองค์ประกอบที่ช่วยในการแก้โจทย์ปัญหา ดังนี้
1) ขั้นเตรียมการ (Preparation) เป็นการรับรู้และเข้าใจปัญหา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ประสบปัญหาจะต้องรับรู้และเข้าใจตัวปัญหาก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงนั้นคืออะไร
2) ขั้นวิเคราะห์ปัญหา (Analysis) เป็นการพิจารณาดูว่าสิ่งใดบ้างเป็นสาเหตุของปัญหา กล่าวคือ มีการระบุและแจกแจงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกัน ระดับความยากง่ายที่จะแก้ไขต่างกัน
3) ขั้นเสนอแนวทางการแก้ปัญหา (Production) เป็นการหาวิธีการให้ตรงกับสาเหตุของปัญหาแล้วเสนอออกมาในรูปแบบของวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาเพื่อการตั้งสมมติฐาน
4) ขั้นตรวจสอบผล (Verification) เป็นการเสนอเกณฑ์เพื่อการตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้จากการเสนอวิธีแก้ปัญหา ถ้าผลที่ได้รับไม่ถูกต้อง ก็เสนอวิธีแก้ปัญหาใหม่จนกว่าจะได้วิธีที่ดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุด
5) ขั้นการนำไปประยุกต์ใหม่ (Reapplication) เป็นการนำวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องไปใช้ในโอกาสข้างหน้า เมื่อพบกับเหตุการณ์คล้ายกับปัญหาที่เคยพบมาแล้ว
ศูนย์พัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ (2543) ได้กำหนดองค์ประกอบที่ช่วยในการแก้โจทย์ปัญหา ดังนี้
1) การมองภาพ หมายความว่า ผู้ที่จะแก้ไขจะมองทะลุและกว้างไกล มองเห็นแนวทางที่จะคิดแก้ปัญหา
2) การจินตนาการในการคิดแก้ปัญหานั้นจะต้องรู้จักจินตนาการว่าควรจะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการคิดแก้ปัญหา
3) การจัดทำอย่างมีทักษะ เมื่อมองเห็นแนวทางแล้วก็ลงมือทำอย่างมีระบบเป็นขั้นตอนด้วยความชำนาญ
4) การวิเคราะห์ จะต้องรู้จักวิเคราะห์ตามขั้นตอนที่กระทำนั้น
5) การสรุป เมื่อลงมือกระทำจนมองเห็นรูปแบบแล้วก็สรุปได้ การโยงความคิด การสัมพันธ์ความคิดเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา เมื่อโจทย์พูดถึงเรื่องอะไรก็จะสามารถที่จะสัมพันธ์ถึงเรื่องต่อไป และมองเห็นแนวทางได้
พิมพ์สรณ์ ตุกเตียน (2552) ได้กำหนดองค์ประกอบที่ช่วยในการแก้โจทย์ปัญหา ดังนี้
1) สำรวจและค้นพบปัญหาด้วยวิถีทางต่าง ๆ จนมองเห็นองค์ประกอบที่จำเป็นในการแก้โจทย์ปัญหา และพิจารณาว่าข้อมูลอะไรที่ต้องการหา และข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์
2) การพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาโดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลในปัญหาปัจจุบันนั้นได้
3) ฝึกปฏิบัติตามโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อแสดงความสัมพันธ์โจทย์ปัญหา
4) ตรวจสอบการคำนวณ ผู้เรียนรู้จักการประมาณและตรวจสอบผลการคำนวณว่าถูกต้องหรือไม่
พัชรฎา พลเยี่ยม (2564) ได้กำหนดองค์ประกอบที่ช่วยในการแก้โจทย์ปัญหา ดังนี้
1) การศึกษาโจทย์ปัญหา (Search the word problem : S) เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องอ่านทำความเข้าใจโจทย์ปัญหาอย่างละเอียด และทำความเข้าใจโจทย์ปัญหา จากนั้นเขียนระบุ แยกแยะออกว่าโจทย์กำหนดอะไรมาให้ และโจทย์ต้องการให้หาอะไร
2) การแปลงข้อมูลที่มีอยู่ในโจทย์ (Translate the problem : T) เป็นขั้นที่ผู้เรียนต้องแปลงข้อมูลที่มีอยู่ในโจทย์ปัญหาให้เป็นรูปภาพ แผนภาพ สัญลักษณ์ หรือสมการทางคณิตศาสตร์
3) การหาคำตอบของโจทย์ปัญหา (Answer the problem : A) เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องดำเนินการแก้โจทย์ปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยเริ่มจากการเขียนสูตร การแทนค่าของตัวแปร และหาคำตอบที่โจทย์ต้องการ
4) ทบทวนคำตอบ (Review the solution : R) เป็นขั้นที่ผู้เรียนต้องทำการตรวจสอบคำตอบที่ได้ ว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่
จากการศึกษาองค์ประกอบที่ช่วยในการแก้โจทย์ปัญหาแล้ว สรุปได้ว่า องค์ประกอบที่ช่วยในการแก้โจทย์ปัญหา มีดังนี้
1) การเข้าใจโจทย์ปัญหา
2) การแปลงโจทย์ปัญหาให้เป็นรูปภาพ แผนภาพ สัญลักษณ์ หรือสมการทางคณิตศาสตร์
3) การหาคำตอบจากสูตร โดยการแทนค่าของตัวแปร
4) การทบทวนคำตอบ
โฆษณา