10 ก.ย. เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไม คนเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ มีความรู้การเงินดี อันดับต้น ๆ ของโลก

“เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์” รวมกันเรียกว่า กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มักได้รับการยกย่องให้เป็น ประเทศที่คนมีความรู้ทางการเงินดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
2
โดย GOBankingRates ได้ให้ 3 ประเทศนี้ ครองอันดับ 1 ร่วมกัน ในการเป็นประเทศที่อัตราส่วนของประชากรมีความรู้ทางการเงิน มากที่สุดในโลก (71%)
และจากการสำรวจของ Standard & Poor's เผยว่า เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ มีประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 7 ใน 10 สามารถตอบคำถามพื้นฐานทางการเงินได้ถูกต้อง
โดยตอบถูกเกินกว่า 75% ที่เกี่ยวกับเรื่อง อัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยทบต้น เงินเฟ้อ และการกระจายความเสี่ยง
ทำไม คนใน 3 ประเทศสแกนดิเนเวีย ถึงมีความรู้เรื่องการเงินดี ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
การมีความรู้ทางการเงินเพียงพอ นำไปสู่การจัดการและการตัดสินใจทางการเงินที่เหมาะสม ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงิน ภาพรวมของสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ
1
เมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลได้ดี ก็จะส่งเสริมต่อคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ
1
กลับกัน การขาดความรู้ทางการเงิน อาจนำไปสู่การตัดสินใจทางการเงินที่ผิดพลาด จนทำให้หนี้สินล้นพ้นตัว หรือหนักถึงขั้นล้มละลาย
1
ซึ่งก็กระทบต่อความเครียดและสภาพจิตใจ อันจะนำไปสู่ปัญหาครอบครัวและสังคมได้
แน่นอนว่า ความรู้ทางการเงิน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน ด้วยหลายเหตุปัจจัย
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราสามารถเรียนรู้ และยกระดับความรู้ให้เพิ่มขึ้นได้
ทีนี้ ลองมาดูกรณีตัวอย่างของ 3 ประเทศนี้ ที่ขึ้นชื่อว่า คนมีความรู้ทางการเงินดี เป็นอันดับ 1 ของโลกกัน
1
อย่างแรกเลย ทั้ง 3 ประเทศนี้มี “ระบบการศึกษา ที่เอื้อต่อการสร้างความรู้ทางการเงิน”
โดยมีการสอนเกี่ยวกับการเงินและการบริหารเงินส่วนบุคคล ที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา
1
อย่างในระดับชั้นประถมศึกษา ก็มีการสอนให้เด็กเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการรายรับ รายจ่าย การออม และการลงทุน ควบคู่ไปกับการสอนเรื่องคณิตศาสตร์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา
2
พอมาในระดับมัธยมศึกษา ก็มีสอนเกี่ยวกับการลงทุน ที่ลงรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงเรื่องการประกันภัย การกู้เงิน และการวางแผนการเงิน
2
โดยมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง
เช่น การวางแผนการเงินส่วนบุคคล การทำรายรับรายจ่ายของครอบครัว และการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ..
6
ทั้งนี้ การสอนจะถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของเด็ก เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง ๆ
4
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีและสื่อการสอนที่ทันสมัย เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจ เกิดการเรียนรู้ที่สนุก และช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
1
ซึ่งจากการประเมินความรู้ทางการเงินของ PISA ในปี 2018 ในกลุ่มเด็กวัย 15 ปี โดยประเทศเหล่านี้มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย เลยทีเดียว
มากกว่านั้น ยังมีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดอบรมและให้ความรู้ด้านการเงินแก่วัยผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ประชากรทุกวัย ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ทางการเงิน อีกด้วย
2
และสิ่งที่ตามมาก็คือเกิดเป็น “พฤติกรรมในการออมและการวางแผนการเงิน”
1
โดยเฉพาะการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ การบริโภคอย่างมีสติ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ที่ฝังรากลึกลงไปในความคิดของคนในประเทศ
1
และฝั่งของรัฐบาลเอง ยังมีการสนับสนุนระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุม เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการศึกษา ทำให้ประชาชนมีเงินเหลือเก็บออมมากขึ้น
อีกทั้งมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ที่ออมเงิน มีการส่งเสริมการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุน และมีส่วนร่วมในการลงทุน
เพื่อช่วยจูงใจให้คนมีการออม และวางแผนการเงินมากขึ้น
โดยผลสำรวจจากธนาคารกลางยุโรปในปี 2019 เผยไว้ว่า คนในประเทศเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ มีทัศนคติที่ดีต่อการออมหรือเก็บออมอย่างสูง
อย่างในประเทศเดนมาร์ก ประชากรถึง 84% มีการออมเงินเป็นประจำ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป 63%
ต่อมาเป็นเรื่องของ “นวัตกรรมทางการเงินที่ดี”
โดยประเทศเหล่านี้ มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่ทันสมัยและเข้าใจง่าย
จากข้อมูลของ Deloitte เผยว่า ประเทศนอร์ดิก
(เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) เป็นที่ตั้งของบริษัท Fintech ที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก
โดยมีผู้ให้บริการที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ใช้งานง่าย ทั้งการให้บริการทางการเงินแบบออนไลน์ แพลตฟอร์มการลงทุน แอปพลิเคชันจัดทำงบประมาณ รายรับรายจ่าย
1
บวกกับการส่งเสริมของรัฐบาล ที่ช่วยให้ประชาชน สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง โดยมีต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงิน โดยมีกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการอีกด้วย..
เป็นอีกแรงส่งสำคัญ ทำให้ประชาชนของประเทศสแกนดิเนเวีย มีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝนการจัดการทางการเงินอย่างปลอดภัย ซึ่งช่วยให้เปิดใจ และเสริมสร้างความรู้ด้านทักษะทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น
ถึงตรงนี้ ก็พอสรุปได้ว่า ความรู้ทางการเงินที่สูงของคนในประเทศเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
แต่เป็นวิสัยทัศน์ของประเทศ ที่วางรากฐานความรู้ทางการเงินให้คนในประเทศ ตั้งแต่ในระบบการศึกษา ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี และนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
1
ตลอดจนการสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ เกิดเป็นพฤติกรรมการออมและการวางแผนการเงินที่แข็งแกร่ง
รวมไปถึงนวัตกรรมทางการเงินที่ดี ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีคุณภาพ ควบคู่กับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ที่ช่วยเสริมทักษะทางการเงินของคนในประเทศให้ดียิ่งขึ้น
และผลลัพธ์ที่ได้คือ ทำให้คนเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ มีความรู้เรื่องการเงินดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นั่นเอง..
โฆษณา