9 ก.ย. เวลา 13:19 • สิ่งแวดล้อม

ปลาไหลไฟ้ฟ้าสร้างไฟฟ้าออกมาได้อย่างไร

ปลาไหลไฟฟ้าจัดอยู่ในสกุล Electrophorus ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด จัดอยู่ในกลุ่มของ Gymnotiformes หรือปลามีด ถึงแม้จะเรียกว่าปลาไหล แต่ก็ยังไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มของปลาไหลแท้ๆ อย่างกลุ่มของ Anguilliformes ซึ่งเป็นปลาที่รูปร่างคล้ายงู และไม่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ ส่วนปลาไหลไฟฟ้ามีลักษณะไปทาง ปลาคาร์พและปลาดุกมากกว่า
โดยปลาไหลไฟ้ฟ้ามีขนาดใหญ่ ความยาวสูงสุดถึง 2.5 เมตร และน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม ถึงแม้จะมีเหงือกเหมือนปลาทั่วไปแต่การหายใจส่วนใหญ่มาจากอากาศออกซิเจนทางปากมากกว่า 80% ซึ่งสามารถอยู่ในแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้แต่ก็ต้องขึ้นมาหายใจจากอากาศเป็นระยะๆ แหล่งที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำอะเมซอนและลุ่มน้ำโอริโนโกในทวีปอเมริกาใต้
ส่วนการสร้างกระแสไฟฟ้าของปลาไหลไฟ้ฟ้าอาศัยอวัยวะพิเศษสามส่วน คือ อวัยวะหลัก (Main organ) อวัยวะฮันเตอร์ (Hunter's organ) และอวัยวะแซค (Sach’s organ) ซึ่งประกอบด้วยเซลล์พิเศษประมาณ 6,000-10000 เซลล์ ที่เรียกว่า อิเล็กโตรไซต์ (Electrocytes) ที่ทำหน้าที่คล้ายแบตเตอรี่
เมื่อเซลล์เหล่านี้ถูกกระตุ้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปริมาณของอิออนภายในและภายนอกเซลล์ ส่งผลให้เกิดความต่างศักย์ไฟฟ้าขึ้น แต่ละเซลล์สามารถสร้างแรงดันไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เมื่อเซลล์ Electrocytes หลายหมื่นเซลล์ทำงานพร้อมกัน แรงดันไฟฟ้าจะรวมกันทำให้สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าสูงและสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาได้ทันทีเมื่อถูกคุกคามหรือตอนกำลังล่าเหยื่อ
โดยความแรงของกระแสไฟฟ้าขึ้นอยู่แต่ละสายพันธุ์ โดยข้อมูลจากการวิจัยได้เผยว่า
ปลาไหลไฟฟ้า
สายพันธุ์ Electrophorus electricus สายพันธุ์ดั้งเดิม ปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 480 โวลต์
และอีกสองสายพันธุ์ที่ได้ศึกษาและพบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ คือ
สายพันธุ์ Electrophorus varii ปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ระหว่าง 151 ถึง 572 โวลต์
และสายพันธุ์ Electrophorus voltai ซึ่งปล่อยกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 860 โวลต์ ถือเป็นแรงดันไฟฟ้าสูงที่สุดที่เคยบันทึกได้จากสัตว์ที่สามารถสร้างไฟฟ้าได้เอง
แต่ทั้งนี้ อวัยวะแต่ละส่วนของปลาไหลไฟฟ้ามีหน้าที่ต่างกันในการผลิตกระแสไฟฟ้า อวัยวะหลักและอวัยวะฮันเตอร์สร้างกระแสไฟฟ้าแรงสูง เพื่อใช้ในการช็อตหรือทำให้เหยื่อหมดสติ ส่วนอวัยวะแซคสร้างกระแสไฟฟ้าต่ำ ใช้ในการสื่อสารหรือรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว
ความอันตรายของกระแสไฟฟ้าของปลาไหลไฟฟ้ายังเป็นอันตรายต่อมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจและหัวใจรวมไปถึงการจมน้ำเพราะถูกไฟฟ้าซ็อตก็เป็นอะไรที่ควรระวัง
และทำไมปลาไหลไฟฟ้าถึงไม่ถูกช็อตเอง? ถึงแม้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่สมมุติฐานหนึ่งคือ น้ำรอบ ๆ ปลาไหลดูดซับกระแสไฟฟ้าไปซะส่วนใหญ่ กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมามีความเร็วเพียง 2 มิลลิวินาที ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อปลาไหลไฟฟ้านั่นเอง
Reference
โฆษณา