9 ก.ย. 2024 เวลา 13:25 • ประวัติศาสตร์

ชาเลนเจอร์: 73 วินาทีที่ทะยานไม่ถึงอวกาศ

28 มกราคม 1986 วันที่ชาวอเมริกันทั้งประเทศ รวมไปถึงทั้งโลกต่างไม่มีวันลืม กับวินาทีประวัติศาสตร์ที่ได้รับชมพร้อมกันผ่านทางหน้าจอทีวี วินาทีที่กระสวยอวกาศในภารกิจชาเลนเจอร์ (Challenger) ระเบิดกลางอากาศ หลังจากที่พุ่งทะยานจากฐานปล่อยกระสวยอวกาศ เคเนดี สเปซ เซ็นเตอร์ (Kennedy Space Center) เพียงแค่ 73 วินาที นำมาสู่การสูญเสียลูกเรือทั้ง 7 ราย ที่ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งดังกล่าว โดยเฉพาะคุณครูสาวจากเมืองนิวแฮมเชอร์ ‘คริสตา แมคคัลลอฟฟ์’ (Christa McAuliffe) ที่ผ่านการคัดเลือกจากคุณครูในประเทศที่สมัครเข้าร่วมการคัดเลือกกว่า 11,000 ชีวิต และถือเป็นพลเรือนคนแรกที่ได้เป็นลูกเรือและร่วมปฎิบัติภารกิจทางด้านอวกาศ
จากด้านซ้ายมือของแถวบน: Ellison S. Onizuka, Sharon Christa McAuliffe, Greg Jarvis และ Judy Resnik จากด้านซ้ายมือของแถวล่าง: Mike Smith, Dick Scobee และ Ron McNair (Photo by National Aeronautics and Space Administration (NASA))
ภารกิจหลัก ๆ ของการทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศในครั้งดังกล่าวนั้น คือการนำส่งดาวเทียมสื่อสารของสหรัฐฯ TDRS-B ปล่อยเข้าสู่วงโคจร และทำภารกิจการสอนหนังสือจากนอกโลก โดยครูสาวอย่างคริสตาที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการค้นหาเมื่อปีค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรย์แกน (Ronald Reagan) ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
ความผิดพลาดที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมกลางอากาศนี้ เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดของตัวยางโอริงชั้นแรก (Primary O-Ring) ที่ซีลระหว่างชิ้นส่วนของจรวจเชื้อเพลิง หรือจรวจขับดันกระสวยอวกาศ (Solid Rocket Booster: SRB) เกิดการหดตัว ทำให้เชื้อเพลิงที่บรรจุภายในเกิดการรั่วไหลออกมา และปรากฏเป็นกลุ่มควันขนาดย่อม ๆ ระหว่างที่พุ่งทะยานออกจากฐานปล่อยกระสวยอวกาศ รวมไปถึงก่อนหน้านั้น มีน้ำค้างแข็งเกาะอยู่ที่ฐานปล่อยกระสวยอวกาศ อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เย็นลง ทำให้การปล่อยกระสวยอวกาศขึ้นสู่ชั้นอวกาศของภารกิจนี้ต้องเลื่อนออกไป จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องขึ้นทะยานในวันที่ 24 มกราคม 1986 ต้องเลื่อนออกมาถึง 4 ครั้งด้วยกัน และอีกหนึ่งปัจจัยคืออุณหภูมิของอากาศโดยรอบไม่เหมาะสม ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญของทางนาซาและผู้เชี่ยวชาญที่รับหน้าที่สร้างจรวดเชื้อเพลิงได้ให้คำแนะนำว่า ต้องรอให้ถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมก่อน คือ 53 องศาฟาเรนไฮต์ (12 องศาเซลเซียส) ตัวของยางโอริงที่ซีลอยู่ภายในจะกลับมาอยู่ในสภาพปกติ และสามารถปล่อยกระสวยอวกาศขึ้นไปได้ แต่คำเตือนที่ว่านั้นก็ไม่เป็นผล เมื่อตัดสินใจปล่อยกระสวยอวกาศในเวลา 11 นาฬิกา 38 นาที และอุณหภูมิในขณะนั้นอยู่ที่ 36 องศาฟาเรนไฮต์ (2 องศาเซลเซียส)
กราฟิกจำลองจรวจเชื้อเพลิง หรือจรวจขับดันกระสวยอวกาศ (Solid Rocket Booster: SRB)
กราฟิกจำลองตำแหน่งตัวยางโอริงชั้นแรก (Primary O-Ring) และตัวยางโอริงชั้นที่ 2 (Secondary O-Ring) ที่ซีลระหว่างชิ้นส่วนของจรวจเชื้อเพลิง หรือจรวจขับดันกระสวยอวกาศ (Solid Rocket Booster: SRB)
กลุ่มควันสีดำขนาดเล็กที่เล็ดลอดออกมาจากจรวจเชื้อเพลิงลำขวามือของกระสวยอวกาศ (ด้านซ้ายมือของภาพ) (Photo by National Aeronautics and Space Administration (NASA))
น้ำค้างแข็งที่เกาะบนฐานปล่อยกระสวยอวกาศ เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นจัด
หลังจากที่ทะยานขึ้นไปร่วม ๆ 1 นาที ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นที่ได้ปรากฏให้ชัดเจนขึ้น เมื่อกล้องได้จับให้เห็นภาพกลุ่มเพลิงที่พวยพุ่งออกมาจากจรวจเชื้อเพลิง และเมื่อสิ้นเสียงคำสั่งให้เปิดระบบเชื้อเพลิงหลัก นั่นคือวินาทีที่กระสวยอวกาศได้ระเบิดกลางอากศ ภาพของวินาทีดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไปสู่สายตาผู้ชมชาวอเมริกันและทั่วทั้งโลก ผ่านการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (Cable News Network: CNN) ทั้งผู้ที่เข้าชมการปล่อยกระสวยอวกาศจากเคเนดี สเปซ เซ็นเตอร์, ผู้ชมตามบ้านเรือนต่าง ๆ และเหล่าเด็กนักเรียนที่รับชมวินาทีประวัติศาสตร์นี้ ต่างตกอยู่ในสภาวะอารมณ์โศกเศร้าโดยทันที จากที่ก่อนหน้านี้ต่างภูมิใจกับการปล่อยกระสวยอวกาศ เพราะนี้ไม่ใช่ภารกิจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภารกิจของมวลมนุษยชาติ และเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญในด้านของการศึกษา
จากด้านหน้า: เจย์ เฮนรี กรีน (Jay Henry Greene) และ อลัน ลี บริสกอร์ (Alan Lee Briscoe) ผู้กำกับการบินในภารกิจชาเลนเจอร์ กับสีหน้าที่ตื่นตกใจ หลังจากที่ได้เห็นภาพถ่ายทอดสดและทราบว่ากระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ระเบิดกลางอากาศ (Photo by National Aeronautics and Space Administration (NASA))
ชิ้นส่วนปีกขวาของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ที่กู้ขึ้นมาได้จากใต้น้ำ ที่ระดับความลึก 70 ฟุต (ประมาณ 21 เมตร) เมื่อวันที่ 18 เมษายน 1986 (Photo by National Aeronautics and Space Administration (NASA))
โศกนาฏกรรมของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ในครั้งดังกล่าวนี้ ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในรอบ 19 ปี นับจากครั้งที่นาซาได้สูญเสียลูกเรือ 3 ชีวิต ระหว่างการฝึกในโปรแกรมอะพอลโล 1 (Apollo 1) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2510 ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการทดสอบระบบพลังงานภายในยาน โดยสาเหตุเกิดจากการเกิดเพลิงไหม้ภายในตัวกระสวยอวกาศ นักบินทั้ง 3 ได้ถูกไฟคลอกจนเสียชีวิตคาที่และอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ หลังจากเกิดเหตุการณ์กับกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์นั้น นาซาและสหรัฐฯ ได้งดโปรแกรมการปล่อยกระสวยอวกาศเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้กับการสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุ และใช้ช่วงเวลาที่เว้นว่างไปนั้น ทำการออกแบบจรวดเชื้อเพลิงขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงออกแบบระบบอพยพฉุกเฉิน หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดระหว่างทำภารกิจ ทดสอบจนมั่นใจดีแล้วว่าไม่มีอันตรายหรือข้อผิดพลาดซ้ำอีก ภารกิจนอกอวกาศได้กลับมาดำเนินการต่ออีกครั้ง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 กับภารกิจกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี่ (Discovery) ภารกิจที่เปรียบเสมือนความหวังครั้งใหม่ของนาซาและชาวอเมริกันในการเสาะแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ นอกโลกใบนี้ ทางด้านครอบครัวของลูกเรือที่เสียชีวิตนั้น ได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรภายใต้ชื่อ Challenger Center for Space Science Education เพื่อจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทางด้านอวกาศให้กับผู้ที่สนใจและมีความใฝ่ฝันในการเป็นนักบินอวกาศคนต่อไป
กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี่ กำลังทะยานขึ้นจากฐานปล่อยกระสวยอวกาศภายในเคเนดี สเปซ เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 (Photo by National Aeronautics and Space Administration (NASA))
โฆษณา