12 ก.ย. 2024 เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

นายจ้างออสซีไม่ถูกใจกฎหมายใหม่ 'ให้สิทธิลูกจ้างไม่ต้องรับสายนอกเวลางาน' ยิ่งทำประสิทธิภาพงานลดลง

ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับ ‘กฎหมายสิทธิตัดการเชื่อมต่อ (Right to disconnect)’ ของออสเตรเลีย ที่เพิ่งจะบังคับใช้ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยบังคับใช้กับองค์กรที่มีพนักงานตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป (ส่วนธุรกิจขนาดเล็กลูกจ้างน้อยกว่า 15 คน จะมีผลบังคับใช้ในวันที่เดียวกันในปี 2568)
โดยภาพรวมคือจะบังคับใช้ครอบคลุมถึงพนักงานส่วนใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย มีเนื้อหาสาระสำคัญคือ อนุญาตให้วัยทำงานมีสิทธิที่จะไม่ตอบอีเมล รับสายโทรศัพท์ หรืออ่านข้อความใด ๆ เกี่ยวกับงาน ในช่วงนอกเวลางานได้
ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้เจ้านายติดต่อพนักงาน หรือห้ามไม่ให้พนักงานติดต่อกันเอง ยังติดต่อได้แต่ให้สิทธิแก่พนักงานที่จะเพิกเฉยต่อการติดต่อดังกล่าวได้โดยไม่ต้องมีการลงโทษทางวินัย
อย่างไรก็ตาม มีนายจ้างบางส่วนไม่เห็นด้วย สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (the guardian) รายงานถึงความเห็นของกลุ่มนายจ้างธุรกิจในออสเตรเลีย ระบุว่า กฎหมายนี้อาจนำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงานของลูกจ้างได้ หากพนักงานใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวทั่วประเทศ อาจทำให้เกิดความสับสน ความไม่แน่นอน และลดประสิทธิภาพในการทำงานลง
ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานถึงกรณีของ เกล็น เดย์ (Glen Day) นายจ้างที่มีพนักงาน 120 คน ในธุรกิจร้านอาหารของเขา ในออสเตรเลีย เขาแสดงความกังวลและบอกว่า หลังจากกฎหมายใหม่บังคับใช้ ถือเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างมาก หากติดต่อพนักงานไม่ได้ในสถานการณ์เร่งด่วน
“มันเป็นอุปสรรคจริงๆ ผมมองว่ากฎระเบียบนี้ใช้ไม่ได้ผลสำหรับนายจ้างในอุตสาหกรรมการบริการ ซึ่งลูกจ้างมักจะต้องทำงานล่วงเวลา เนื่องจากกรอบเวลางานของพวกเขาไม่เหมือนงานประจำแบบ 9.00-17.00 น. (Nine-to-Five) ถ้ามีพนักงานสักคนโทรมาลาป่วย คุณต้องหาคนใหม่มาแทนที่ สำหรับธุรกิจอย่างเรา มันแทบจะเป็นไปไม่ได้” เกล็น เดย์ สะท้อนมุมมองส่วนตัว
ด้านตัวแทนจาก “หอการค้าและอุตสาหกรรมออสเตรเลีย” ชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวอาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานที่ซบเซาอยู่แล้วในปัจจุบัน จะยิ่งลดลงไปมากว่าเดิมอีก
#กรุงเทพธุรกิจLifestyle #กรุงเทพธุรกิจWorklife #กรุงเทพธุรกิจ
โฆษณา