10 ก.ย. เวลา 08:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เมื่อเกิดอาชญากรรมในอวกาศ

[#FuturePossible]: การทำธุรกิจในอวกาศดูเหมือนจะเริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดอาชญากรรมบนอวกาศจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องไกลตัว
ในปัจจุบันเรามีอย่างน้อย 3 ผู้เล่นเอกชนยักษ์ใหญ่ ได้แก่ Virgin Galactic, Blue Origin และ Space X แสดงความสนใจและวางแผนการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง มีการซื้อขายตั๋วยานอวกาศ ไม่แน่ว่าจำนวนเงินที่ยอมจ่ายอาจเป็นสิ่งสำคัญกว่ามาตรฐานความปลอดภัยในการคัดกรองสมาชิกผู้เข้าร่วมเดินทาง
หากมีเหตุร้ายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เรามีกฎ (หมาย) ใดบ้างที่สามารถใช้ในการจัดการอาชญากร แล้วคดีความเหนือขอบเขตอำนาจรัฐบนโลกต้องไปขึ้นศาลที่ไหน เพื่อเป็นการหาคำตอบให้กับปัญหาดังกล่าว เราจะขอแบ่งเหตุการณ์ขึ้นเป็น 3 กรณีหลักที่เป็นไปได้
1. เมื่ออาชญากรรมเกิดขึ้นในยานอวกาศ
บทบัญญัติข้อที่ 8 ของสนธิสัญญาว่าด้วยหลักการบริหารกิจการรัฐในการสำรวจและใช้พื้นที่นอกโลกรวมทั้งดวงจันทร์และเทหวัตถุอื่นๆบนอวกาศที่มี 91 ประเทศทำการตกลงร่วมกันระบุว่า “วัตถุใดใดบนอวกาศที่มาจากรัฐผู้ลงนามภายใต้สนธิสัญญา ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐดังกล่าว และ รัฐดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจทางกฎหมายในการควบคุม กำหนด และพิพากษา วัตถุหรือบุคลากรใดใดที่อยู่บนวัตถุนั้นทั้งในขอบเขตบนพื้นที่อวกาศและในขอบเขตบนเทหวัตถุอื่นๆ”
ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในยานอวกาศของประเทศ ก. จะถูกตัดสินโดยกฎหมายของประเทศ ก. แต่เพียงผู้เดียว พูดง่ายๆหลักการนี้มีความคล้ายคลึงกับหลักกฎหมายการบินพลเรือนที่ให้อำนาจการตัดสินเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศที่สายการบินขึ้นทะเบียนอยู่
2. เมื่ออาชญกรรมเกิดขึ้นบนสถานีอวกาศนานาชาติ
สถานีอวกาศเป็นพื้นที่ที่มีองค์การระหว่างประเทศและตัวแทนรัฐหลายองค์การ เช่น NASA (จากประเทศสหรัฐอเมริกา), Roscosmos (จากประเทศรัซเซีย), JAXA (จากประเทศญี่ปุ่น), ESA (จากสหภาพยุโรป), and CSA (จากประเทศแคนนาดา) ใช้งานร่วมกัน ทำให้อาจเกิดความสับสนในอำนาจการตัดสินใจ
แต่ทั้งนี้บทบัญญัติข้อที่ 5 ของข้อตกลงทางกฎหมายที่มี 15 ประเทศลงนามร่วมกันในปี พ.ศ. 2541 ได้ระบุว่า “รัฐภาคีแต่ละรัฐจะเป็นผู้ถือสิทธิ์และขอบเขตของอำนาจในการบริหารจัดการวัตถุ องค์ประกอบ และบุคลากรที่ขึ้นทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนั้นในสถานีอวกาศ”
จึงอาจกล่าวได้ว่าหากมีอาชญากรรมเกิดขึ้นบนสถานีอวกาศในบริเวณที่รัฐ ก. เป็นผู้ครอบครอง ผู้กระทำผิดและความเสียหายจะถูกประเมินภายใต้กฎหมายของรัฐ ก. แม้ว่าผู้กระทำผิดจะใช่ หรือ ไม่ใช่ผู้ถือสัญชาติของรัฐ ก. ก็ตาม ซึ่งรูปแบบการให้อำนาจรัฐนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกับกรณีของข้อ 1
3. เมื่ออาชญากรรมเกิดขึ้นบนดาวดวงอื่นหรือในพื้นที่ของจักรวาลที่ไม่ได้เป็นสิ่งก่อนสร้างของมนุษย์
บทบัญญัติข้อที่ 2 ของสนธิสัญญาเดียวกันด้านการสำรวจอวกาศฯที่ได้พูดถึงในกรณีที่ 1 ข้างต้น ระบุว่า “พื้นที่นอกโลกรวมทั้งดวงจันทร์และเทหวัตถุอื่น ๆ อวกาศไม่อยู่ใต้อาณัติของชาติใดชาติหนึ่งเพื่อการถือครองหรือวัตถุประสงค์ใดๆก็ตาม”
หมายความว่าไม่มีผู้ใดหรือรัฐใดมีอำนาจอธิปไตยบนผืนจักรวาลและพื้นที่บนดวงดาวต่าง ๆ ได้ คดีอาจจะต้องพึ่งพิงคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งหากจำเลยไม่สามารถปรากฏตัวต่อศาลได้ ด้วยข้ออ้างด้านระยะทางหรือความไม่สะดวกอื่น ๆ เป็นไปได้ว่าคดีความอาจไม่จบสิ้นหรือคดีอาจสิ้นอายุความก่อน
การเปิดเสรีธุรกิจทางอวกาศจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจักรวาลแต่ในอีกมุมก็อาจทำให้เกิดความซับซ้อนต่อการบริหารจัดการในมิติที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน หากมีเหตุการณ์อุบัติเหตุหรืออุบัติภัยเกิดขึ้น กฎหมายที่มีอยู่ไม่น่าเพียงพอต่อการเอื้อให้เกิดการจัดการใด ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต
- คดีการก่ออาชญากรรมในอวกาศอาจใช้ระยะเวลาในการพิพากษายาวนานเกินกว่าอายุขัยของการพิจารณาคดีในปัจจุบันเนื่องจากมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับระหว่างประเทศหลายฝ่าย
- ข้อกฎหมายที่ไม่ครอบคลุมทุกประเทศและทุกมิติอาจเป็นตัวการยืดเวลาการเปิดเสรีธุรกิจทางอวกาศและการท่องเที่ยวในอวกาศ
อ้างอิงข้อมูลจาก: theconversation, cntraveler, slate, esa, howstuffworks
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #Space #Crime #CrimeSpace #อาชญากรรม #อาชญากรรมบนอวกาศ #อวกาศ #MQDC
โฆษณา