10 ก.ย. 2024 เวลา 07:34 • หุ้น & เศรษฐกิจ

หุ้น K-Pop ร่วงยกแผง 4 บิ๊กค่ายเพลงดิ่งกว่า 29-56% ในปี 2567

“หุ้น K-Pop” ร่วงยกแผง 4 บิ๊กค่ายเพลงดังดิ่งกว่า 29-56% ในปี 2567 แม้ความนิยมของ K-pop เพิ่มขึ้นในแวดวงเพลงระดับโลก แต่กลับขาดทุนหนัก YG ร่วงลง 94.5% JYP ลดลง 79.6% SM ลดลง 30.7% และ Hybe ลดลง 37.4%
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ศิลปิน K-Pop จากเกาหลีใต้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการขึ้นแสดงในงานเทศกาลดนตรีชั้นนำในตะวันตกและติดชาร์ตอันดับหนึ่ง แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นได้จากผลการดำเนินงานของค่ายเพลง
โดย 4 ค่ายเพลง K-pop ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ล้วนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อย่าง Hybe Corporation เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Kospi ขณะที่ SM Entertainment, JYP Entertainment และ YG Entertainment จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Kosdaq ในปี 2567 หุ้น Hybe ร่วงลง 29%, SM ร่วงลง 36% และ YG ร่วงลง 37%
บริษัทที่ร่วงลงมากที่สุดคือ JYP Entertainment ซึ่งร่วงลงมากกว่าครึ่งหนึ่งตั้งแต่ต้นปี ร่วงลง 56% สวนทางกับศิลปิน K-pop ที่ทำลายสถิติบน YouTube และ Spotify และแม้กระทั่ง Billboard Charts
ในเวลาเดียวกัน กำไรของ 4 บริษัทค่ายเพลงก็ลดลง โดยแต่ละบริษัทมีการรายงานการขาดทุนจากการดำเนินงานปีต่อปีในไตรมาสที่ 2 เริ่มจากกำไรจากการดำเนินงานของ YG ร่วงลง 94.5% ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานของ JYP ลดลง 79.6% SM และ Hybe บันทึกการลดลงเล็กน้อยที่ 30.7% และ 37.4% ตามลำดับ
ขณะที่สื่อเกาหลีใต้รายงานว่ายอดขายอัลบั้มส่งออกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ในทำนองเดียวกัน Seoul Economic Daily รายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมว่ายอดขายอัลบั้มส่งออกของ 4 บริษัท ในช่วงครึ่งปีแรกลดลงเหลือ 44.74 ล้านชุด จาก 53.45 ล้านชุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
Kim Gyuyeon นักวิเคราะห์ทางการเงินจาก Mirae Asset Securities กล่าวว่า แม้ว่า BTS และ Blackpink จะทำลายสถิติต่างๆ มากมาย แต่ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่วงที่เพิ่งเดบิวต์เท่านั้นที่สามารถทำซ้ำความสำเร็จนั้นในตะวันตกได้ จากมุมมองของนักลงทุน เรื่องนี้ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าตลาดไม่ได้ขยายตัวเลยตั้งแต่ปี 2563-2564
องค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้คือ “แฟนไซน์” ซึ่งแฟนๆ จะเข้าร่วมเพื่อพบกับศิลปินและขอลายเซ็นบนอัลบั้ม โดยยิ่งซื้ออัลบั้มมากเท่าไหร่ ก็จะได้สิทธิ์เข้าร่วมงานแจกลายเซ็นจากแฟนๆ มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น กิจกรรมเหล่านี้จึงสร้างแรงจูงใจให้แฟนๆ ซื้ออัลบั้มมากขึ้นแม้ในยุคของการสตรีมเพลง
ทั้งนี้ ยอดขายอัลบั้มที่ลดลงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่ยังทำให้เกิดคำถามว่าทฤษฎีการลงทุนที่ว่า “เติบโตอย่างต่อเนื่องและสูง” นั้นล้มเหลวจริงหรือไม่
อ่านเพิ่มเติม :https://moneyandbanking.co.th/2024/128613/
โฆษณา