10 ก.ย. 2024 เวลา 23:16 • ข่าว

โรคสตีเวนส์จอห์นสัน คืออะไร?

ในฐานะเภสัชกร คิดว่าคงไม่มีใครในวิชาชีพนี้ไม่รู้จักโรคสตีเวนส์จอห์นสัน หรือที่เรามักเรียกกันเล่นๆว่า SJS ( Steven-Johnson Syndrome) ซึ่งเอาจริงๆก็ไม่ใช่อะไรที่
Rare ขนาดนั้น ตั้งแต่เป็นเภสัชมาก็เคยเจอเคสที่น่าจะตรงกับ SJS ประมาณ 3-4 เคส
และจริงๆในเพจนี้ก็เคยพูดถึง SJS ไปแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่น่าจะยังไม่เห็นภาพกัน วันนี้เลยจะมาลงลึกๆเกี่ยวกับโรคสตีเวนส์จอห์นสัน หรือ Steven-Johnson Syndrome กันครับ
และขอนิดนึง ผมไม่พูดถึงอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในข่าวนะ ถือว่าเจ็บหนักกันทุกฝ่ายแล้ว จะโฟกัสที่ตัวโรคอย่างเดียว
ภาพของ Albert M. Steven และ Frank Johnson
โรคสตีเวนส์จอห์นสัน หรือ Steven-Johnson Syndrome (SJS) เป็นกลุ่มอาการที่มีผลมาจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองไวกว่าปกติ มีรายงานครั้งแรกใน ปี ค.ศ.1922 โดยกุมารแพทย์ชาวอเมริกัน Albert M. Steven และ Frank Johnson โดยพบเด็กชายสองคน อายุ 7 ขวบและ 8 ขวบ มีอาการไข้ แผลเต็มปาก ตาอักเสบอย่างรุนแรง และผื่นตามตัว ซึ่งต่อมาได้ ตั้งชื่อโรคตามกุมารแพทย์สองท่านดังกล่าว
อาการที่พบได้บ่อยของ SJS
โรคสตีเวนส์จอห์นสัน เป็นโรคที่เกิดจากกลไกการตอบสนองของภูมิคุ้มกันชนิด 4C หรือ IVc (ทุกวันนี้แพ้ยามี 7 type แล้วนะครับ ไม่ใช่ 4) โดยเกิดผ่านการกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด cytotoxic T lymphocyte ให้หลั่งสาร perforin และ granzyme B ออกมาทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ เช่น เซลล์ผิวหนัง(keratinocyte) หรือเซลล์ตับ (hepatocyte) ทำให้เกิดโรคสตีเวนส์จอห์นสัน หรือภาวะตับอักเสบจากยา(drug induced hepatitis)
ก่อนมีอาการทางผิวหนัง 1-14 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด จากนั้นจะมีผื่นตุ่มขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อบุผิว ผื่นที่ผิวหนังเริ่มที่หน้า คอ คาง ลำตัว แล้วลามไปทั่วร่างกาย เริ่มแรกมีลักษณะเป็นผื่นแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำพุพอง และลอกออก ผื่นมักจะไม่คัน เป็นอยู่นาน 2-6 สัปดาห์ สำหรับลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า target lesion ไม่จำเป็นต้องพบในผู้ป่วยทุกราย
ลักษณะดังกล่าวเป็นผื่นในช่วงแรกๆ จะมี ลักษณะเหมือนเบ้าตาวัว พบได้ทั้งที่เยื่อบุตา จมูก ปาก อวัยวะเพศ และทวารหนัก หากไม่รับรักษาอย่างทันท่วงนี้ผื่นจะมีลักษณะเหมือนแผลไฟไหม้ กระจายกินบริเวณกว้างออกเรื่อยๆทั่วทั้งร่างกาย
สาเหตุที่ชัดเจนของโรคสตีเวนส์จอห์นสันยังไม่แน่ใจ แต่จากหลักฐานทางวิชาการและประสบการณ์ส่วนตัว ส่วนใหญ่มักมีประวัติการสัมผัสสารเคมีหรือยาบางชนิด โดยส่วนใหญ่ โดยส่วนใหญ่มักเป็นยาปฏิชีวนะกลุ่ม Sulfa หรือ Penicillin ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ยากันชักบางตัวเช่น Barbiturates, Carbamazepine, Phenytoin ยาเก๊าชื่อ Allopurinol(ทุกวันนี้ต้องตรวจยีนส์แพ้ยาก่อนเริ่มยาครั้งแรก)
นอกจากนี้ โรคบางอย่างก็ทำให้เกิดการตอบสนองในลักษณะของโรคสตีเวนส์จอห์นสัน ได้ เช่น herpes simplex virus, adenovirus ,diphtheria เป็นต้น
ความน่ากลัวของโรคสตีเวนส์จอห์นสันคือ ความเสียหายดังกล่าวไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังชั้นบน แต่เป็นความเสียหายจากระบบภูมิคุ้มกันที่กระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย ทำให้ต่อให้หายแล้วก็จะทิ้งร่องรอยเอาไว้ ยากที่จะรักษาให้หายเป็นปรกติ นอกจากนี้ หากผื่นแพ้ไหมกระจายกินบริเวณกว้าง อาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ส่วนที่ในข่าวใช้คำว่า "โรคสตีเวนส์จอห์นสัน ระดับ 10" ในฐานะเภสัชรู้สึกงงนิดหน่อย เพราะโดยปกติเราจะถูกสอนว่า โรคสตีเวนส์จอห์นสันที่กินบริเวณเกินกว่า 30% ของร่างกาย จะกลายเป็นโรคสตีเวนส์จอห์นสันรุนแรงที่เรียกอีกชื่อว่า toxic epidermal necrolysis (TEN) ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าชื่อนี้มันฟังดูเข้าใจและเห็นภาพมากกว่าการใช้คำว่า "โรคสตีเวนส์จอห์นสัน ระดับ 10" หากแพทย์ท่านใดได้อ่านและมีความรู้ด้านนี้สามารถคอมเม้นต์เสริมความรู้ได้นะครับ
ภาวะนี้ไม่มีการปฐมพยาบาล อย่าพยายามเสียเวลาทำอะไร หากต้องสงสัยว่ากินยาอะไรหรือสัมผัสสารเคมีอะไรแล้วมีอากรตรงกับภาวะดังกล่าว รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดคือรายการยาหรือสารเคมีที่คุณเคยกินหรือสัมผัสตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เก็บมาให้ละเอียดทั้งจากโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา ร้านชำ สั่งจากที่ไหน เริ่มกินวันไหน กินไปเท่าไหร่ มีอาการวันอะไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยคุณได้มาก สามารถทำให้แพทย์และเภสัชกรมีความชัดเจนในการวินิจฉัยอาการดังกล่าวได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
ขอให้กรณีนี้เป็นบทเรียนต่อทุกฝ่าย เรื่องคดีค่อยว่ากัน แต่อยากให้ทุกคนได้ตระหนักว่าอันตรายจากการแพ้ยานั้นรุนแรงและใกล้ตัวกว่าที่คิด และเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายตั้งแต่แพทย์ เภสัชกร พยาบาล จนถึงผู้รับบริการควรมีความเข้าใจและมีบทบาทร่วมกันในการป้องกันการแพ้ยาซ้ำ ที่จะสร้างอันตรายที่ไม่ควรเกิด สร้างราคาที่ไม่ควรจ่าย สร้างความสูญเสียที่ไม่มีใครควรได้รับ
อ้างอิง
โฆษณา