11 ก.ย. เวลา 11:00 • การศึกษา

🧑‍🏫 “กรอบความคิด” ของ “ผู้นำ” ตามแนวคิดทฤษฎี X-Y ของ Douglas McGregor

เมื่อวานนี้เราได้ชวนให้ทุกคนลองสำรวจ "กรอบความคิด" ผ่านแบบประเมินง่าย ๆ 10 ข้อ และให้ทุกคนได้ลองจดคำตอบเก็บเอาไว้ และเดี๋ยววันนี้เรามาคุยกันต่อว่า... คำตอบที่เราตอบไป และแนวคิดของทฤษฎี X-Y มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ?
ก่อนที่จะไปเรียนรู้เรื่องทฤษฎี X และทฤษฎี Y พร้อมทั้งเฉลยว่าคำตอบของแบบประเมินคืออะไร หากใครที่ยังไม่ได้ลองทำแบบประเมินอยากเชิญชวนให้ลองกลับไปอ่านและทำแบบประเมินกันก่อนนะแล้วค่อยมาอ่านต่อ โดยสามารถคลิกที่ลิงก์ด้านล่างนี้ เพื่อย้อนกลับไปอ่านและทำแบบประเมินครับ
🧑‍🏫 Douglas McGregor เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านการจัดการและนักจิตวิทยา เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานในด้านพฤติกรรมองค์กรและทฤษฎีการจัดการ เขายังเป็นอาจารย์สอนที่ MIT Sloan School of Management
📒 Douglas McGregor ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องทฤษฎี X และทฤษฎี Y ผ่านการเขียนหนังสือที่ชื่อว่า "The Human Side of Enterprise" เมื่อปี ค.ศ. 1960 ซึ่งถูกนำมาใช้แทนมุมมองของ "ผู้นำ" ต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานที่แตกต่างกัน ซึ่งมุมมองที่แตกต่างกันของผู้นำทั้ง 2 ประเภท จะส่งผลต่อวิธีการบริหารและการควบคุมพนักงานที่แตกต่างกัน
📌ความหมายของทฤษฎี X และทฤษฎี Y คือ
• ทฤษฎี X เป็นมุมมองแบบดั่งเดิม (Traditional View) ที่ "ผู้นำ" มักมองว่า โดยธรรมชาติแล้วพนักงานไม่ชอบทำงานและขาดแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้ผู้นำต้องมีกฎและบทลงโทษเข้ามาควบคุมพนักงานเหล่านี้ให้ทำงานได้ตามเป้าหมาย
• ทฤษฎี Y เป็นมุมมองแบบมนุษย์นิยม (Humanistic View) ที่ "ผู้นำ" มักมองว่า พนักงานทุกคนมีแรงจูงใจในการทำงานอยู่แล้ว และมีความต้องการทำงานเพื่อแลกกับผลตอบแทน ส่งผลให้ผู้นำในแบบ Theory Y เชื่อว่าแรงจูงใจที่ทำให้พนักงานทำงานสำเร็จอยู่ที่ผลตอบแทน
📌 สมมติฐานและรูปแบบการดูแลผู้คนในองค์กรตามแนวคิดของทฤษฎี X และทฤษฎี Y
🗡 สมมติฐานของทฤษฎี X
• ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้ชอบการทำงาน
• พนักงานทำงานเพียงเพราะต้องการ "เงิน" และ "ความมั่นคง" เท่านั้น
• พนักงานส่วนใหญ่ "ไม่มีแรงจูงใจ" ในการทำงาน รวมถึงความต้องการพัฒนาตนเอง
• มักมีพฤติกรรมเลี่ยงความรับผิดชอบ หากสามารถทำได้
• ต้องใช้กฎ การบังคับ และการลงโทษเพื่อกระตุ้นให้ทำงาน
🗡 รูปแบบการดูแลและจัดการผู้คนของผู้ตามทฤษฎี X
จะมาในรูปแบบของการมีกฎกติกาที่เข้มงวด ใช้การสั่งการและการบัญชาการเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีความเชื่อว่ามนุษย์ต้องถูกบังคับและต้องกระตุ้นด้วยการลงโทษ
🎷 สมมติฐานของทฤษฎี Y
• พนักงานต้องการทำงาน โดยมี "เป้าหมาย" เป็น "ค่าจ้าง" และ "ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน"
• พนักงาน "มีความรับผิดชอบ" และสามารถ "จัดการตนเอง" เพื่อทำให้งานเสร็จตามเป้าหมายได้
• พนักงานมี "แรงบันดาล" และต้องการ "ความก้าวหน้า" ในหน้าที่การงาน
• พนักงานมี "ความคิดสร้างสรรค์" และต้องการ "การแสดงความเห็น"
• ไม่จำเป็นต้องใช้กฎเกณฑ์ที่รัดกุมและการบังคับเพื่อกระตุ้นให้พนักงานทำงาน
🎷 รูปแบบการดูแลและจัดการผู้คนของผู้ตามทฤษฎี Y
จะมาในรูปแบบของการมีกติกาที่ชัดเจน แต่ไม่รัดกุมจนไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้ ผู้นำมักให้อิสระกับพนักงานเพื่อให้พวกเขาสามารถคิดออกแบบวิธีการทำงานได้อย่างอิสระ แต่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน เน้นการ "ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้าง" มากกว่า "การสั่งการ" เพราะพวกเขาเชื่อว่า "มนุษย์มีศักยภาพในตัวเอง และทุกคนมีความรับผิดชอบต่องานที่ตัวได้รับมอบหมาย"
นี่คือสมมติฐานและรูปแบบการดูแลผู้คนของผู้นำตามแนวคิดทฤษฎี X และทฤษฎี Y และหากทุกคนได้ลองย้อนกลับไปดูตัวเลือกของแบบประเมินเมื่อวานนี้ก็จะทำให้ได้เห็นว่า...
ตัวเลือก A มีสมมติฐานความเชื่อแบบ "ทฤษฎี X"
ตัวเลือก B มีสมมติฐานความเชื่อแบบ "ทฤษฎี Y" นั่นเอง
คราวนี้หลายคนคงกังวลว่า... โห... ฉันเลือกข้อ A เยอะมาก และตามที่อ่านมาแนวคิดแบบทฤษฎี X ดูเป็นลบ ดูไม่ดีเลย ฉันต้องเลิกทำตัวแบบนั้นแล้วเปลี่ยนมาเป็น Y แล้ว !!!
คุณจะเลือกทำอย่างไรต่อไปอันนั้นก็แล้วแต่นะ... แต่ผมอยากชวนให้คุณลอง "หยุด" แล้วสำรวจไปที่งานของคุณดูสินิดนะว่า "งานของคุณเป็นอย่างไร" และ "มันจำเป็นที่ต้องเป็นแบบทฤษฎี X มากกว่า ทฤษฎี Y หรือเปล่า"
คุณลองนึกดูนะ... ถ้าคุณทำงานเป็นนักเคมีที่กำลังทำงานกับสารเคมีอันตราย คุณจำเป็นมาก ๆ ที่ต้องเคร่งครัดในกฎระเบียบของการทำการทดลองและกฎของห้องปฏิบัติการ (Lab) นั้นก็เพื่อความปลอดภัยของคุณ แต่คุณสามารถปรับมาเป็นทฤษฎี Y ได้ เมื่อคุณมาทำงานกับผู้คนนอกห้องปฏิบัติการ
ผมว่าการที่คุณจะอยู่ในทฤษฎีใด ๆ ก็ตามสิ่งที่สำคัญคือ... คุณต้องเข้าใจบริบทของสิ่งนั้น ๆ และที่สำคัญที่สุดของทั้งสองทฤษฎีไม่ว่าจะ X หรือ Y ไม่ใช่การเปลี่ยนแค่รูปแบบการทำงานเท่านั้น แต่มันคือการเปลี่ยนที่ "กรอบคิด" และ "ความเชื่อ" ของเราและคณะด้วย หรือเราอาจจะเรียกว่าเป็นการ "เปลี่ยนกระบวนทัศน์" ในการทำงานร่วมกันก็ได้ เพราะหากคุณติดอยู่ที่รูปแบบ คุณก็อาจจะนำใช้ทฤษฎี X ในรูปแบบทฤษฎี Y โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
#TheoryXandTheoryY
#DouglasMcGregor
#LivingSystem
#LIVING_ORGANIZATION
#MINDQUOTE
#MINDBUDDYCLUB
#clubofyourbuddy
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเรา ได้ที่
โฆษณา