11 ก.ย. 2024 เวลา 02:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ว่าด้วย Short Selling

บ่อยครั้งเมื่อตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลง การขายชอร์ต (short selling) มักถูกพูดถึงและตกเป็นผู้ร้ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุทำให้หุ้นปรับตัวลดลง กรณีล่าสุดที่เป็นที่ถกเถียงอย่างมาก คือกรณีของประเทศเกาหลีใต้ ที่ทางการได้ออกมาประกาศแบน short selling ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน ระดับราคาตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น
ทำให้มีคนพยายามบอกว่าการแบน short selling ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ประเทศไทยเองก็มีการเรียกร้องให้มีการแบน short selling เพื่อแก้ปัญหาราคาหุ้นที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในความเป็นจริงนั้น มีอีกหลายปัจจัยมากที่กระทบต่อราคาหุ้นในตลาด โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐาน ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า การแบน short selling ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นได้อย่างยั่งยืนจริงหรือ?
การขายชอร์ตคือผู้ร้ายหรือแพะรับบาป?
ธุรกรรมขายชอร์ต (short selling) คือการยืมหุ้นมาทำธุรกรรมขาย และซื้อหุ้นกลับมาในภายหลังเพื่อนำมาคืนให้กับเจ้าของหุ้นพร้อมจ่ายดอกเบี้ยค่ายืมหุ้น เป็นธุรกรรมที่ได้รับการยอมรับในตลาดหลักทรัพย์ที่พัฒนาแล้วทั่วโลก
ธุรกรรม short selling ไม่ได้ถูกใช้เพื่อหากำไรจากทิศทางของราคาหุ้นเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการใช้บริหารความเสี่ยง (hedging) และเป็นกลไกพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ อย่างเช่น ตลาดตราสารอนุพันธ์ ซึ่งช่วยให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น และสามารถป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนราคาหุ้นได้
รวมทั้งยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่จัดหาสภาพคล่องให้กับตลาดหรือที่เรียกว่า market maker ที่มักใช้ธุรกรรมนี้เพื่อช่วยสร้างสภาพคล่องทำให้เมื่อมีผู้ต้องการซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง market maker สามารถขายให้ผู้ซื้อได้ทันทีโดยการยืมหุ้นมาขายชอร์ตถึงแม้จะไม่มีหุ้นตัวนั้นอยู่ในพอร์ตตัวเอง
นอกจากนี้ ธุรกรรม short selling ยังช่วยในกระบวนการค้นหาราคา (price discovery) ทำให้ราคาหุ้นอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ช่วยป้องกันปรากฏการณ์ฟองสบู่ (price bubbles) ที่เกิดจากกระแสหรือความตื่นเต้นที่ไม่มีเหตุผลและมากเกินจริง (irrational hypes)
และบางครั้งยังเป็นกลไกที่ช่วยเปิดโปงสัญญาณอันตราย (red flags) ของบริษัทที่มีธรรมาภิบาลไม่ดี ช่วยให้นักลงทุนช่วยกันตรวจสอบบริษัทและลงทุนด้วยความรอบคอบมากขึ้นด้วย การแบน short selling
จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อตลาด ทำให้นักลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สภาพคล่องในตลาดลดลงทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อเสนอขายปรับสูงขึ้น ต้นทุนการทำธุรกรรมสูงขึ้น ราคาหุ้นไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง หรือทำให้บริษัทสามารถซุกซ่อนปัญหาได้ง่ายขึ้นจนอาจสร้างความเสียหายต่อนักลงทุนเป็นวงกว้างในภายหลังได้
กรณีศึกษาในอดีตแสดงให้เห็นว่าการอนุญาตให้ทำธุรกรรม short selling ช่วยให้ราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยพื้นฐานได้ดีกว่าและช่วยป้องกันภาวะฟองสบู่ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าในกรณีที่ทางการไม่อนุญาตให้ทำธุรกรรม short selling
อย่างเช่น กรณี บริษัท Enron ในช่วงปี 2001 ที่มีการทุจริตทางบัญชีและการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส โดยก่อนหน้านั้นในช่วงปลายปี 2000 หุ้น Enron เคยขึ้นแตะจุดสูงสุดและนักวิเคราะห์หลายรายยังคงคาดการณ์ว่าราคาหุ้นจะขยับขึ้นไปได้ต่อเนื่อง แต่เมื่อนักลงทุนรายหนึ่งได้พบความผิดปกติในงบการเงินของบริษัท จึงได้เริ่มทำการ short sell หุ้นของบริษัท Enron และออกมาเตือนนักลงทุนถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว
ซึ่งในภายหลังบริษัทก็ถูกเปิดโปงว่ามีการตกแต่งบัญชีจริงจนนำไปสู่การล้มละลายของบริษัทในที่สุด ซึ่งหากในตอนนั้นไม่มีการอนุญาตให้ทำ short selling ได้จนราคาหุ้นขึ้นไปสูงตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ก็อาจทำให้มูลค่าความเสียหายสูงกว่านี้ได้ การทำ short selling จึงช่วยกำกับดูแลบริษัท และสร้างความตระหนักรู้แก่นักลงทุนที่ต้องคอยหมั่นตรวจสอบบริษัทที่ตัวเองลงทุนอยู่เสมอ
Naked short selling คือผู้ร้ายตัวจริง
Naked short selling คือการขายชอร์ต โดยไม่ได้มีการยืมหุ้นก่อนการวางคำสั่งขาย ทำให้ naked short selling สามารถส่งคำสั่งปริมาณมากได้โดยไม่มีข้อจำกัด ทำให้เกิด “แรงขายเทียม” และสร้างความผันผวนบิดเบือนราคาหุ้นมากเกินจริง
ในขณะที่ covered short selling ทั่วไปที่จะถูกจำกัดด้วยปริมาณหุ้นที่อยู่ใน pool ของ Securities Borrowing and Lending (SBL) ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่นักลงทุนนำหุ้นที่ตัวเองถือครองอยู่มาให้ยืม ธุรกรรม naked short selling ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายประเทศและมีบทลงโทษที่รุนแรง โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ที่ประกาศเพิ่มบทลงโทษปรับสูงสุดถึง 6 เท่าของกำไรที่ได้จากการทำธุรกรรม short selling และโทษจำคุกซึ่งสูงสุดถึงการจำคุกตลอดชีวิต สำหรับประเทศไทย ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงเกณฑ์และบทระวางโทษปรับให้เข้มข้นขึ้น
แล้วทำไมเกาหลีใต้ถึงแบน short selling?
ที่ผ่านมาเกาหลีใต้มีการนำมาตรการแบน short selling มาใช้เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับในหลายประเทศที่ก็มีการแบน short selling เป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยลดความผันผวนของตลาดในช่วงวิกฤต เช่น ประเทศสหรัฐฯ ที่ประกาศแบนการขายชอร์ตในหุ้นสถาบันการเงินบางแห่งในช่วงวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 เป็นการชั่วคราว แต่การทบทวนในภายหลังโดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขานิวยอร์กพบว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ลดแรงกดดันต่อราคาหุ้นได้อย่างที่คาดหวังไว้
สำหรับเกาหลีใต้มีการแบน short selling ในวิกฤตหลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในปี 2008 วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปในปี 2011 และล่าสุดในวิกฤต COVID-19 ที่ในเดือนมีนาคม 2020 หน่วยงานกำกับดูแลทางด้านการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) มีการประกาศแบน short selling เป็นการชั่วคราวเพื่อลดความผันผวนในตลาดซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 โดยภายหลังสถานการณ์ COVID เริ่มดีขึ้น FSC ก็ได้ประกาศยกเลิกการแบนและอนุญาตให้ทำ short selling ได้ในหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ในดัชนี Kospi 200 และ Kosdaq 150 เท่านั้น
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 FSC ได้ออกมาประกาศแบน short selling อีกครั้ง ซึ่งกรณีนี้เป็นความพยายามที่จะสกัดกั้นการทำธุรกรรม naked short selling และจะอนุญาตให้กลับมาขายชอร์ตอีกครั้งได้หากทางการสามารถติดตั้งระบบที่สามารถตรวจสอบและป้องกันธุรกรรม naked short selling ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางการเกาหลีใต้อ้างว่าพบธุรกรรมการขายชอร์ตที่ผิดกฎหมายมูลค่ารวม 156 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของวาณิชธนกิจระดับโลก 9 ราย จึงตัดสินใจนำมาตรการแบน short selling กลับมาใช้อีกครั้ง
การแบน short selling ของเกาหลีใต้ในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองแอบแฝงหรือไม่ เนื่องจากในขณะนั้นไม่ได้ความผิดปกติหรือความผันผวนในตลาดจนทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบดำเนินมาตรการนี้
ยิ่งกว่านี้ สัดส่วนปริมาณธุรกรรม short-selling ในเกาหลีใต้มีสัดส่วนเพียงแค่ 0.6% ของมูลค่าตลาด Kospi และ 1.6% ของมูลค่าตลาด Kosdaq เท่านั้น ขณะที่นักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นเกาหลีใต้มีจำนวนมากกว่า 14 ล้านคนหรือมากกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ และถือเป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญ การประกาศแบน short selling ในเดือนพฤศจิกายน 2023 เพียง 5 เดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจึงถูกมองว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะเร่งทำคะแนนเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนคดี naked short selling และเงินค่าปรับที่ทางการเกาหลีใต้สั่งปรับได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนคดีเพิ่มขึ้นจาก 4 เคสในปี 2020 มาเป็น 16 เคสในปี 2021 และ 32 เคสในปี 2022 ขณะที่จำนวนเงินค่าปรับเพิ่มขึ้นจาก 700-900 ล้านวอนในช่วงปี 2020-2021 ขึ้นมาเป็น 3,200 ล้านวอนในปี 2022
ในขณะที่ช่วงปลายปี 2023 เป็นต้นมา ก็ยังมีข่าวทางการเกาหลีใต้สั่งปรับสถาบันการเงินและกองทุนขนาดใหญ่หลายแห่งต่อเนื่อง เช่น BNP และ HSBC ที่ถูกสั่งปรับรวม 26,500 ล้านวอนในเดือน ธ.ค. 2023 Credit Suisse ที่ถูกสั่งปรับรวม 27,100 ล้านวอนในเดือน ก.ค. 2024
ซึ่งข้อสังเกตหนึ่งคือสถาบันการเงินระดับโลกเหล่านี้ที่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกไม่เคยถูกดำเนินคดีเช่นนี้ในประเทศอื่นเลย ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่อาจจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ คือ เกาหลีใต้อาจมีวิธีการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่แตกต่างจากมาตรฐานสากลทั่วไป ที่ปกติจะเน้นพิจารณาจากเจตนา (intention) ของการทำธุรกรรมเป็นหลัก
โดยหากธุรกรรมนั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะทำการขายชอร์ตโดยไม่มีการยืมหุ้น แต่เป็นปัญหาของการคีย์ข้อมูลที่ผิดพลาด (human error) หรือความผิดพลาดของระบบ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง (technical error) หรือการส่งคำสั่งไปผิดบัญชี (booking error) ก็จะไม่ถูกจัดว่าเป็นการกระทำผิดข้อหา naked short selling
บทบาทของตลาดทุนคือการส่งเสริมสภาพคล่องเพื่อการพัฒนาในระยะยาว
การแบน short selling โดยคาดหวังว่าจะทำให้ราคาหุ้นขึ้น (หรือไม่ทำให้หุ้นลง) ไม่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน และอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงที่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของตลาดทุนและเพิ่มต้นทุนของธุรกรรมในตลาดได้ โดยเฉพาะกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปจนทำให้เกิดข้อจำกัดของนักลงทุน
มีหลักฐานว่าการห้ามธุรกรรม short selling มีผลต่อสภาพคล่องและต้นทุนของธุรกรรม และกระทบต่อพัฒนาการของตลาดทุนและเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงและกระบวนการ price discovery
1
นอกจากนี้ ในกรณีของเกาหลีใต้นั้น การแบน short selling ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ไม่สามารถเลื่อนขั้นจากดัชนีตลาดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets) เข้าไปสู่ดัชนี MSCI ในตลาดพัฒนาแล้ว (MSCI Developed Markets) ได้ ทั้ง ๆ ที่รายได้ต่อหัวของเกาหลีใต้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
โดย MSCI ให้เหตุผลว่าการนำมาตรการแบน short selling กลับมาใช้อีก ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาด (market accessibility) ซึ่งถึงแม้คาดว่าการใช้มาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว แต่การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของตลาดหุ้นอย่างกะทันหันถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก เพราะจะทำให้กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดได้
อีกกรณีศึกษาของประเทศจีนที่มีการแบน short selling เพื่อหวังพยุงตลาดทุน แต่การใช้มาตรการแบบคาดหวัง quick win เช่นนี้กลับเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและไม่ได้ช่วยให้ตลาดหุ้นจีนปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ทางการจีนได้พยายามใช้มาตรการหลายอย่าง ทั้งการอัดฉีดสภาพคล่อง การสั่งห้ามไม่ให้ยืมหุ้นบางตัวจนทำให้ยอดคงค้างของธุรกรรมชอร์ตลดลงกว่า 60% จากเดือนสิงหาคม 2023 ซึ่งถึงแม้จะเห็นสัญญาณการปรับดีขึ้นของตลาดหุ้นจีนในช่วงสั้น ๆ แต่ก็ปรับลดลงตามความกังวลของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในประเทศ ซึ่งเกิดจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจในจีนที่ยังเผชิญความท้าทายต่าง ๆ
และล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศยกระดับความเข้มงวดของมาตรการเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเพิ่มข้อกำหนดเรื่องเงินประกัน (margin requirement) ที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรม short selling ซึ่งจะมีผลในวันที่ 22 ก.ค. นี้ และสั่งระงับธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์แก่นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการยืมหุ้นรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมองตรงกันว่าเป็นมาตรการแบบหวังผลระยะสั้นมากกว่า
โดยผลลัพธ์ที่ได้น่าจะจำกัดและไม่สามารถทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะยาว เนื่องจากยอดการขายชอร์ตคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.05% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหุ้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทมากกว่า รวมทั้งมาตรการนี้จะยิ่งทำให้สภาพคล่องในตลาดเหือดแห้งลง เพราะต้นทุนในการทำธุรกรรมสูงขึ้น และทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ไม่อยากมาลงทุนในตลาดหุ้นจีนมากขึ้นในระยะยาว
นอกจากนี้ เกาหลีใต้เองก็ได้ดำเนินมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยในความพยายามที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดหุ้นด้วยการแก้ปัญหาที่ปัจจัยพื้นฐานซึ่งตรงจุดกว่า
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งนโยบายปฏิรูปตลาดที่ FSC ได้ริเริ่มโครงการเพิ่มมูลค่าบริษัท (Corporate Value-up Program)
โดยเพิ่มผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น เพื่อแก้ปัญหาหุ้นเกาหลีใต้ที่มักซื้อขายในราคาที่ถูกกว่าตลาดหุ้นทั่วไป มีอัตราส่วนของราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชีต่ำ หรือที่รู้จักกันในนามว่า “Korea Discount” เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อปัญหาธรรมาภิบาลที่เกิดจากอิทธิพลของธุรกิจแชโบล (Chaebol) หรือกลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด
นอกจากนี้ ราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่กลางปี 2023 จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก
สภาพคล่องคือจุดแข็งของตลาดทุนไทย
บทบาทที่สำคัญของตลาดทุน คือการจัดสรรทรัพยากรทุนที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในต้นทุนที่ต่ำที่สุด ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุดคือการสนับสนุนให้ตลาดมีสภาพคล่องที่มากเพียงพอ
ในปัจจุบันตลาดหุ้นไทยนับว่ามีจุดเด่นในเรื่องของสภาพคล่องที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ ASEAN แม้ตลาดไทยจะไม่ได้เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีสภาพคล่องรวมเป็นสัดส่วนประมาณ 37% ของสภาพคล่องทั้งหมดใน ASEAN มากกว่าสิงคโปร์ (18%) และเวียดนาม (15%)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง ระดับราคาและสภาพคล่องในตลาดทุนไทยปรับแย่ลงต่อเนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ย่ำแย่ลง สถานการณ์การเมืองที่มีความไม่แน่นอน และปัญหาธรรมาภิบาลของบริษัทที่มีข่าวฉ้อโกงของหลายบริษัทในช่วงที่ผ่านมา
ในสภาวะที่ตลาดเปราะบางมากอยู่แล้ว การออกกฎเกณฑ์กำกับมาเพิ่มเติมซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันอาจยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำลายสภาพคล่องในตลาดให้แย่ลงไปกว่านี้ ก็อาจไม่เป็นผลดีเท่าไรนัก
การแบน short selling โดยหวังว่าจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวดีขึ้นโดยไม่สนใจสาเหตุของปัญหาจึงเหมือนการที่หมอจ่ายยาแรงให้คนไข้เพื่อหวังว่าอาการป่วยจะหายโดยฉับพลัน โดยที่ยังไม่ทันได้วินิจฉัยยานั้นมีผลต่อโรคหรือไม่
ผู้ดำเนินนโยบายจึงควรระมัดระวังในการตัดสินใจนำมาตรการเช่นนี้มาใช้ โดยละเลยที่จะหาสาเหตุและแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ความพยายามในการปรับในกฎเกณฑ์และข้อจำกัดของตลาดเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยดีขึ้น และยังอาจกระทบต่อพัฒนาการของตลาดทุนไทย และกระทบต่อสภาพคล่องและต้นทุนการทำธุรกรรมซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของตลาดทุน
หากหมอจ่ายยาไม่ตรงกับโรคก็อาจจะทำให้คนไข้ยิ่งป่วยหนัก เกิดอาการแทรกซ้อนลามไปถึงจุดอื่นที่ไม่ได้มีปัญหามาก่อน จนอาจเป็นอันตรายมากกว่าปัญหาเริ่มแรกก็ได้
อ่านข่าวได้ที่ >>
โฆษณา