11 ก.ย. 2024 เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

คนไทยมีหนี้เกินครึ่งล้าน/ครัวเรือน สูงสุดรอบ 16 ปี

หอการค้าไทย เผยภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนไทยปี 67 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกินครึ่งล้าน/ครัวเรือน ถือเป็นยอดหนี้สูงสุดในรอบ 16 ปี
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 จากผลสำรวจภาวะหนี้ของครัวเรือน หากเปรียบเทียบหนี้กับรายได้พบว่าสัดส่วนหนี้มากกว่ารายได้อยู่ที่ 46.4% โดยภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนของไทยขยายตัว 8.4% อยู่ที่ 606,000 บาท ถือเป็นยอดหนี้สูงสุดในรอบ 16 ปี ส่วนใหญ่นำไปใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค ซื้อสินค้าคงทน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปี 67 ภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนขยายตัวถึง 8.4% อยู่ที่ 606,378.38 บาท สูงสุดตั้งแต่ทำการสำรวจมาในปี 52 ส่วนหนี้นอกระบบขยายตัวเช่นเดียวกันอยู่ที่ 30.1% โดยประเภทหนี้สูงสุด 3 อันดับแรก คือ บัตรเครดิต 60.2% ยานพาหนะ 47.1% และส่วนบุคคล (อุปโภคบริโภค) 40.1% ตามลำดับ
ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ในปัจจุบัน พบว่าด้านการศึกษาชำระหนี้น้อยที่สุด โดยไม่สามารถชำระได้ 6.3% รองลงมาคือ สินเชื่อส่วนบุคคล และยานพาหนะ
เปรียบเทียบหนี้กับรายได้
จากการสอบถามประชาชนว่าเคยประสบปัญหาการขาดการผ่อนชำระ หรือผิดนัดการผ่อนชำระในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ พบว่า 71.6% บอกว่า “เคย” เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี 46%, รายได้ลดลง, มียอดชำระเพิ่มขึ้น และตกงาน ส่วนปัจจัยที่ก่อให้เกิดโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ 91.6% บอกว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี และรายได้ที่ได้รับลดลง
จะเห็นว่าภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนยังคงขยายตัว แต่เชื่อว่า GDP ไทยทั้งปีจะโตอยู่ที่ 2.8% หากรัฐบาลผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มที่ 0.2 - 0.4% คาดหวังว่าในปี 68 รัฐบาลจะออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ซึ่งปัจจุบันอยู่ 90.8 ลดลงมาอยู่ที่ 89% ได้..... นายธนวรรธน์ กล่าว
การแก้ปัญหากรณีรายได้ไม่พอรายจ่าย
ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะจ่ายเงินให้กลุ่มเปราะบางกว่า 14,000,000 คน วงเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท นายธนวรรธน์ มองว่า เมื่อประชาชนได้เงินแล้วจะใช้เงินสดทันที และจะซื้อของภายในพื้นที่ อาจนำไปซื้อขายในหมวดอบายมุข เช่น แอลกอฮอล์ และบุหรี่ ส่งผลให้ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ GDP จะแตะที่ 3.5-4% ได้
ขณะที่การแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ซึ่งจะมีการพูดถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศพร้อมกัน 400 บาท 1 ต.ค. นี้ อยากให้มอง 2 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล สิ่งสำคัญคือต้องผ่านมติของไตรภาคี รัฐบาลต้องหาความชัดเจนว่าไตรภาคีจังหวัดมีความเห็นตรงกันกับแนวทางที่รัฐบาลทำหรือไม่ เพราะมีกฎหมายกำหนด
เชื่อ GDP ไทยปี 67 โต 2.8% หาก รบ.ผลักดันดิจิทัลวอลเล็ต
สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเคยพูดไว้ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศสำหรับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่มีแรงงาน 200 คนขึ้นไปเท่านั้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นหลักการที่ภาคเอกชนรับได้ เพราะรัฐบาลจะเยียวยาเอกชนโดยให้รถหย่อนภาษีได้มากขึ้นจากการจ่ายค่าแรงเพิ่ม รวมถึงสามารถลดเงินประกันสังคม
อยากให้ประชาชนเข้าใจในมุมของเอกชน เพราะตั้งแต่ปี 63 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และขณะนี้ในการขอกู้เงินกับแบงค์เข้มงวดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวดีขึ้นมาก รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนค่าน้ำมัน และค่าไฟฟ้า ดังนั้นเอกชนจึงมีความสามารถในการจ่ายเงินค่าจ้างขั้นต่ำไม่ไหว สอดคล้องกับความเห็นของไตรภาคีจังหวัดที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย..... นายธนวรรธน์ กล่าว
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราที่เอกชนรับได้ จะทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น เพราะแรงงานจะมีกำลังซื้อและมีการจับจ่ายใช้สอย พร้อมคาดว่าจะมีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 - 10,000 ล้านบาท GDP โตขึ้น 0.5-1 % และยังทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/monetary/232321
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา