11 ก.ย. เวลา 11:10 • ประวัติศาสตร์

• ‘มัมมี่’ คำนี้มีที่มาจากไหน?

นึกถึง ‘มัมมี่’ ก็ต้องนึกถึงศพของมนุษย์รวมถึงสัตว์ที่ผ่านกระบวนการถนอมร่างไม่ให้เน่าเปื่อย และดินแดนที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการทำมัมมี่ก็ต้องเป็นอียิปต์ ว่าแต่สงสัยไหมว่า คำว่ามัมมี่มีที่มาจากอะไร
ต้นตอของคำว่ามัมมี่มีหลายทฤษฎีด้วยกัน เริ่มจากทฤษฎีแรกบอกว่า ตอนที่อาณาจักรมุสลิมเข้าครอบครองอียิปต์ในศตวรรษที่ 7 เมื่อชาวอาหรับรู้จักมัมมี่อียิปต์เป็นครั้งแรก พวกเขาก็เข้าใจว่า ผิวหนังที่เป็นสีดำหรือน้ำตาลของมัมมี่เกิดจากน้ำมันดินที่ใช้ถนอมศพ โดยน้ำมันดินหรือบิทูเมน (Bitumen) ในภาษาอาหรับเรียกว่า ‘mumiya’
2
จริงอยู่ที่ชาวอียิปต์มีการใช้น้ำมันดินในการทำร่างมัมมี่แต่ก็เป็นมัมมี่เพียงบางร่างเท่านั้น อย่างไรก็ตาม mumiya ในภาษาอาหรับก็กลายเป็น ‘mumia’ ในภาษาละติน และ ‘mummy’ ในภาษาอังกฤษในเวลาต่อมา
อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่า ในอดีตมีภูเขาลูกหนึ่งในเปอร์เซียที่ว่ากันว่า มีสารสกัดพิเศษที่สกัดได้จากถ่านหิน สารที่ว่านี้ชาวเปอร์เซียเรียกว่า ‘mum’ แปลว่าขี้ผึ้ง โดยเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา รักษาโรคได้สารพัด ที่สำคัญคือมีราคาแพง
แต่เมื่อชาวตะวันตกแปลเอกสารจากโลกอิสลาม พวกเขาดันเกิดความเข้าใจผิด เพราะนักแปลหลายคนในศตวรรษที่ 11-12 มีความเข้าใจว่า mum เป็นสารที่สกัดได้จากมัมมี่ในอียิปต์ ทั้งที่ความจริง mum หมายถึงสารสกัดจากภูเขาในเปอร์เซีย ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดนี้ อาจจะเป็นเพราะชาวเปอร์เซียเข้าใจว่า ร่างมัมมี่ของอียิปต์ถูกเคลือบด้วยขี้ผึ้ง
ปรากฏว่าความเข้าใจผิดนี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์นำเข้ามัมมี่จากอียิปต์เพื่อสกัดเป็นยาในยุโรป ยาที่สกัดจากมัมมี่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตกว่า ‘mumia’ ตามภาษาละติน โดยเชื่อว่ารักษาได้ทุกโรค และบริโภคได้ทั้งจากการกินและทาที่ผิวหนัง ความเชื่อนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว
2
อ้างอิง
• Science ABC. Where Does The Egyptian “Mummy” Word Originate From?. https://www.scienceabc.com/social-science/where-does-the-egyptian-mummy-word-originate-from.html
#HistofunDeluxe
โฆษณา