11 ก.ย. เวลา 07:14 • สัตว์เลี้ยง

3 เหตุผล !  ที่ลูกหมา 3 เดือนต้องได้ไปเล่นนอกบ้าน

ตอนที่ลูกหมาเราอายุ 3 เดือนก็จะประมาณพอดีกับกำหนดการฉีดวัคซีนรวมโดยที่จะสำคัญ ๆ คือ โรคลำไส้อีกเสบเข็มที่ 2 (Parvovirus) และ โรคพิษสุนัขบ้าเข็มที่ 1 (Rabies) นั่นหมายถึงว่าตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไปเราสามารถที่จะพาเขาออกนอกบ้านได้มากขึ้น และเขาสามารถจะเล่นกับหมาตัวอื่นที่ฉีดวัคซีนแล้วได้ ซึ่งชีวิตเจ้าของจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเดือนนี้เทียบกับตอนอายุ 2 เดือน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเรื่องที่ต้องระวังอยู่ครับ
ก่อนอื่นคือใน 1 เดือนที่ผ่านมาเขาควรที่จะได้เปิดโลกไปให้คุ้นชินกับข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และมนุษย์ต่าง ๆ ประเภทกันไปบ้างแล้ว (สำหรับใครที่ยังไม่อ่านเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกหมา 2 เดือน กดตรงนี้ได้เลยครับ) ซึ่งถ้าใครทำได้ดีแล้วเดือนนี้ยังคงควรจะทำต่อไปนะครับ ส่วนใครที่ยังรู้สึกว่าลูกหมายังกล้า ๆ กลัว ๆ กับบางอย่างที่เขาต้องเจอบ่อย ๆ อยู่ ตอนนี้เป็นเวลาที่เรายังเก็บตกสิ่งเหล่านั้นได้อยู่นะครับ
และเป้าหมายในส่วนของลูกหมาอายุ 3 เดือนนี้ นอกจากจะเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เราทำในเดือนที่ 2 แล้ว ยังเป็นเดือนที่เราจะเริ่มเปิดโลกให้เขากับหมาตัวอื่นด้วยการเล่น และเสริมสร้างมารยาทนอกบ้านไปด้วย นั่นหมายความว่าเราควรจะเริ่มพาเขาออกนอกบ้านให้เขาได้เล่นกับหมาตัวอื่นครับ
ในส่วนของความปลอดภัย เนื่องจากวัคซีนยังไม่ครบจริง ๆ แม้จะมีภูมิต้านทานพอที่จะออกนอกบ้านได้โดยที่เท้าแตะพื้นได้แล้ว แต่ในการนอกบ้านช่วงนี้เจ้าของยังควรเลี่ยงสถานที่ที่มีหมาจรเยอะ หลีกเลี่ยงที่ที่มีหมาขับถ่ายเยอะ ๆ ด้วยและให้เขาเล่นเฉพาะกับหมาที่รู้จักและรู้ว่าฉีดวัคซีนครบแล้วเท่านั้น
ทำไมลูกหมาถึงควรเล่นกับหมาอื่น
การเล่นของหมาไม่ใช่เพื่อความสนุกเท่านั้นนะครับ เช่นเดียวกันกับเด็กของมนุษย์ การเล่นมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมอง และการเรียนรู้ของลูกหมาอย่างหมา โดยหลัก ๆ แล้วประโยชน์ที่เราจะคาดหวังจากการเล่นในวัย 3 ถึง 4 เดือนของลูกหมาเรามี 3 เรื่องใหญ่ ๆ ประมาณนี้ครับ
ทำให้โตไปไม่ดุ
เพราะเดือนนี้เราจะสร้างประสบกาณ์ที่ดีในการเจอหมาตัวอื่น ทำให้เขาโตขึ้นมาไม่เห่าใส่ หรือดุใส่หมาตัวอื่นที่เจอ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก ๆ จากการที่หลาย ๆ บ้านไม่ค่อยได้ให้หมาตัวเองได้เจอกับหมาอื่นตั้งแต่เด็ก ๆ
โดยอาศัยหลักการเดียวกันกับการเจอคนคือสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับเขา ดังนั้นในการพาเขาไปเจอกับหมาตัวอื่นเราต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในครั้งแรก ๆ โดยก่อนที่จะให้เขาเจอหมาอื่นแบบเต็ม ๆ เราควรช้า ๆ ก่อน เช่น เราเริ่มตั้งแต่ให้ขนมเมื่อเขาได้ยินเสียงหมาตัวอื่น ต่อมาคือให้ขนมตอนที่เขาเห็นหมาตัวอื่น และค่อย ๆ พาเขาไปใกล้หมาตัวอื่นมากขึ้น และให้รางวัลเรื่อย ๆ
อย่าพาเข้าไปใกล้หมาตัวอื่นโดยทันทีค่อย ๆ เข้าไปพร้อมดูท่าทีของทั้งหมาเรา และหมาอีกตัว อย่าพยายามกระตุ้นให้เขาต้องเล่น หรือเข้าหา ให้เขาเป็นคนเลือกเองว่าจะทำอะไร แต่ระหว่างนี้ก็ให้ขนมเขาเรื่อย ๆ
หมาเราอาจจะเดินหนีซึ่งเป็นเรื่องปกติ ให้เราปล่อยเขาเดินหนีได้ คือเดินตามเขาออกมา แต่ให้คอยสังเกตหาท่าทีที่หมาเราแสดงความสนใจและให้รางวัล เช่น ถ้าหมาเรามองไปทางหมาอื่นให้ให้ขนม มันจะกระตุ้นให้เขาเข้าหามากขึ้น ต่อมาเขาจะเริ่มเดินไปทางหมาอีกตัวให้เราก็ให้รางวัลเรื่อย ๆ ตลอดทาง ถ้าเขาดมหมาอีกตัวเราก็ให้ขนม ถ้าเขาเริ่มเล่นกันเราก็ชมได้
ฝึกการควบคุมแรงกัด
เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงกันเท่าไหร่ แต่ในช่วงที่หมาเด็กเรายังมีฟันน้ำนมอยู่เป็นช่วงเดียวที่เขาสามารถฝึกการควบคุมแรงกัดของตัวเองได้ว่ากัดเบากัดแรงอย่างไร โดยเขาจะเรียนรู้ได้ 2 วิธีคือ 1) เราเป็นคนสอน (ซึ่งจะยังไม่ลงรายละเอียดในวันนี้) และ 2) ให้หมาอื่นเป็นคนสอน ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพกว่ามาก ๆ
วิธีการที่เขาเรียนรู้ผ่านหมาตัวอื่นคืออย่างงี้ครับ ถ้าใครเลี้ยงหมาเด็ก หรืออยู่กับหมาวัยนี้จะรู้ว่าตอนนี้ฟันเขาคมมากเพราะยังเป็นฟันน้ำนมอยู่ และนอกจากจะคมแล้วยังชอบใช้มันกัดแทะไปทั่วเลย เพราะช่วงนี้ก็เรียกว่าเป็นช่วงลองฟันอยู่ ในระหว่างที่ลองฟันนี้ การที่เขาเอาฟันคม ๆ ของเขาไปงับเล่นกับหมาตัวอื่น (ซึ่งหมางับเล่นกันเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่เราควรส่งเสริม) หมาตัวอื่นจะดุใส่เขา หรือไม่ก็หยุดเล่นด้วย ตามระดับความแรง
นั่นหมายถึงว่าถ้าเขากัดเจ็บไปเขาจะอดเล่น และอาจถูกดุด้วย ทำให้หมาเราเริ่มลองผิดลองถูกกับแรงกัดตัวเอง และหาทางให้ตัวเองกัดเบาลง ๆ ได้ เพื่อให้เขาสามารถเล่นกันต่อได้เรื่อย ๆ นั่นคือวิธีที่หมาเราเรียนรู้การควบคุมแรงกัดครับ
การควบคุมแรงกัดได้มีประโยชน์มาก ๆ ในระยะยาว เพราะถึงแม้ว่าหมาเราจะเป็นหมาไม่ดุไม่ทำร้ายหาเรื่องใคร แต่อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ เช่น ลูกเราเดินสะดุดล้มทับหมา ซึ่งกรณีแบบนี้หมาส่วนใหญ่จะหันมากัดด้วยความตกใจ ซึ่งแม้เขาจะไมไ่ด้ตั้งใจกัดแต่หมาที่ควบคุมแรงกัดจะกัดได้แผลเพราะเขาควบคุมแรงตัวเองไมไ่ด้ ในขณะที่หมาที่ผ่านการฝึกคุมแรงกัดมาแล้วจะกัดไม่จมเขี้ยว
ซึ่งผลลัพท์ทั้ง 2 กรณี แน่นอนว่าสำคัญต่อสภาพจิตใจทั้งเด็กและหมามาก ๆ รวมไปถึงกรณีตกใจจากอุบัติเหตุอื่น ๆ กับคนแลกหน้าด้วยที่ความต่างคือจบด้วยคดีความ หรือจบแบบไม่มีคดี
นอกจากนั้นการควบคุมแรงกัดได้จะขยายผลไปส่วนอื่นของหมาด้วยเหมือนกัน เมื่อเขาเรียนรู้ว่าเขาสามารถทำให้หมา และคนอื่นเจ็บได้ เขาจะสามารถกะแรงของตัวเองในส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การกระโดดใส่หมาเล็กเบากว่า กระโดดใส่หมาใหญ่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่ทำให้หมาเราน่ารักกับคนอื่น
ฝึกทักษะทางสังคม
นอกเหนือจากการกะแรงตัวเองแล้ว สิ่งที่หมาอื่นสอนหมาเด็กเราได้คือกฏกติกามารยาทแบบหมา ๆ เพราะหมามีการสื่อสารระหว่างกันด้วยภาษากายที่ซับซ้อนที่หลายครั้งมนุษย์นั้นตามไม่ทัน การเล่นกับหมาตัวอื่นคือช่วงเวลาที่หมาเราจะเริ่มเรียนรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ผ่านปฏิกริยาตอบสนองของหมาอื่น และผ่านการทำตามหมาที่โตกว่าเพื่อรู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
ซึ่งเรื่องพวกนี้จะช่วยให้หมาของเรามีทักษะทางสังคมที่ดีและสามารถปรับตัวเข้ากับหมาตัวอื่น ๆ ได้ง่าย และไม่เครียดเวลาเจอหมาด้วยกัน รวมถึงชอบหมาตัวอื่นไปด้วยในตัว ซึ่งเรื่องพวกนี้มนุษย์ไม่มีทางที่จะสอนหมาได้ดีเท่าหมาสอนกันเองแน่นอน
การให้หมาเด็กได้เล่นกับหมาตัวอื่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่นั้นมีประโยชน์กับพัฒนาการหมามาก ๆ ในแบบที่ยากจะมีอะไรมาทดแทนแต่ทั้งหมดนั้นควรทำด้วยมีข้อควรระวังอยู่ได้แก่
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าวัคซีนเขายังไม่ครบดี ดังนั้นควรให้เล่นแค่กับหมาที่เรารู้ว่าวัคซีนครบแล้ว หรือหมาเด็กที่ฉีดวัคซีนมาเท่ากันขึ้นไปเท่านั้น
  • การปล่อยหมาเล่นกันเองเยอะ ๆ ทำให้หมาติดการเล่นจนเกินไปได้ ระหว่างเล่นเราควรเบรคเขาเรื่อย ๆ ให้เขากลับมาหาใกล้ ๆ เรา ก่อนจะปล่อยไปเล่นอีกรอบ
  • การฝึกกัดเบาหมายถึงเขาจะกัดเล่นกับหมาตัวอื่น จึงยิ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราควรให้เล่นแค่กับหมารู้จัก เพราะหมาบางตัวอาจจะไม่เล่นด้วย และกัดจริงกลับมาได้ถ้าหมาเรากัดแรงเกินไป คอยสังเกตภาษากายให้ดี
  • คุยกับเจ้าของหมาคนอื่นให้ดีก่อน เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าหมาเล่นกันหมายถึงเขาจะกัดเล่นกันเป็นปกติ ซึ่งไม่ต้องตกใจ
  • แยกการเล่นกับการสู้กันจริง ๆ ให้ออก หลัก ๆ คือถ้าเล่นเขาจะมีความเด้งดึ๋ง จะมีการเคลื่อนไหวเยอะ กระโดดใส่กัน อาจมีเสียงเห่าได้ปกติ แต่ถ้าเอาจริงหมาจะมีเสียงขู่ในลำคอ และจะเริ่มนิ่ง ระวังหมาเราให้ดี เพราะบางทีหมาเราที่เป็นหมาเด็กอาจจะยังจับสัญญาณนี้ไม่ได้ เขาเห็นอีกตัวเริ่มนิ่ง หรือเริ่มมีเสียงขู่ในลำคอให้รีบแยกย้ายด่วน ๆ
ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สนุกกกับการพาเขาเที่ยว และถ่ายคลิปหมาเล่นกันจนกล้องเต็มได้ทุกสัปดาห์ครับ แต่อาจจะยังเครียดอยู่บ้างเพราะมีเวลาจำกัดในการทำสิ่งเหล่านี้ แต่เวลาผ่านเดือนนี้ไปได้อะไร ๆ จะเริ่มเข้าที่ และเราจะเครียดกับลูกหมาเราน้อยลงมาก ๆ ก่อนที่จะเริ่มเครียดอีกครั้งช่วงประมาณเดือนที่ 6 หรือ "วัยรุ่น" วัยที่หมาโดนทิ้งมากที่สุดนั่นเอง
และถ้าใครกำลังมีลูกหมาในวัยอื่น ๆ สามารถเข้าไปอ่านบทความของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.dogology.org/blog
โฆษณา