12 ก.ย. เวลา 06:45 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเพชรเวช

โรคกระเพาะอาหาร ความทรมานที่เกิดจากการติดเชื้อในกระเพาะ

สาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารมาจากการที่เยื่อบุกระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องแบบเรื้อรัง สามารถรักษาได้ด้วยการดูแลตนเองไม่ให้โรคมีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร โรคนี้สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำที่สุดด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
โรคกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร ?
ความเข้าใจของคนทั่วไปมักเข้าใจว่าโรคกระเพาะอาหารเกิดขึ้นจากการทานข้าวไม่เป็นเวลา หรือการอดข้าวมื้อสำคัญ แต่ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคเท่านั้น ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคนี้อีกหลายประการ ได้แก่
- ชอบทานอาหารรสจัด
- ดื่มแอลกอฮอล์
- เกิดจากการทานยาบางประเภท เช่น แอสไพริน
- เกิดจากการติดเชื้อชื่อ “เอชไพโลไร”
- มีความเครียด หรืออยู่ในสภาวะวิตกกังวล
แต่โดยปกติแล้วสาเหตุของโรคนี้มักจะมาจากการติดเชื้อเอชไพโลไรเสียมากกว่า เชื้อชนิดนี้ยังสามารถติดต่อกันบนโต๊ะอาหารได้อีกด้วย
อาการของโรคกระเพาะอาหาร
อาการพื้นฐานของโรคนี้คืออาการปวดท้อง แต่ยังมีอาการอื่นที่สามารถเกิดขึ้นร่วมด้วยได้เช่นกัน ได้แก่
- อาการปวดท้องจุกแน่นเรื้อรังก่อนหรือหลังอาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เรอเหม็นเปรี้ยว
โดยอาการปวดท้องที่กล่าวมานี้สามารถบรรเทาขึ้นได้เองหากได้รับประทานอาหาร หรือบรรเทาอาการปวดด้วยการทานยาลดกรด นอกจากนี้ยังมีอาการที่รุนแรง ได้แก่ อาเจียนต่อเนื่อง น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นสีดำ เนื่องจากเป็นอาการจากภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร หากเกิดอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรับการรักษาต่อไป
โรคกระเพาะอาหารอันตรายแค่ไหน ?
นอกจากอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารอาจเสี่ยงต่อการเกิด “โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร” ได้อีกด้วย หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร หรือชื่อเต็ม “เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori)” บริเวณเยื่อบุของกระเพาะอาหารซึ่งสามารถติดได้จากคนสู่คน ด้วยการทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีความปนเปื้อนเชื้อชนิดนี้โดยมักจะมาจากอุจจาระของผู้ที่มีเชื้ออยู่ในตัว เป็นผลให้เยื่อบุกระเพาะเกิดอาการอักเสบจนกลายเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร
หากมีอาการปวดท้องในช่วงใกล้เคียงกับเวลาทานข้าวอยู่บ่อยครั้งควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทั้งการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจจะใช้วิธีการส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ (ทางเดินอาหารส่วนต้น) เพื่อหาสาเหตุของโรคร่วมด้วย
การรักษาโรคกระเพาะอาหาร
การรักษามีด้วยกันหลายวิธี ส่วนหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค ร่วมกับการรักษาตามสาเหตุที่วินิจฉัยพบ ได้แก่
- ปรับเปลี่ยนการทานอาหารให้ตรงเวลาไม่ทานอาหารรสจัด หรือดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากจะกระตุ้นให้ปวดท้อง
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรจะได้รับยาลดกรด กับยาปฏิชีวนะ
- พยายามควบคุมความเครียดของตนเอง หากเริ่มมีความเครียดให้ทำกิจกรรมอื่นที่ผ่อนคลาย
- ดูแลสุขลักษณะทุกครั้งก่อน และหลังการรับประทานอาหาร
การรักษาที่กล่าวไปเป็นวิธีป้องกันโรคกระเพาะด้วยเช่นกัน เนื่องจากการรักษาโรคนี้ไม่ต่างจากการป้องกันความเสี่ยง หากทำได้อาการจะดีขึ้น และยังห่างไกลจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
โฆษณา