13 ก.ย. เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เปลี่ยนสวนปาล์มน้ำมันเป็นคลังเก็บข้อมูล ‘ยะโฮร์ฮับ’ ผู้ให้บริการ Data Center ที่โตเร็วที่สุดในเอเชีย

🌴 “ยะโฮร์ฮับ” รัฐเกษตรกรรมที่เปลี่ยนสวนปาล์มน้ำมันเป็น Data Center จนบริษัทเทคระดับโลกสนใจลงทุน
🤝 ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็น TikTok, Google และ Microsoft ต่างก็พากันทุ่มเม็ดเงินในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ให้กับประเทศมาเลเซียอย่างคึกคัก โมเดลในการพัฒนาลักษณะนี้ มีความคล้ายคลึงกับตอนสร้างเมืองที่ประเทศจีนและสิงคโปร์ จากการเปิดพื้นที่ให้นักลงทุนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้สวนปาล์มน้ำมันที่เคยรกร้างของ “ยะโฮร์” ผันตัวมาเป็นศูนย์บริการข้อมูล สามารถดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศได้มากถึง 5.88 หมื่นล้านริงกิต หรือประมาณ 4.55 แสนล้านบาทในปี 2022
🤳 จำนวนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมา เป็นผลมาจากสังคมที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลผู้คนต่างหันมาทำกิจกรรมบนช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทำให้เกิดความต้องการใช้พื้นที่กักเก็บข้อมูลตามปริมาณการใช้งานที่เพิ่มสูง อีกทั้งยังมีทิศทางการพัฒนา AI ซึ่งต้องใช้คลังข้อมูลอีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของ Data Center ในปี 2024 เติบโตไปถึง 105,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.9 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
📈 ตัวเลขที่ดึงดูดเช่นนี้ แน่นอนว่านอกจากยะโฮร์แล้ว ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่พยายามดึงดูดนักลงทุนด้วยเช่นกัน แต่อะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ยะโฮร์สามารถพัฒนาแซงหน้าพื้นที่ต่างๆ ขึ้นมาเป็น Data Center ที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียได้สำเร็จ ?
🌏 ต้องเล่าก่อนว่า ก่อนจะมียะโฮร์ฮับ ประเทศสิงคโปร์ก็เคยมีชื่อเสียงในการเป็น Data Center ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่และพลังงาน ทำให้การพัฒนาในสิงคโปร์ต้องพบเจอกับอุปสรรค เพราะการสร้าง Data Center จำเป็นต้องใช้พื้นที่ พลังงาน และน้ำสำหรับทำความเย็นเป็นจำนวนมหาศาล
1
ดังนั้นในปี 2019 สิงคโปร์จึงต้องพับโครงการลง ในขณะเดียวกันมาเลเซียซึ่งมีข้อได้เปรียบพร้อมกว่า ทั้งแหล่งพลังงาน น้ำ และราคาที่ดินที่ถูกกว่า จึงเร่งดำเนินการสร้างศูนย์ Data Center เพื่อรองรับแหล่งทุนที่จะหลั่งไหลเข้ามาจากพรมแดนที่ติดกันอย่างสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ
👨‍💼 Tengku Abdul Aziz รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย กล่าวว่ามาเลเซียได้ยึดครองธุรกิจศูนย์ข้อมูลระดับโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายประการรวมกัน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนด้วยมาตรการกระตุ้นการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการ Digital Ecosystem Acceleration ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีในปี 2022
โดยยกเว้นภาษีการลงทุนสำหรับผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การลดระยะเวลาในการอนุมัติการก่อสร้าง และยังมีการทำแผนพัฒนาศูนย์เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นอีก 600% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
🖋 นอกเหนือจากกลไกเชิงมาตรการที่น่าดึงดูด มาเลเซียยังเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศข้างเคียงอย่างสิงคโปร์ควบคู่กัน มีการจัดทำ MoU จับมือร่วมกันพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชื่อว่า ยะโฮร์ - สิงคโปร์ (JS-SEZ ) ทำให้ยะโฮร์ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากบริษัทข้ามชาติเพื่อจัดตั้งสำนักงาน ทั้งยังสามารถให้บริการภาคธุรกิจจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองของรัฐที่เข้ามามีการลงทุนให้กับภาคการผลิตของยะโฮร์
⚡ ความสำเร็จที่เห็นอยู่นี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น ยะโฮร์ยังต้องเตรียมพร้อมเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด และต้องพิจารณาข้อจำกัดด้านพลังงาน เพราะ Data Center ในปัจจุบันยังพึ่งพาการใช้พลังงานจากฟอสซิสและถ่านหินเป็นหลัก
ศูนย์วิจัยธนาคาร Kenanga Investment Bank ของมาเลเซียประมาณการว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูล จะพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 5 กิกะวัตต์ภายในปี 2035 อนาคตในภายภาคหน้า จึงควรมองหาพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง เพื่อดึงดูดนักลงทุนได้จากการยึดหลัก ESG
👉 ทั้งนี้ตลาด Data Center ไม่ได้มีอยู่แค่ในมาเลเซียเท่านั้น หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังเติบโตเช่นกัน รวมถึงประเทศไทย คาดการณ์ตัวเลขในช่วงปี 2024-2027 การลงทุนในไทยจะมีมูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้สิ่งที่จะช่วยเพิ่มแรงดึงดูดให้กับประเทศไทยได้ ต้องมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์และนโยบายอำนวยความสะดวก เช่น การขยายระยะเวลาการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การสร้างระบบนิเวศที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และการพัฒนาทักษะบุคคล ซึ่งก็จะเพิ่มความสามารถของไทยในการแข่งขันได้
โฆษณา