Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เศรษฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศ
•
ติดตาม
12 ก.ย. เวลา 11:33 • การเมือง
ประเทศไทย กลไกที่บกพร่อง (ตอนที่ 1)
หลายคนมองว่าที่ประเทศเราไม่สามารถพัฒนาได้ไกลกว่านี้เป็นเพราะเรามีแต่ข้าราชการโกง นักการเมืองโกง ก็เลยคิดกันว่า ถ้าทุกคนทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและมีความรับผิดชอบต่อประชาชน เราก็จะแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้ แล้วก็ระดมทรัพยากรทั้งแรงกาย แรงเงิน ทั้งออกกฎป้องกัน รณรงค์ให้คนไม่โกง แต่ก็ไม่เคยได้ผล ประเทศก็ยังเต็มไปด้วยคนโกง
เมื่อก่อนตอนที่ผมยังทำงานอยู่ในภาคเอกชนหรือแม้แต่ทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐที่เป็นหน่วยงานวางแผนด้านเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในส่วนกลางผมก็มีความคิดแบบเดียวกัน จนกระทั่งเมื่อสิบปีที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสลงมาทำงานสัมผัสกับหน่วยงานภาครัฐภาคปฏิบัติทั้งในระดับกระทรวง กรม ภูมิภาค และท้องถิ่น ทำให้ความคิดผมเปลี่ยนไป
ผมพบว่า ไม่ว่านโยบายที่กำหนดมาจากผู้กำหนดนโยบายดีอย่างไร แต่นโยบายดังกล่าวยากที่จะเปลี่ยนเป็นผลได้ในภาคปฏิบัติ หรือแม้เป็นผล ก็จะเป็นผลที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างมาก หรือพูดให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ต้องการ 100 อาจจะได้เพียง 10 – 30
หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพราะทุจริต ซึ่งก็เป็นที่มาของการออกกฎหมายและกฎเกณฑ์จำนวนมากมาลงโทษและป้องกัน แต่การกระทำดังกล่าวกลับยิ่งทำให้ระบบไม่สามารถขับเคลื่อนหรือไม่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก ผมจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ผมมองว่า ปัญหาทั้งปวงเกิดขึ้นจากระบบไม่ดีเพราะถ้าระบบดี ระบบจะคัดคนไม่ดีออกไป หรือแม้แต่คนไม่ดีที่ยังเหลืออยู่จะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้ เพราะระบบจะทำให้เค้าทำสิ่งนั้นไม่ได้
บางคนบอกว่า อ้าว ถ้าอย่างนั้นเราก็มีระบบที่ดีแล้วสิ เพราะตอนนี้ เรามีกฎหมายและระบบศาลที่คอยคัดคนไม่ดีออกไป อันนี้ผมก็ขอไม่เห็นด้วย เพราะศาลเป็นปลายทางของปัญหา แต่ระบบที่ดีจะทำให้ปัญหาไม่เกิดตั้งแต่ต้น โดยที่ไม่ต้องออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์มาทำให้คนเกรงกลัวแล้วทำให้คนที่เป็นกลไกของระบบไม่ยอมทำในสิ่งที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบและทำให้สามารถทำงานได้อย่างจำกัดจนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการมีระบบขึ้นมาได้
คำถาม แล้วเราจะมีระบบที่ดีได้อย่างไร
ก่อนตอบคำถามนี้ เราต้องมาดูกันก่อนว่า “ระบบ” คืออะไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง
ตามนิยาม ระบบ หมายถึง กลุ่มขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีองค์ประกอบคือ
1. วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ชัดเจน (นโยบาย คำสั่ง)
2. อินพุต (Input): สิ่งที่ระบบได้รับหรือรับเข้ามาจากภายนอกเพื่อให้ระบบทำงาน เช่น ข้อมูล วัตถุดิบ พลังงาน กลุ่มคนที่ต้องถูกดำเนินการโดยกระบวนการของระบบเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป
3. กระบวนการ (Process): การดำเนินการที่เกิดขึ้นภายในระบบ ซึ่งจะทำการเปลี่ยนแปลงอินพุตให้กลายเป็นเอาท์พุต โดยมีส่วนประกอบย่อย ๆ (Components or Elements) ที่แต่ละส่วนทำหน้าที่เฉพาะ มีความสัมพันธ์และทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยให้ระบบสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. เอาต์พุต (Output): ผลลัพธ์หรือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากการทำงานของระบบ เช่น ผลิตภัณฑ์ บริการ ข้อมูล กลุ่มคนที่เปลี่ยนแปลงไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
5. ฟีดแบ็ค (Feedback): ข้อมูลที่ได้รับจากการประเมินผลลัพธ์ของระบบ ซึ่งจะถูกนำกลับมาใช้ในการปรับปรุงหรือปรับแต่งกระบวนการในระบบ
Set-point คือเป้าหมายนโยบาย Controller คือ รัฐบาล Actuator คือ ระบบราชการ Process คือ ระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง Sensor คือทีมมอนิเตอร์ผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ระบบมีขอบเขต (Boundary) ที่ชัดเจนที่แยกระหว่างสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบและสิ่งที่อยู่นอกระบบ
ตัวอย่างเช่น รถยนต์หนึ่งคันเป็นระบบที่มีเป้าหมายคือการทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้ในเวลาที่กำหนด ด้วยความสะดวกสบาย ปลอดภัย ที่ในระหว่างเดินทางนั้น แม้จะพบกับปัญหาอุปสรรคภายนอกขอบเขตของระบบในระหว่างเส้นทาง เช่น ถนนที่ขรุขระ สภาพอากาศที่ไม่ดี ทัศนวิสัยที่เลวร้าย รถยนต์จะต้องนำพาผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายได้อย่างปลอดภัยได้
โดยมีน้ำมันในถังหรือไฟฟ้าที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน มีชิ้นส่วนต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นเครื่องยนต์ ช่วงล่าง ตัวถัง ระบบอำนวยความสะดวกสบายภายในตัวรถ เป็นส่วนหลักของกระบวนการ มีความเร็วและทิศทางการขับเคลื่อนเป็นเอาต์พุต และมีมิเตอร์วัดความเร็ว กระจกหน้ารถ กระจกมองหลัง และกระจกหูช้าง ให้คนขับรู้ความเร็วและเห็นทิศทางรอบคันเป็นฟีดแบ็ค เพื่อที่คนขับได้นำข้อมูลที่ได้จากฟีดแบ็คมาใช้ในการปรับคันเร่ง เหยียบเบรก และหันพวงมาลัยเพื่อปรับให้ระบบยังมุ่งไปสู่เป้าหมายได้อย่างปลอดภัย
โดยระบบที่ดีจะต้องทำงานดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือกินน้ำมันต่อระยะทางน้อย ในขณะเดียวกันแม้มีการกระทบจากภายนอกก็ต้องไม่ทำให้เครื่องหลวมง่าย ช่วงล่างไม่พังเร็ว และที่สำคัญ ผู้โดยสารจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ได้รับผลกระทบหรือแม้แต่บาดเจ็บมากเมื่อมีสิ่งกระทบจากภายนอกแรงๆ
เมื่อได้เข้าใจตรงกันแล้วว่าระบบคืออะไรและประกอบด้วยอะไรบ้าง เราลองมาดูกันเลยครับว่า ทำไมผมจึงยืนยันว่าระบบของประเทศไทย ไม่ดี
เราลองมาดูที่ระบบของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานของระบบดังนี้
1. วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ชัดเจนของประเทศคืออะไร
2. ผู้ออกแบบระบบควรมีคุณสมบัติอย่างไร
3. กลไกการส่งผ่านจากเป้าหมายให้กลายเป็นผลลัพธ์ตามที่เป้าหมายกำหนดไว้ ควรเป็นอย่างไร
4. ในกรณีที่ระบบไม่สามารถให้เอาต์พุตตามเป้าหมายได้ ระบบมีกลไกอะไรที่จะนำมาใช้ปรับปรุงการขับเคลื่อนหรือปรับแต่งกระบวนการในระบบเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้
สำหรับข้อ 1 หลายคนอาจตอบคำถามนี้แตกต่างกันไป แต่ผมขอสรุปไว้เป็นกลุ่มดังนี้
1.1 เป้าหมายด้านเศรษฐกิจ
1.2 เป้าหมายด้านสังคม
1.3 เป้าหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.4 เป้าหมายด้านความมั่นคงของประเทศ
สำหรับข้อ 2 ถ้าเป็นรถยนต์ ผู้ออกแบบระบบคือทีมวิศวกรที่เป็นผู้ออกแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ หรือระบบย่อย ๆ ภายในระบบใหญ่ แล้วกำหนดการนำชิ้นส่วนหรือระบบย่อยเหล่านั้นมาประกอบกันและทำงานร่วมกันตามความสัมพันธ์ที่กำหนด จนทำให้ทั้งระบบใหญ่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ
แต่ถ้าเป็นประเทศ ผู้ออกแบบระบบคือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผู้เขียนกฎให้กับองค์ประกอบของทั้งประเทศที่เริ่มต้นตั้งแต่คนแต่ละคนและองค์กรแต่ละองค์กรทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบตามความสัมพันธ์ที่กำหนด เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ด้านโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ขับขี่ ประชาชนทุกคนในประเทศเป็นทั้งผู้โดยสารและเครื่องยนต์หลัก ระบบราชการเป็นเครื่องยนต์เสริม ช่วงล่าง ตัวถัง และสิ่งอำนวยความสะดวก และสุดท้ายมีระบบตุลาการทำหน้าที่เป็นตำรวจรถไฟคุมกฎเพื่อทำให้ทุกคน ทุกองค์กรในระบบปฏิบัติตามข้อกำหนดที่สภานิติบัญญัติกำหนดขึ้น
จะเห็นว่า ระบบรถยนต์จะดีได้ต้องเริ่มต้นด้วยการเลือกวิศวกรที่มีความรู้มาเป็นผู้ออกแบบ ในกรณีของประเทศ ระบบจะดีได้ต้องเริ่มด้วยการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีความรู้และความเข้าใจในเป้าหมายของประเทศทั้ง 4 ด้าน มาเป็นผู้ออกแบบ โดยทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกัน
ซึ่งแน่นอนว่า ในระหว่างการออกแบบย่อมต้องมีการถกเถียงกันถึงข้อดี ข้อเสีย เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด แต่ในที่สุด ต้องได้ข้อสรุปเพื่อนำมาซึ่งระบบที่ดีหรือเหมาะสมที่สุด
ถ้าถามว่าทีมออกแบบระบบที่ดีควรมีหน้าตาอย่างไร คำตอบของผมคือต้องประกอบด้วย วิศวกรเศรษฐกิจ วิศวกรสังคม วิศวกรระบบนิเวศ วิศวกรด้านความมั่นคง เพื่อออกแบบระบบให้สามารถนำไปสู่เป้าหมาย 4 ด้าน และมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่แปลภาษาของทุกวิศวกรให้กลายเป็นตัวหนังสือที่ให้ทุกคนปฏิบัติตาม เรียกว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับการออกแบบระบบของเราคือ เราไม่ได้ตั้งวิศวกรที่มีความรู้ครอบคลุมในทุกด้านเป็นหัวหน้าทีม แต่เราให้คนแปลภาษาวิศวกรเป็นตัวหนังสือให้ทุกคนปฏิบัติตามมาเป็นหัวหน้าทีม เราจึงไม่เคยได้รัฐธรรมนูญที่มีเป้าหมาย 4 ด้านที่ชัดเจน และยิ่งไปกว่านั้น ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร ระบบที่เราได้ ก็จะเป็นระบบที่เน้นไปที่การรักษาอำนาจมากกว่าระบบที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายทั้ง 4 ด้าน
ส่วนข้อ 3 และ 4 เรื่องยาวครับ ขอเป็นตอนต่อไป
ความคิดเห็น
เศรษฐกิจ
การเมือง
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย