12 ก.ย. เวลา 14:23 • การเมือง

ประเทศไทย กลไกที่บกพร่อง (ตอนที่ 3)

ข้อ 4 ในกรณีที่ระบบไม่สามารถให้เอาต์พุตตามเป้าหมายได้ ระบบมีกลไกอะไรที่จะนำมาใช้ปรับปรุงการขับเคลื่อนหรือปรับแต่งกระบวนการในระบบเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้
ในประเทศที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการหรือระบบพรรคเดียว ผู้นำจะเป็นเพียงผู้เดียวหรืออย่างมากมีกลุ่มคนไม่กี่คนทำหน้าที่มอนิเตอร์ว่านโยบายที่ขับเคลื่อนออกไปจะให้ผลตามที่ต้องการหรือไม่ หากไม่ ผู้นำหรือกลุ่มคนไม่กี่คนนี้จะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการปรับแต่งนโยบาย (จุดประสงค์ เป้าหมาย) กระบวนการหรือกลไก หรือแม้แต่ผลที่ต้องการเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ผู้นำสามารถปรับนโยบายได้แต่ไม่สามารถปรับกระบวนการหรือกลไกได้ เพราะหน้าที่นี้จะตกเป็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติ เนื่องจากในการขับเคลื่อนประเทศ กฎหมายเปรียบเสมือนตัวกำหนดกลไกและความเชื่อมโยงของแต่ละส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
ในประเทศที่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติจะมาจากต่างพรรคกัน แต่การถกเถียงจะเป็นการถกเถียงเชิงสร้างสรรค์ที่มีจุดมุ่งหมายของการถกเถียงอยู่ที่การได้องค์ประกอบหรือกลไกของระบบที่ดี โดยมีผลระหว่างทางอยู่ที่การทำให้ค่อย ๆ ได้รูปร่างหน้าตาขององค์ประกอบหรือกลไกของระบบที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ข้อสรุป ไม่ใช่การถกเถียงที่เป็นการทะเลาะที่มุ่งเอาชนะและทำให้ฝ่ายตรงข้ามหมดความน่าเชื่อถืออย่างที่เราเห็นในสภานิติบัญญัติของประเทศไทย
ยิ่งกว่านั้น แม้ในพรรคเดียวกัน ก็ต้องเกิดการถกเถียงเชิงสร้างสรรค์กัน ไม่ใช่คอยทำตามที่ผู้นำของพรรคสั่งแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหากเป็นเช่นนั้น สมาชิกนิติบัญญัติจะกลายเป็นตรายางประทับโดยมีคนใดคนหนึ่งเป็นวิศวกรตัวจริงเพียงคนเดียวที่เป็นผู้ออกแบบระบบ
แน่นอนว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถทำกระบวนการนี้ได้อย่าง perfect แต่คำถามที่สำคัญคือ สำหรับประเทศไทย เราทำกระบวนการนี้ได้ดีแค่ไหน หรือแม้แต่อย่าเพิ่งถามว่าเราทำได้ดีแค่ไหน เราอาจต้องถามก่อนว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติกี่คนใน 500 คนที่รู้และเข้าใจว่าเค้าคือวิศวกรผู้ออกแบบระบบที่ต้องทำงานร่วมกับสมาชิกอีก 499 คนอย่างเป็นทีมเดียวกัน
และหากย้อนกลับไปถามถึงที่มาของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ประชาชนกี่คนใน 77 ล้านคน ที่รู้และเข้าใจว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เค้าเลือกมาจะต้องเข้ามาทำหน้าที่นี้ ไม่ใช่ให้ไปทำหน้าที่แทนสมาชิกสภาเทศบาลเพื่อแก้ปัญหารายวันของท้องถิ่น
แน่นอนเช่นกันว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้ง 100% ที่รู้และเข้าใจและพร้อมทำงานร่วมกับสมาชิกที่เหลืออย่างเป็นทีมเดียวกันเพื่อเป้าหมายรวมเดียวกัน แต่สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าสัดส่วนของสภานิติบัญญัติที่รู้และเข้าใจนี้จะมีสัดส่วนที่มาก ซึ่งก็มีที่มาจากการที่ประเทศมีประชาชนที่รู้และเข้าใจในบทบาทและหน้าที่นี้อยู่ในสัดส่วนที่มาก
ดังนั้น หากประเทศเลือกที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตยก็ต้องมั่นใจหรือมีกระบวนการที่จะทำให้มั่นใจว่า สัดส่วนของประชาชนที่รู้ เข้าใจ จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะทำให้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติเข้าไปทำหน้าที่ออกแบบระบบให้เป็นระบบที่ดีมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และนี่เป็นสาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติกันใหม่ทุกรอบปีที่กำหนด ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกากำหนดให้เลือกใหม่ทุก 2 ปี
อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่ไม่มั่นใจว่าประชาชนที่เข้าใจจะมีสัดส่วนที่มากพอหรือไม่ จึงเลือกใช้วิธีให้กลุ่มคนหรือพรรคเป็นผู้คัดเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติขึ้นมาเอง เพราะคิดว่าวิธีนี้จะได้คนออกแบบระบบที่มีความรู้ความเข้าใจดีกว่าให้ประชาชนเลือกโดยตรง โดยมีประเทศที่ใช้ระบบนี้เช่นจีน เวียดนาม
เช่นเดียวกันกับประเทศในระบอบประชาธิปไตย วิธีการนี้จะถือว่าสำเร็จก็ต่อเมื่อ สมาชิกสภานิติบัญญัติแต่ละคนมีความรู้ความสามารถและมีอิสระในการอภิปรายที่นำไปสู่การร่วมกันออกแบบระบบให้กับประเทศอย่างสร้างสรรค์ เพราะหากสมาชิกเอาแต่นั่งฟังและยกมือตามที่ผู้นำสั่ง ผลก็ไม่ต่างจากการแค่เป็นตรายางให้กับผู้นำ
นอกจากการได้มาของผู้กำหนดและปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว การได้มาของผู้ขับเคลื่อนระบบและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับเคลื่อนระบบกับผู้กำหนดกลไกการขับเคลื่อนก็เป็นส่วนสำคัญในการทำให้ระบบเป็นระบบที่ดีที่สามารถพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ในประเทศประชาธิปไตยที่เป็นระบอบประธานาธิบดี ผู้กำหนดกลไกการขับเคลื่อนกับผู้ขับเคลื่อนระบบจะถูกแยกออกจากกัน กล่าวคือ ผู้ขับเคลื่อนระบบสามารถนำเสนอแนวคิดของระบบให้ผู้กำหนดกลไปพิจารณาได้ เพราะผู้ขับเคลื่อนจะมองเห็นว่าระบบควรต้องปรับปรุงอะไร แต่ไม่มีหน้าที่โดยตรงไปปรับปรุงกลไกระบบ เปรียบเสมือนคนขับที่เมื่อขับรถชำนาญแล้วก็จะรู้ว่ารถต้องปรับปรุงอะไรบ้างก็ยื่นข้อเสนอไปให้วิศวกรผู้รับผิดชอบเป็นผู้ปรับปรุง
วิธีการนี้ตั้งอยู่บนฐานความคิดว่า เพราะทั้งสองฝ่ายมีทักษะและความเชี่ยวชาญต่างกัน จึงควรแยกกันทำ และถึงแม้ว่าอาจจะมีคนใดคนหนึ่งที่เก่งไปทุกอย่าง แต่ก็มีเวลาจำกัดและภารกิจหลักที่แต่ละฝ่ายต้องทำต้องใช้เวลาและการโฟกัส เพราะฉะนั้นควรใช้เวลาในการทุ่มเทไปที่ภารกิจหลักของตน ด้วยเหตุนี้ ผู้นำรัฐบาลต้องไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อการตัดสินใจของ สส. ตัวอย่างที่ดีของระบบนี้คือสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตามในประเทศประชาธิปไตยที่เป็นระบอบรัฐสภาที่พัฒนาแล้วเช่นอังกฤษ ญี่ปุ่น หรืออินเดีย มองว่า ผู้ขับเคลื่อนคือผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าอยากให้ระบบเป็นแบบใด เพราะผู้ขับเคลื่อนรู้ว่าตอนนี้ระบบไม่ตอบสนองต่อความต้องการใดของตนบ้าง ด้วยเหตุนี้ หากต้องการให้ระบบทำงานตามที่ตนต้องการ ผู้ขับเคลื่อนต้องสามารถสั่งการผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงกลไกระบบได้โดยตรง ดังนั้นผู้ขับเคลื่อนคือนายกรัฐมนตรีจึงควรเป็นคนเดียวกันกับผู้นำของพรรคเพื่อสามารถสั่ง สส. ได้ว่าต้องปรับปรุงระบบอย่างไร
ในประเทศที่เป็นระบบสองพรรคใหญ่อย่างอังกฤษ ญี่ปุ่น อินเดีย จะทำได้โดยตรง แต่ประเทศที่เสียงของแต่ละพรรคไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เอง ต้องอาศัยการร่วมมือกับพรรคอื่นกลายเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ผู้ขับเคลื่อนจะไม่ใช่คนเดียวแต่จะกลายเป็นคณะผู้ขับเคลื่อนจากหลายพรรคโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะผู้ขับเคลื่อนซึ่งมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับหัวหน้าคณะ
เมื่อมีความเห็นจากคณะผู้ขับเคลื่อนอย่างไรแล้ว ก็ให้หัวหน้าของแต่ละกลุ่มไปสั่งการลูกทีมของตัวเองซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะมีการถกเถียงเชิงสร้างสรรค์ในแต่ละทีมย่อย ที่นำมาต่อยอดถกเถียงเชิงสร้างสรรค์ของคณะผู้ขับเคลื่อนอีกต่อหนึ่ง ประเทศที่ใช้ระบบนี้เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบนี้ แต่สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือการถกเถียงเชิงสร้างสรรค์ทั้งในพรรคตัวเองและในรัฐสภาที่เป็นการถกเถียงระหว่างพรรค ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปที่ที่มาของ สส. คือสัดส่วนของประชาชนที่มีความเข้าใจและให้ความสำคัญในอำนาจหน้าที่ของ สส. ยังมีสัดส่วนที่น้อย และยังมีการรัฐประหารเป็นตัวรีเซ็ทกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาความคืบหน้าของการเลือกตัวแทนของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่เขียนระบบและสร้างระบบตามความเห็นของตนขึ้นมาเองโดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกของประชาชน
และเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เพื่อให้ประเทศได้รับการยอมรับจากนานาอารยะประเทศ ก็ยอมให้ตัวแทนของประชาชนเข้ามาร่วม และเมื่อตัวแทนของประชาชนเข้ามา ก็มีความพยายามในการออกแบบระบบใหม่ แต่เมื่อผ่านไปอีกระยะหนึ่งก็เกิดรัฐประหารใหม่ วนซ้ำมาซ้ำไปอย่างนี้ไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้ เราจึงเป็นประเทศที่ไม่เคยไปถึงเป้าหมาย อาจจะมีช่วงสั้นๆ ที่การเมืองมีเสถียรภาพและได้คนขับเก่งที่เก่งทั้งขับและออกแบบระบบ ช่วงนั้นประเทศก็จะเจริญขึ้นอย่างผิดหูผิดตา แต่ก็จะหายไปในเวลาไม่นาน
ทั้งหมดที่ได้พยายามยกมาให้เห็นนี้ ก็เพื่อที่จะยืนยันว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาโครงสร้างทั้งระบบจนทำให้ประเทศเรากลายเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางที่พัฒนาได้ยากมากๆ ตามคำกล่าวที่ตั้งไว้เป็นหัวข้อเรื่องของบทความนี้
ประเทศไทย กลไกที่บกพร่อง
สุดท้าย ภาพที่แนบมานี้คือโครงสร้างของระบบอย่างง่าย จะเห็นได้ว่า output ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง จะเป็นไปตามเป้าหมาย ระบบทั้งระบบจะต้องทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะเป็นดังนั้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบทั้งระบบโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และในระหว่างนั้น หากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบท ก็จะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน (ซึ่งต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ)
แต่จะปรับเปลี่ยนได้ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ศักยภาพของสภานิติบัญญัติ ซึ่งจะมีคุณภาพแค่ไหนนั้น ในระบอบประชาธิปไตย คนกลุ่มนี้มีที่มาจากประชาชน
โฆษณา