13 ก.ย. เวลา 08:27 • ข่าว

รูก้นมีไว้หายใจได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น/ สหรัฐ ตบเท้าคว้ารางวัล Ig Nobel หลังค้นพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถหายใจทางก้นได้
คำว่า "Gut Feeling" อาจไม่ได้เป็นแค่คำแสลงที่แปลว่า "ลางสังหรณ์" อีกต่อไปแล้ว เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา 11 คน นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ทาคาเบะ ทาคาโนริ จากมหาวิทยาลัย Tokyo Medical and Dental University ได้พิสูจน์แล้วว่า ลำไส้อาจมีความสำคัญมากกว่านั้น เพราะมันหายใจผ่านทางรูก้นได้ด้วย!!
1
สมมติฐานที่ว่า ลำไส้ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดอาจมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการหายใจทางทวารหนัก อาจฟังดูแปลกๆ และน่าจะเป็นเรื่องตลกเสียมากกว่า แต่วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า มันเป็นไปได้
โดยทีมวิจัยของทาคาเบะ ได้ทำการทดลองกับหนู และ สุกรที่กำลังป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ ด้วยการฉีดของเหลวที่มีออกซิเจนสูงทางทวารหนักให้กับสัตว์ทดลอง และพบว่า สัตว์ทดลองสามารถดูดซับออกซิเจนที่ส่งผ่านทางลำไส้ได้ ที่ทำให้พวกมันมีอาการดีขึ้น ที่สนับสนุนสมมติฐานว่าลำไส้เป็นอวัยวะที่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ และอาจสามารถรักษาอาการระบบหายใจล้มเหลวได้ด้วย
1
การค้นพบของพวกเขาได้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ Med ในปี 2021 อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากสื่อตะวันตกมากมาย อาทิ New York Times, New York Post, Science Now และ ช่องรายการข่าววิทยาศาสตร์ "The Nature of Things"
1
การค้นพบเรื่องการหายใจทางสำไส้ผ่านทวารหนัก ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีความสำคัญกับมนุษย์อย่างไร?
ศ. ทาคาเบะ ทาคาโนริ อธิบายว่า ในบางครั้ง ปอดของมนุษย์อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ ช่วงทารกแรกเกิด ที่สุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้หากมีอุปสรรคในการใช้เครื่องช่วยหายใจทั่วไป ทีมวิจัยจึงหวังที่จะต่อยอดองค์ความรู้นี้ เพื่อพัฒนาการกระบวนการรักษา อาการภาวะระบบการหายใจล้มเหลวในมนุษย์ที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
การค้นพบครั้งนี้ ยังทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ ทาคาเบะ สามารถคว้ารางวัล อิก โนเบล หรือ Ignoble Nobel prizes รางวัลที่มอบให้แก่งานวิจัยสุดยอดไอเดียแปลก สุดเหลือเชื่อ อาทิ การลอยกบด้วยพลังแม่เหล็ก การพิสูจน์ว่าปลาที่ตายแล้วยังสามารถว่ายน้ำได้ หรือพืชบางชนิดมีความสามารถในการมองเห็น และเลียนแบบรูปร่างของต้นไม้พลาสติกได้ ฯลฯ
แม้ อิก โนเบล จะถูกมองว่า เป็นเพียงรางวัลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อล้อเลียนรางวัลโนเบล แต่ความตั้งใจของผู้มอบรางวัลนี้ อยากทำให้วิทยาศาสตร์มีอารมณ์ขัน ที่จะกระตุ้นความคิดของผู้คนได้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์ได้มีจินตนาการ มีความกล้าที่จะคิดนอกกรอบ ตั้งคำถามในสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็นไปไม่ได้
ซึ่งศาสตร์แปลกๆ ลักษณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นเก่งนักแล เพราะตั้งแต่ก่อตั้งรางวัล อิก โนเบล ตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา มีนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นคว้ารางวัลนี้ไปแล้วถึง 18 ปีติดต่อกัน รวมถึงปี 2024 ล่าสุดนี้ด้วย
1
ส่วนรางวัลของผู้ชนะก็มีมูลค่าสูงใจหาย เป็นธนบัตรใบ 100 ล้านล้านซิมบับเวดอลลาร์ (ประมาณ 0.40 ดอลลาร์สหรัฐ) ที่ไม่มีใครนำไปแลกใช้ นอกจากเก็บสะสมไว้คู่กับรางวัลเป็นคุณค่าทางใจ แล้วค่อยไปลุยตั้งโจทย์วิทยาศาสตร์ข้อใหม่เพื่อหาคำตอบให้มนุษยชาติกันต่อไป
2
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา