15 ก.ย. เวลา 09:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยยังโตช้า เชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. 67 ต่ำสุดรอบ 13 เดือน

หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. 67 ลดลงติดต่อกัน 6 เดือน ต่ำสุดรอบ 13 เดือน กังวล ศก.ไทยฟื้นตัวช้า หวังดิจิทัลวอลเล็ตช่วยหนุน
หอการค้าไทย รายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. 67 พบว่าปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัวและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่ ประกอบกับราคาพลังงานปรับสูงขึ้น
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงสงครามระหว่างประเทศยืดเยื้อ อาจกดดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าลงเช่นเดียวกัน แต่หากรัฐบาลเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8%
เศรษฐกิจไทยยังโตช้า เชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. 67 ต่ำสุดรอบ 13 เดือน
ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.2 53.9 และ 65.6 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงาน และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงจากระดับ 57.7 เป็น 56.5 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 66 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวช้าและค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลและฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป
และการจ้างงานในอนาคต โดยยังมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 41.5 เป็น 40.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต ปรับตัวลดลงจากระดับ 65.4 มาอยู่ที่ระดับ 64.3 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ทุกรายการ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้รวดเร็วหรือไม่ แม้สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเริ่มมีเสถียรภาพในมุมมองของผู้บริโภค เนื่องจากประชาชนยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้น หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 2.6-2.8% แต่ถ้าไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.4-2.6%
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชน
การบริหารจัดการน้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก
เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองช่วงปลายปี
ส่งเสริมสินค้าไทยแข่งขันกับตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าจีนที่มีราคาต่ำกว่าสินค้าไทย
ควบคุมต้นทุนราคาที่เป็นปัจจัยการผลิต
มาตรการควบคุมตลาดขายสินค้าออนไลน์
รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย
รองศาตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ 8 จังหวัด เช่น เชียงราย แพร่ และน่าน ด้วยว่ามีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สินค้าเกษตร และการท่องเที่ยว คาดว่าจะสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่กระทบหนักมากเท่ากับปี 54 อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์น้ำท่วมยังมีการระบายได้
ส่วนกรณีการเดินหน้าขึ้นค่าแรง 400 บาท วันที่ 1 ต.ค. 67 สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพนักงาน 200 คนขึ้นไป แต่ไตรภาคีจังหวัดไม่เห็นด้วย 100% นั้นมองว่า ผู้ประกอบการยังขาดสภาพคล่องควรได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ จึงให้ทบทวนเรื่องนี้ให้เหมาะสมก่อน
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/232476
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา