14 ก.ย. เวลา 02:58 • หนังสือ

Yellowface วรรณกรรมสลับหน้า

ไม่ผิดหวังเลยจริงๆสำหรับ Yellowface #วรรณกรรมสลับหน้า จาก Beat ตอนแรกที่สำนักพิมพ์ปล่อยเรื่องย่อออกมาเราก็รู้สึกแล้วว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องสนุกแน่ๆ พอได้อ่านแล้วก็เป็นแบบที่คิดไว้เลย ดีใจที่สำนักพิมพ์เลือกเล่มนี้มาแปล มีประเด็นให้ขบคิดต่อเยอะมาก รับรองเลยว่าโพสต์นี้ยาวชัวร์ 🤣
ตัวละครหลักของเราในครั้งนี้คือ "จูน เฮย์เวิร์ด" นักเขียนหญิงผิวขาวที่ไม่ประสบความสำเร็จในวงการหนังสือเท่าไหร่ เพราะหนังสือเล่มแรกของเธอเจ๊งไม่เป็นท่า แถมเธอยังเขียนงานเล่มต่อไปไม่ได้สักที จูนเป็นเพื่อนกับ "อะธีนา หลิว" นักเขียนหญิงเชื้อสายเอเชียที่โด่งดังยิ่งกว่าพลุแตก ได้ตีพิมพ์ผลงานตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัย และยังคงผลิตผลงานคุณภาพที่มียอดขายถล่มทลายออกมาอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้จูนจึงแอบอิจฉาอะธีนาอยู่ลึกๆมาตลอด
ในขณะที่ทั้งคู่ไปดื่มฉลองให้กับความสำเร็จอีกขั้นของอะธีนา จูนก็ได้กลายเป็นผู้อ่านคนแรกของผลงานเล่มล่าสุดที่กำลังจะเปิดตัว หนังสือเล่มใหม่ที่ว่าด้วยเรื่องราวของแรงงานจีนในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เธอมองออกทันทีว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องไปได้ดี ไฟริษยาในใจยิ่งลุกโชนมากขึ้น และเมื่อมีอุบัติเหตุบางอย่างที่คร่าชีวิตอะธีนา จูนจึงไม่รีรอที่จะฉกต้นฉบับเหล่านั้นกลับมาด้วย เธอปรับแต่งมันเล็กน้อยจนกลายเป็นเรื่องราวอันสมบูรณ์ จากนั้น "แนวรบด่านสุดท้าย" ก็ออกสู่สายตาประชาชน
กระแสตอบรับของหนังสือดีเกินคาดจนส่งให้จูน (ซึ่งตอนนี้ใช้นามปากกาว่า "จูนิเปอร์ ซอง") กลายเป็นดาวเด่นคนต่อไปทันที แต่เงามืดก็เริ่มคืบคลานกลับมาอีกครั้งเมื่อมีคนออกมาเปิดโปงว่าจูนขโมยผลงานเล่มนั้นไปจากอะธีน่า จูนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาความลับครั้งนี้เอาไว้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วชีวิตการงานของเธอในวงการนี้จะต้องพินาศชนิดที่ไม่มีวันได้โงหัวกลับขึ้นมาอีกเลย
ต้องบอกว่าเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวในสังคมของเราได้หลากหลายแง่มุมมาก จนแทบไม่น่าเชื่อว่ายังคงความสนุกเอาไว้ได้โดยที่เนื้อหาไม่เละเทะไปเสียก่อน จุดที่สัมผัสได้หลักๆเลยคืออิทธิพลของสื่อโซเชียลมีเดียต่อชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน การเหยียดเชื้อชาติ/เลือกปฏิบัติ และการตีแผ่การทำงานในวงการหนังสือ ซึ่งเราจะเขียนเล่ารวมๆแล้วกัน เพราะทั้ง 3 ประเด็นนี้มันพัวพันโยงใยกันไปหมด
เป็นเรื่องปกติมาก (?) ที่พื้นที่ในสังคมออนไลน์ทุกวันนี้เต็มไปด้วยถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชังต่อสิ่งต่างๆ จริงอยู่ว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะคล้อยตามกันได้ง่ายเมื่อพวกเขามีความไม่พอใจต่ออะไรสักอย่างเหมือนกัน แต่กับโลกโซเชียลแล้ว ความรู้สึกนั้นดูจะทวีความรุนแรงขึ้นกว่าปกติ พวกเขาพร้อมที่จะรุมกันสาดโคลนใส่ใครสักคนที่บังเอิญตกเป็นหัวข้อข่าวเมาท์ในวันนั้น แล้ววันถัดมาก็เปลี่ยนเป้าหมายไปเสียดื้อๆ เหมือนแค่อยากหาที่ระบายอารมณ์อย่างไรอย่างนั้น
สังเกตได้จากทุกเรื่องที่เราเห็นผ่านตาในโซเชียล แทบจะไม่มีเรื่องไหนเลยที่ไม่กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งนำไปสู่การพิมพ์โต้ตอบกันไปมาด้วยข้อความที่ถ้ามีเสียงประกอบก็คงเป็นการตะคอกใส่กันจนคอแตก หลายครั้งที่เราลองไปตามส่องดูก็มีที่มาจากเรื่องเล็กน้อย อย่างการตีความไม่แตกของใครสักคน จากนั้นก็บึ้ม!! 💣 กลุ่มคนที่รอจังหวะอยู่แล้วก็มาร่วมวงด้วย ทำให้เรื่องมันบานปลายใหญ่โตกันไปหมด
เบร็ตต์พูดถูกที่ว่าเรื่องอื้อฉาวคือการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดแบบฟรี ๆ
แล้วเมื่อถึงจุดที่ประเด็นนี้มันเป็นไวรัลมากๆ สื่อใหญ่ๆอย่างสำนักข่าวเองก็จะเอาไปเล่นต่อ ในกรณีที่ร้ายแรงมากก็อาจจะมีกระแสการแบนบุคคลนั้นๆขึ้นมา แต่สำหรับวงการหนังสือ (และอาจจะรวมถึงวงการอื่นๆด้วย) มันคือการดึงดูดให้มีคนมาสนใจผลงานชิ้นนั้นมากขึ้น ยิ่งมีข่าวลือร้ายแรงเกี่ยวกับหนังสือหรือตัวนักเขียนมากเท่าไหร่ ผู้คนก็จะยิ่งจับตามองและอดไม่ได้ที่จะควักเงินซื้อมัน เพื่อที่ตัวเองจะได้ตามทันว่าคนในสังคมเขาคุยอะไรกันอยู่ ผลที่ตามมาก็คือเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นน่ะสิ
ความพยายามของนักเขียนไม่เกี่ยวอะไรกับความสำเร็จของหนังสือเลย หนังสือขายดีน่ะถูกกำหนดไว้แล้ว
ถึงจะฟังดูเลวร้าย แต่เราว่ามันก็เป็นความจริงอยู่เหมือนกันนะ หลายครั้งเราก็รู้สึกว่าหนังสือบางเล่มได้พื้นที่สื่อมากกว่าเล่มอื่นๆ มีกระแสวิจารณ์ในเชิงบวกตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว มีคำนิยมจากคนดังๆ ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใหญ่ที่คนรู้จักมานาน แล้วทันทีที่วางขายมันก็กอบโกยรายได้ไปได้อย่างมหาศาล ทั้งที่เมื่อเปิดอ่านเนื้อหาข้างในแล้วมันอาจจะไม่ได้ดีเด่อะไรขนาดนั้นด้วยซ้ำไป 😅
เพราะธุรกิจนี้ก็เป็นแบบนี้ละ สำนักพิมพ์เลือกผู้ชนะ...ผู้หญิงผิวเหลืองที่ดูแล้วอาจจะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ คือคนที่พวกผู้มีอำนาจเลือกไว้แล้ว
ประโยคนี้มันจุกอกเราเหมือนกันนะ พออ่านแล้วก็ได้แต่ย้อนคิดว่าในอดีตหรือแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ มีหนังสือเล่มไหนบ้างไหมที่เนื้อหาอาจจะโดดเด่นมากๆ แต่โชคไม่ดีพอที่จะถูกเลือกมาให้ได้ฉายแสงของตัวเอง เพียงแค่เพราะอคติของคนที่มีอำนาจตัดสินใจไม่กี่คน หรือแค่เพราะพวกเขาคิดเอาเองว่ามันจะทำเงินได้ไม่มากพอ อย่างที่ในยุคก่อนที่นักเขียนที่มีโอกาสมากกว่าคือนักเขียนชายผิวขาว และหนังสือเล่มนี้ก็ได้นำเสนอภาพสะท้อนกลับว่านักเขียนที่ได้รับความสนใจที่สุดในสมัยนี้จะต้องเป็นคนที่มีความหลากหลาย
ซึ่งเรื่องนี้ก็ต่อประเด็นออกไปอีกว่า การที่พวกเขาเลือกตีพิมพ์ผลงานของผู้ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติหรือเพศนั้น มันคือการยอมรับความแตกต่างเหล่านี้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ฉากหน้าที่ช่วยปกป้องพวกเขาจากคำครหาเรื่องการเลือกปฏิบัติ ทั้งที่ตัวเองไม่เคยตระหนักถึงเรื่องนี้เลยสักนิด
แต่นี่ไม่ใช่งานศิลป์ที่ดี มันทำให้งานเขียนน่าหงุดหงิดและเข้าใจยาก
ข้อความส่วนนี้อาจจะดูไม่มีอะไรเลย ถ้ามันไม่ได้กล่าวถึงการที่อะธีนาใช้คำเรียกคนในครอบครัวเป็นคำในภาษาจีนแทนภาษาอังกฤษ ทั้งที่มันเป็นเรื่องปกติมากโดยเฉพาะเมื่อ setting หลักของหนังสือคือตัวละครชาวจีน การที่พวกเขาจะเรียกคนในครอบครัวเป็นคำในภาษาจีนมันก็มันไม่ใช่เรื่องแปลกตรงไหน แค่เติมเชิงอรรถเข้าไปสักหน่อยก็ได้แล้วไม่ใช่หรือ
อีกเรื่องคือการที่ตัวละครมีชื่อคล้ายๆกัน ซึ่งจูนมองว่าสิ่งนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกสับสน เธอจึงจำเป็นต้องมีการปรับชื่อเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจง่าย ส่วนตัวแล้วเราไม่ได้ติดใจอะไรกับประเด็นนี้เท่าไหร่เพราะบางครั้งชื่อตัวละครที่ใกล้เคียงกันก็อาจจะทำให้คนอ่านงงได้จริง แต่ก็แอบคิดไม่ได้ว่าบางทีชื่อมันอาจจะไม่ได้ใกล้เคียงขนาดนั้นหรอก สาเหตุที่แท้จริงคือคนในสำนักพิมพ์เองอาจจะไม่พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมของชาติอื่นหรือเปล่า 🙄
การอ่านควรเป็นประสบการณ์​ที่สนุกไม่ใช่ภาระ
เรามองว่าคนแต่ละคนมีความคาดหวังต่อการอ่านต่างกัน บางคนอ่านเอาสนุก บางคนอ่านเอาความรู้ ดังนั้นคำว่าภาระนี้มันจึงขึ้นอยู่กับว่าคุณหมายถึงอะไร ลำดับการเล่าเรื่องวกไปวนมา ไม่เป็นเส้นตรง ก็อาจเป็๋นภาระของคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่การวรรคตอนแบบแปลกๆ การสะกดคำที่ไม่ถูกต้องก็อาจขัดขวางอรรถรสในการอ่านของคนอีกกลุ่มได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีเรื่อง Parasite ที่ชนะรางวัลเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 2019 ก็มีชาวต่างชาติบางกลุ่มออกมาวิจารณ์ว่าทำไมคนเราถึงคิดว่าหนังที่ต้องลำบากอ่าน subtitle เพื่อให้เข้าใจเนื้อเรื่องเป็นหนังที่เยี่ยมยอดด้วย หลังจากนั้นก็มีกระแสตีกลับจากชาวต่างชาติกลุ่มอื่นๆว่าหลายประเทศเขาก็ดูหนังแบบมี subtitle กันทั้งนั้น แค่พวกคุณยึดเอาภาษาตัวเองเป็นศูนย์กลางมาตลอด พอถึงวันที่มีสื่อจากชาติอื่นบูมขึ้นมาก็มางอแงว่าการอ่าน subtitle เป็นภาระซะงั้น
ต้นฉบับของอะธีนาน่ะอคติมากจนน่าเกลียด
บรรณาธิการของจูนรู้สึกว่าจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมตัวละครผิวขาวที่เดิมอะธีนาต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการเหยียดเชื้อชาติในยุคสงครามให้เบาลง พวกเขามองว่านำเสนอทหารยุโรปในมุมเหล่านั้นมันรุนแรงเกินไป ซึ่งก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะเราไม่ควรเหมารวมคนทั้งกลุ่มจากการกระทำของคนแค่ไม่กี่คนที่เราเคยพบเจอมา เพราะต่อให้เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน ความเชื่อเดียวกัน หรือแม้กระทั่งครอบครัวเดียวกัน พวกเขาก็ยังคงเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความคิดเป็นของตัวเอง และมีนิสัยใจคอแตกต่างกันไป
แต่อีกมุมหนึ่งมันก็สะท้อนภาพว่าเมื่อเป็นตัวละครผิวสีกลับไม่ค่อยมีคนคิดแบบนี้เท่าไหร่นัก พวกเขามันจะถูกกำหนดให้เป็นตัวรอง เป็นตัวละครที่แสดงถึงความแปลกประหลาด ความดุร้ายป่าเถื่อน ความเสื่อมโทรม หรือความฉ้อฉลไว้ใจไม่ได้ แต่ให้พูดกันตามตรงแล้วแม้แต่ตัวละครผิวขาวเองก็โดนไม่ต่างกัน โดยเฉพาะในนิยายวัยรุ่นที่มักเหมารวมว่าผู้ชายร่างใหญ่จะต้องเป็นคนที่ไม่ค่อยฉลาด ส่วนผู้หญิงที่สวยและป๊อปมากก็มักจะทำตัวไร้สมอง เรียกว่าหยิบเล่มไหนมาอ่านก็ต้องเจอตัวละครแบบนี้
คุณเป็นคนที่ทำงานด้วยง่ายมาก นักเขียนส่วนใหญ่จะเรื่องมากจริงๆในตอนที่ต้องตัดทอนลูกรักของพวกเขา
หลังจากได้อ่านประโยคนี้แล้วเราจึงมองว่าข้อความทั้งหลายที่เราหยิบยกไปข้างต้นนั้น มันเป็นแค่ข้ออ้างของทางสำนักพิมพ์ที่จะปรับแต่งเรื่องราวออกมาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาไม่ได้แคร์จริงๆหรอกว่าผลงานชิ้นนี้จะมีคุณค่าทางวรรณศิลป์อย่างไร สำหรับพวกเขาแล้วยอดขายต่างหากคือตัวตัดสินว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่า (ต่อธุรกิจของพวกเขา) หรือไม่
ซึ่งในจุดนี้เราก็เข้าใจได้ว่านักเขียนเองก็จำเป็นที่จะต้องเลือกระหว่างการยืนหยัดเพื่อผลงานที่ตัวเองรังสรรค์ขึ้นด้วยความประณีต หรือเงินก้อนโตจากการเซ็นสัญญาและค่าลิขสิทธิ์ที่จะช่วยจ่ายค่าดำรงชีวิตของตัวเองและครอบครัว แต่ก็มีบ้างที่คิดขึ้นมาว่าการที่บรรณาธิการอยากให้ตัดฉากที่แม้แต่จูนเองก็ยังรู้สึกว่าทรงพลัง แล้วเธอก็ยอมแก้มันเพื่อให้งานได้ตีพิมพ์ มันเป็นเพราะเธอไม่ได้รู้สึกถึงความเหนื่อยยากในการสร้างมันมาแต่แรกหรือเปล่า ก็อย่างว่าแหละนะ เธอแค่หยิบฉวยมันมาจากคนอื่นนี่นา 😏
เธอขโมยถ้อยคำออกไปจากปากของฉัน เธอทำสิ่งเดียวกันกับคนรอบตัวเธอมาตลอดอาชีพของเธอ
เมื่อเราอ่านไปเรื่อยๆเราจะพบว่าจูน เฮย์เวิร์ด ไม่ได้รู้สึกผิดเลยสักนิดกับสิ่งที่เธอทำลงไป มิหนำซ้ำยังมองว่าอะธีนาเองก็ทำไม่ต่างจากเธอ ขโมยเรื่องราวที่เป็นของคนอื่นแล้วเอามาถ่ายทอดเป็นตัวอักษรของตัวเอง ต่อเติมเนื้อหา บิดเบือนตรงนั้นตรงนี้ จนกระทั่งได้ออกมาเป็นต้นฉบับเล่มใหม่ แล้วการที่เธอจะขโมยมันต่อจากหัวขโมยอย่างอะธีนาอีกทีมันผิดตรงไหนกัน ในเมื่อเรื่องนี้ไม่ใช่ของอะธีนามาตั้งแต่แรก ใครกันที่เป็นคนตัดสินว่ามีแต่อะธีนาเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการเล่ามัน
โลกนี้รุ่มรวยอยู่แล้ว สิ่งที่ฉันทำก็แค่กลั่นเอาความยุ่งเหยิงของชีวิตมนุษย์เข้ามาเป็นประสบการณ์การอ่านที่อัดแน่นเท่านั้น
แต่เมื่อจูนต้องเผชิญกับทางตันของความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเธอไม่มีทรัพยากรที่จะดึงมาใช้ในการเขียนหนังสือเล่มถัดไป เธอก็กลับ "บังเอิญ" นึกขึ้นมาได้ว่ากวีคนหนึ่งเคยพูดข้อความนี้กับเธอ ดังนั้นจูนจึงตัดสินใจว่าจะลองเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของโลกนี้เอามาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวของเธอดูบ้าง อ่านแล้วรู้สึกได้เลยว่าแม่สาวคนนี้มีความสับสนในตัวเองค่อนข้างมาก หรือไม่ก็เป็นแค่คนที่พยายามหาความชอบธรรมให้สิ่งที่ตัวเองทำอยู่เสมอ ทำนองว่าฉันทำได้ไม่ผิด แต่พวกเธอห้ามทำนะ
รู้สึกว่าชักจะยาวเกินไปละ 55555 เอาเป็นว่าใครอยากลองทดสอบความอดทนไม่ให้หยุมหัวตัวเอกของเรื่องล่ะก็ ไปหาซื้อมาอ่านกันได้ เล่มค่อนข้างหนานิดหน่อย แต่รับประกันว่าความสนุกก็อัดแน่นด้วยเช่นกัน 👉🏻 https://s.shopee.co.th/40Nik1kreU
โฆษณา