14 ก.ย. 2024 เวลา 13:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

อย่ารอให้ ‘ข้าวสารกลายเป็นข้าวสุก’ 5 บทเรียนการเงินจาก ‘หลานม่า’ ที่ทุกคนควรเรียนรู้ก่อนจะสายเกินไป

🍿 หลังจากที่ดู ‘#หลานม่า’ ไปครั้งแรกเมื่อหลายเดือนก่อน ตอนนั้นร้องไห้น้ำตาไหลไปหลายรอบมาก (แบบเสื้อเปียก)
เมื่อวานกลับมาดูอีกรอบเพราะเข้า #Netflix แล้ว คิดว่ารอบนี้คงไม่ร้อง...แต่ที่ไหนได้...ไม่รอดเช่นเดิม
สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูขอเล่าย่อๆ ละกันครับ
🎬 เอ็ม (บิวกิ้น พุฒิพงศ์) เด็กหนุ่มที่ดรอปเรียนเพื่อหันมาเอาดีทางการแคสต์เกม แต่ยังไม่รุ่ง ตัดสินใจไปดูแลอาม่า (แต๋ว-อุษา เสมคำ) ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง และน่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินปี หวังว่าจะได้รับมรดก เหมือนกับที่ลูกพี่ลูกน้อง มุ่ย (ตู ต้นตะวัน) ที่เคยดูแลอากงที่ป่วย และได้รับบ้านราคาหลายล้านเป็นมรดกไป
1
แต่แน่นอนว่าหลังจากที่เอ็มได้ใช้เวลากับอาม่า ก็เริ่มเข้าใจถึงความเหงาของอาม่าวัย 79 ปีที่รอคอยเพื่อให้ลูกๆ มาเยี่ยม มาใช้เวลาด้วยกัน จนทำให้เอ็มที่แม้จะเริ่มต้น ‘หว่านพืชหวังผล’ ได้เรียนรู้ถึงความหมายของครอบครัว ความสัมพันธ์ ที่มีค่ามากกว่าเงิน
ถึงจะเป็นภาพยนตร์แนวดราม่า แต่ก็แฝงไปด้วยบทเรียนทางด้านการเงินที่เราสามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน
📌 1. การดรอปเรียนเพื่อทำงานออนไลน์ ไม่ได้สวยงามเสมอไป : แม่ของเอ็มพูดกับเขาว่าตอนที่ดรอปเรียนเพื่อมาแคสต์เกมเขาบอกแม่ว่าจะหาเงินได้มากมาย จะจ่ายเงินเดือนให้แม่ด้วย แต่เวลาผ่านไปเขาก็ทำไม่ได้ตามที่คาดเอาไว้
3
การทำงานเสริมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์หรืออินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ นั้นล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่การจะดรอปเรียนมหาวิทยาลัยออกมาเลยเพื่อทำอาชีพนี้เต็มตัวมันอาจจะไม่ได้สวยงามขนาดนั้น
Mr.Beast หนึ่งในยูทูบเบอร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของโลกเคยทวีตเอาไว้ว่า
"มันเจ็บปวดมากที่เห็นคนลาออกจากงาน หรือ ออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำคอนเทนต์แบบเต็มเวลาก่อนที่จะพร้อม สำหรับคนหนึ่งคน เหมือนอย่างผมที่ประสบความสำเร็จ มีอีกหลายพันคนที่ล้มเหลว โปรดจำประเด็นนี้ไว้และใช้ความคิดให้รอบคอบด้วย"
📌 2. การเตรียมตัวช่วงเกษียณเป็นเรื่องจำเป็นมาก : อาม่าใช้ชีวิตไม่ได้หรูหรา ทำงานตื่นเช้ามาขายโจ๊กจนถึงช่วงท้ายๆ ของชีวิต หาเงินเก็บเงินมาเรื่อยๆ (แม้ในเรื่องจะมีลูกชายมาช่วยเรื่องนี้ด้วย) แต่เราจะเห็นเลยว่าทุกวันก็ยังจะต้องมีค่าใช้จ่ายตลอด เจอหมอ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ
ยิ่งเรามีอายุยืนเท่าไหร่ เทคโนโลยีทางการแพทย์ดีขึ้นเท่าไหร่ การวางแผนการเงินสำหรับเกษียณยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น
2
คิดตัวเลขง่ายๆ หากทุกวันนี้เรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท วางแผนหยุดทำงานตอนอายุ 60 ปี คาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึง 90 ปี (อยู่ต่ออีก 30 ปี) นั่นเท่ากับว่า (15,000 x 12 x 30)
2
เงินที่ต้องมี ณ วันที่หยุดทำงาน = 5,400,000 บาท
แต่อย่าลืมว่านี่เราไม่ได้คิดถึงเรื่องค่าหมอ ค่ายา ต่างๆ ที่ต้องใช้หากไม่สบายด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือยังมีแรงกำลังอยู่ ควรคิดคำนวณถึงเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ
1
ตายแล้วแต่ใช้เงินไม่หมดยังส่งต่อเป็นมรดกให้คนข้างหลังได้ แต่ถ้าใช้เงินหมดแล้วแต่ยังไม่ตายเราอาจกลายเป็นภาระลูกหลานได้ในที่สุด
7
📌 3. เรื่องเงินอาจจะไม่ได้แฟร์สำหรับทุกคน เหตุผลที่ควรทำพินัยกรรม : มีฉากหนึ่งที่อาม่าไปหาพี่ชายที่มีบ้านหลังใหญ่โต ได้มรดกของพ่อแม่ไป ช่วยเงินสักล้านหนึ่งเพื่อซื้อฮวงซุ้ยในพื้นที่สวยๆ กว้างๆ ให้ตัวเองเมื่อจากโลกนี้ไป แต่ก็กลับถูกปฏิเสธ ทั้งๆ ที่คนที่ดูแลพ่อแม่ของพวกเขาช่วงสุดท้ายของชีวิตคืออาม่า ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่แฟร์เลย
3
แม่ของเอ็ม (ลูกสาวของอาม่า) ก็มีฉากหนึ่งที่พูดประมาณว่าลูกชายได้สมบัติ ส่วนลูกสาวได้โรคภัย ชี้ให้เห็นว่าในครอบครัวหรือวัฒนธรรมของชาวจีนนั้นยังให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า เพราะสืบทอดนามสกุลของครอบครัว (ปัจจุบันเรื่องนี้อาจจะดีขึ้นบ้าง) มันไม่แฟร์สักเท่าไหร่
แต่ด้วยความที่มันไม่แฟร์นี่แหละ เราถึงควรทำพินัยกรรมเอาไว้ด้วย (วิธีทำใส่ไว้ในลิงก์อ้างอิงครับ) เพราะเราไม่รู้ว่าวันสุดท้ายของเราจะมาถึงเมื่อไหร่ (อย่างก่อนหน้านี้ก็มีประเด็นเรื่องนี้ในภาพยนตร์อย่างวิมานหนาม)
เราอาจจะคิดว่าคนรวยเท่านั้นถึงทำพินัยกรรม ทรัพย์สินน้อยนิดแค่หยิบมือเดียวทำไปก็เสียเวลา หรือแม้กระทั่งการทำพินัยกรรมเท่ากับการแช่งตัวเอง
แต่ถ้าคุณไม่อยากให้ทรัพย์สินเงินทองที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิต เป็นต้นเหตุที่สร้างความแตกร้าวให้กับลูกหลาน เป็นภาระให้กับคนที่คุณรัก เราก็ควรจัดการให้เรียบร้อยเพื่อแสดงเจตจำนงให้ชัดเจน
2
พินัยกรรมถือเป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายของผู้เสียชีวิต นอกจากสร้างความสบายใจแล้ว แต่ยังสร้างความมั่นใจว่าทรัพย์สินเงินทองของเราจะตกอยู่กับคนที่เราอยากให้เท่านั้น
📌 4. แม้เงินไม่เยอะ แต่ถ้ามีระยะเวลาที่เก็บออมนานพอ มันจะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ : (อันนี้อาจจะมีสปอยล์นิดหนึ่งครับ) ถ้าใครดูถึงตอนสุดท้ายจะทราบว่า อาม่านั้นเก็บเงินให้หลานชายมาตั้งแต่เขาอยู่ ป.1 เพราะสอบได้ที่หนึ่งของห้อง แม้อาม่าจะเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารและดอกเบี้ยคงไม่เยอะก็ตาม แต่เก็บนานพอ และสม่ำเสมอ ก็มีเงินก้อนใหญ่เช่นกันเมื่อเวลาผ่านไป
2
ตรงนี้หากเราเอาเงินไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่านี้ (สมมุติปีละ 5%) แล้วเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้น เงินอาจจะงอกเงยได้มากกว่านี้
1
สมมุติเริ่มต้นเรามีเงิน 10,000 บาท ลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 5% และลงเงินเพิ่มทุกเดือนเดือนละ 5,000 บาท ไป 30 ปี โดยไม่เบิกเงินออกมากเลย เราจะมีเงินตอนท้ายมากถึง 4.1 ล้านเลยทีเดียว (เงินต้น 1.8 ล้าน ดอกเบี้ย 2.3 ล้าน)
1
นี่คือความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นครับ เริ่มให้เร็ว ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ
8
แม้แต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลกยังบอกเลยว่า เพื่อนที่ดีที่สุดของนักลงทุนคือดอกเบี้ยทบต้นซึ่งเหมือนกับการสร้างความมั่งคั่งจากการกลิ้งลูกบอลหิมะ (Snowball) ลงเนินแล้วก้อนมันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
1
“เริ่มให้เร็ว” บัฟเฟตต์บอก “ผมเริ่มสร้างก้อนหิมะบนยอดเขาที่เนินเขาทอดยาวมาก ๆ เคล็ดลับของการมีเนินเขาที่ยาวคือถ้าไม่เริ่มให้เร็วก็ต้องมีชีวิตอยู่จนแก่มาก ๆ นั่นแหละ”
2
อย่าคิดถึงแต่ปัจจุบัน แต่ให้มองไปในอนาคตด้วย
📌 5. ‘#ข้าวสารกลายเป็นข้าวสุก’ สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่มีทางย้อนกลับได้ : นี่คือประโยคที่ผมชอบมากๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘เวลา’
2
ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามในชีวิต ชีวิต ความสัมพันธ์ ความฝัน การเงิน ความรัก ฯลฯ หลายครั้งพอมารู้ตัวก็สายเกินไปที่จะแก้ไข
1
สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ทำไปแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีทางย้อนกลับไปแก้ไขได้
สำหรับหลาย ๆ คนที่ยังสุขภาพแข็งแรง อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว ชีวิตกำลังเริ่มต้น ความตายหรือบั้นปลายชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่อาจจะไม่เคยแว็บเข้ามาในความคิดเลยด้วยซ้ำ แม้จะรู้ว่าปลายทางของเราทุกคนจะเหมือนกัน แต่มันก็ยังอีกไกลกว่าจะไปถึงตรงนั้น
1
แต่อยากจะชวนนั่งไทม์แมชชีนทางความคิดไปข้างหน้าอีกสัก 60-70 ปี ระหว่างที่เรากำลังนอนอยู่บนเตียง ความตายกำลังย่างกรายเข้ามาใกล้มากขึ้นทุกขณะ
🎯 ถ้ามีคนมาถามว่า “#อะไรคือสิ่งที่คุณเสียดายมากที่สุดในชีวิต?” คำตอบของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันออกไป
แต่จากประสบการณ์ของ บรอนนี่ แวร์ (Bronnie Ware) พยาบาลชาวออสเตรเลียที่ดูแลผู้ป่วยในช่วงบั้นปลายชีวิต เธอได้ใช้เวลาพูดคุยและสอบถามคำถามเดียวกันนี้ จดบันทึกเอาไว้จนเขียนออกมาเป็นหนังสือ “The Top Five Regrets of the Dying” หรือความเสียดาย 5 อย่างคนที่กำลังจะจากโลกนี้ไปรู้สึก
2
1. เสียดายที่ไม่กล้าพอที่จะใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ใช้ชีวิตในแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น
2
2. เสียดายที่ทำงานหนัก ‘มากเกินไป’
3. เสียดายที่ไม่ได้แสดงความรู้สึกออกไปตรง ๆ
4. เสียดายที่ไม่ได้ใช้เวลากับเพื่อนมากกว่านี้
5. เสียดายที่ไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองมีความสุขมากกว่านี้
แม้ว่าจะไม่มีใครที่รู้คุณค่าของชีวิตได้ดีไปกว่าคนที่กำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
แต่เราบทเรียนที่แวร์ได้นำมาแชร์ก็ช่วยดึงสติทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับชีวิตของเราอีกครั้ง
💵 จริงอยู่ว่าชีวิตของเราทุกคนมีปัญหาที่ต้องแก้ไข ต่างคนต่างวาระ หนี้สิน การงาน ครอบครับ ต้องหาเงิน เก็บออม ลงทุนเพื่อการเกษียณ เน้นย้ำอีกทีว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น เงินคือปัจจัยที่สำคัญในชีวิต แต่เราก็ต้องคอยถามตัวเองเสมอว่าเรามัวแต่มุ่งทำงานหาเงินมากเกินไปจนลืมคนสำคัญในชีวิตรึเปล่า? เพื่อน ครอบครัว ลูก หรือแม้แต่ตัวเอง? เรามีความสุขจริง ๆ รึเปล่า? หรือกำลังใช้ชีวิตของเราจริง ๆ หรือเป็นชีวิตที่คนอื่นกำหนดเอาไว้ให้?
1
สิ่งที่คุณต้องลองถามตัวเองในตอนนี้คือ ‘จะใช้ชีวิตยังไงให้รู้สึกเสียดายให้น้อยที่สุดก่อนจะถึงบั้นปลายชีวิต?’
อย่ารอให้ ‘ข้าวสารกลายเป็นข้าวสุก’ เพราะถึงตอนนั้นเราก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้แล้ว
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
1
อย่าพลาดโอกาสที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณให้ดีขึ้น!
เตรียมพบกับ Make Rich Expo มหกรรมการลงทุนแห่งชาติ ที่จะพาคุณก้าวเข้าสู่โลกของการลงทุนที่ทันสมัยและเข้าใจง่ายกว่าที่เคย! ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หัดลงทุน หรือผู้ที่มีประสบการณ์ เรามีทุกสิ่งที่คุณต้องการเพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคต
1
เข้าร่วมงานฟรี!!
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้แล้ววันนี้ ที่ https://bit.ly/4dSTfcK
แล้วพบกันวันที่ 2 - 3 November 2024 เวลา 10.00 - 19.00 น. ณ Paragon Hall ชั้น 5 ศูนย์การค้า Siam Paragon
#aomMONEY #MakeRichExpo #WorkLifeFestival2024 #การเงินส่วนบุคคล
โฆษณา