14 ก.ย. เวลา 14:24 • ธุรกิจ

สรุปเรื่อง Brand Archetype ไอเดียสำหรับการออกแบบ Branding ให้ชัด จากงาน Digital SME Conference

ในงาน Digital SME Conference Thailand 2024 มี Session เกี่ยวกับเรื่องการสร้างแบรนด์น่าสนใจ ชื่อว่า “สร้าง Brand Love ให้ลูกค้ารัก”
แชร์เรื่องนี้โดย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างแบรนด์ คุณดลชัย บุณยะรัตเวช ซึ่งเป็นคนเบื้องหลังการออกแบบภาพลักษณ์ ทำ Branding ให้หลากหลายแบรนด์ดังในไทย
ไม่ว่าจะเป็น Bangchak, ICONSIAM, SIAM CENTER, Naraya, ไปรษณีย์ไทย, โรงพยาบาล MedPark, คอนโด IDEO
ซึ่งไอเดียสำคัญจาก Session นี้ คือเรื่อง “Brand Archetype”
-Brand Archetype คือ เครื่องมือที่ใช้ในการกำหนดตัวตนของแบรนด์ ถูกคิดค้นโดย Carl Gustav Jung นักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์
โดยแบ่งตัวตนของแบรนด์ออกเป็นทั้งหมด 12 รูปแบบ BrandCase สรุปให้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
1. Lover = บุคลิกของแบรนด์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก และความใกล้ชิด
ตัวอย่างแบรนด์ : Tinder
2. Jester = บุคลิกของแบรนด์ที่เป็นนักสร้างเสียงหัวเราะ ที่เน้นสร้างอารมณ์ขัน และความสนุกสนาน
ตัวอย่างแบรนด์ : Burger King
3. Everyman = บุคลิกของแบรนด์ที่เข้าถึงได้ทุกคน และอยากเป็นส่วนหนึ่งกับทุกคน
ตัวอย่างแบรนด์ : IKEA
4. Outlaw = บุคลิกของแบรนด์ที่เป็นผู้คิดนอกกรอบ ไม่สนใจกฎเกณฑ์ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ตัวอย่างแบรนด์ : SpaceX
5. Magician = บุคลิกของแบรนด์ที่เป็นนักมายากล ผู้สร้างจินตนาการ หรือให้พลังที่เหนือกว่าปกติ
ตัวอย่างแบรนด์ : Pixar
6. Hero = บุคลิกของแบรนด์ที่ต้องการให้ผู้อื่นชนะอุปสรรค บรรลุเป้าหมาย มีความมั่นใจ และเป็นตัวของตัวเอง
ตัวอย่างแบรนด์ : Nike
7. Creator = บุคลิกของแบรนด์ที่เป็นนักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือทำจินตนาการให้เป็นจริง
ตัวอย่างแบรนด์ : Apple
8. Ruler = บุคลิกของแบรนด์ที่เป็นผู้ควบคุมกฎ ต้องการเป็นผู้นำตลาด อยากปกครองสิ่งต่าง ๆ
ตัวอย่างแบรนด์ : Mercedes-Benz
9. Caregiver = บุคลิกของแบรนด์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น สร้างความห่วงใย และแบ่งปันความรู้สึกดี ๆ
ตัวอย่างแบรนด์ : Volvo
10. Innocent = บุคลิกของแบรนด์ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องการความสงบสุข เรียบง่าย คนอื่นรู้สึกปลอดภัย
ตัวอย่างแบรนด์ : MUJI
11. Sage = บุคลิกของแบรนด์ที่เป็นนักค้นคว้า ที่ชอบเรียนรู้ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ชอบนำเสนอและแบ่งปันข้อมูล เพื่อช่วยให้ผู้คนไปถึงเป้าหมาย
ตัวอย่างแบรนด์ : Google
12. Explorer = บุคลิกของแบรนด์ที่เป็นนักผจญภัย ที่ชอบลุย ฝ่าฟันอุปสรรค และรักความท้าทาย
ตัวอย่างแบรนด์ : Red Bull
โดยที่จริง ๆ แล้ว แต่ละแบรนด์สามารถมีได้มากกว่า 1 Brand Archetype ก็ได้
ตัวอย่างเช่น IKEA ที่มีทั้งความเป็น Everyman คือแบรนด์ที่เข้าถึงได้และอยากเป็นส่วนหนึ่งกับทุกคน
และเป็นทั้ง Creator เป็นนักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ทั้งตัวรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ หรือตัวรูปแบบร้าน IKEA
ทีนี้พอเราวาง Brand Archetype ให้แบรนด์เราแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ เราจะโฟกัสได้ถูกทางมากขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง
เช่น การทำ Buyer Persona ว่าลูกค้าแบรนด์เรา จะเป็นคนประมาณไหน
หรือการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ จะไปทิศทางไหนต่อ
ซึ่งคุณดลชัย ก็มีไอเดียให้ต่อ หลังจากที่เราวาง Brand Archetype ของเราแล้ว
โดยสรุปเป็นข้อสำคัญ ๆ คือ
-เลือกออกแบบแบรนด์ โลโก ภาพลักษณ์ต่าง ๆ ให้ตรงกับ Brand Archetype ที่เราเลือกไว้
เช่น ถ้าแบรนด์เราวางตัวเป็น Sage คือเป็นผู้รอบรู้ ผู้เชี่ยวชาญ โลโกและภาพลักษณ์ของแบรนด์ ก็ต้องดูฉลาด น่าเชื่อถือ
หรือถ้าเราวางตัวเป็น Caregiver ภาพลักษณ์ของเราก็ต้องดูปลอดภัย อบอุ่น
-เล่า Story เล่าเรื่องราวของแบรนด์ให้น่าสนใจ ให้เหมาะกับภาพลักษณ์ของแบรนด์
-คุมธีมของแบรนด์ ให้เป็นไปตาม Brand Archetype ที่เราวางไว้ให้ได้ทุก Touch Points เช่น โลโก, สีของแพ็กเกจจิง, ภาพลักษณ์แคมเปญการตลาดของแบรนด์
เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วม และความดื่มด่ำในแบรนด์เรา ให้กับลูกค้าให้ได้มากที่สุด
-คอยมอนิเตอร์มุมมองลูกค้าต่อแบรนด์เรา รวมถึงบริบทต่าง ๆ ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วนำมาพัฒนาหรือปรับปรุงการสื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์
โดยสิ่งสำคัญคือ ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย แต่ยังคงโฟกัสให้อยู่บนรากฐานของ Brand Archetype ที่เป็นตัวตนของแบรนด์เราจริง ๆ
โฆษณา