Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วรภพ วิริยะโรจน์
•
ติดตาม
15 ก.ย. เวลา 11:01 • การเมือง
[ พัฒนาหัวเมืองภูมิภาค เครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย ]
ถ้าถามความหวังของประชาชนต่อรัฐบาลชุดนี้ แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ผมเสียดายที่ไม่เห็นในคำแถลงนโยบายรัฐบาลในวันนี้ คือ ไม่มีนโยบายการพัฒนาหัวเมืองในแต่ละภูมิภาค เพื่อที่จะเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย
และผมจะขอหยิบยกและขอบคุณงานวิจัยของ ธนาคารโลก มาสนับสนุนในการอภิปรายครั้งนี้ เพิ่มให้รัฐบาลเห็นโอกาสของการพัฒนาเมือง ที่มากกว่าเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ว่า “การพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาค คือ โอกาสในการสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย” ได้อย่างไร
ผมขอเริ่มจากว่า ประเทศไทย ทั้งโตช้าและลดลงด้วย คือ ไม่ว่าก่อนโควิด หรือ หลังโควิด หรือ ในอนาคตจากนี้ ประเทศไทยโตช้ากว่าประเทศในอาเซียนด้วยกัน 10 ปีที่ผ่านมา คือ ประเทศไทย โตได้เฉลี่ยเพียง 3.2% ต่อปี น้อยกว่าประเทศอื่นๆ และ นอกจากโตช้าแล้ว กำลังจะลดลงด้วย เพราะการคาดกาณณ์ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอีก 3 ปีข้างหน้า ก็ถูกประเมินว่าจะลดลงเหลือเพียง 2.7% ด้วยซ้ำ
และต่อให้จะเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย เพื่อนบ้านของเราที่มีรายได้มากกว่าเรา 1 เท่า มาเลเซียก็ยังเติบโตได้มากกว่าเรา 2 เท่า ถ้าเทียบกับเวียดนามยิ่งเห็นชัด เพราะโตมากกว่าไทย 3 เท่า
แล้วถ้าถามว่า อะไร ถึงจะเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่จะพาประเทศไทยเติบโตขึ้นได้มากกว่านี้ ผลงานวิจัยของ ธนาคารโลก ฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้นครับว่า ถ้าประเทศไทย พัฒนาหัวเมือง ในแต่ละภูมิภาค จะทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจประเทศไทยสามารถกลับไปเติบโต ที่ 4% ต่อปี ได้ หรือ เพิ่มได้ถึง 1.3% ต่อปี
สาเหตุนึง เพราะ ประเทศไทยตอนนี้ นอกจากจะเป็นเศรษฐกิจโตช้าแล้ว ยังเป็น เศรษฐกิจโตกระจุก เป็นเมืองเอกโตเดี่ยว คือ ขนาดเศรษฐกิจของกรุงเทพ ที่มากกว่าจังหวัดลำดับที่สองถึง 5 เท่า และประชากรของกรุงเทพ ที่มากกว่า จังหวัดลำดับที่สอง ถึง 2 เท่า
และเพราะการพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เป็นสัดส่วนหลักถึง 47% ของ GDP มาถึง จุดที่เป็นมหานครที่อิ่มตัวแล้ว ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เริ่มโตได้ช้าลง และทำให้ศักยภาพการเติบโตของในภาพรวมของประเทศไทยก็ลดลงไปด้วย
ซึ่งผมจะขออธิบายให้ท่านประธาน เห็นภาพง่ายๆ ว่า วันนี้กรุงเทพ เป็น มหานครที่ อิ่มตัวแล้ว เพราะถ้าเอาข้อมูลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็จะยืนยันว่า การเพิ่มขึ้นใหม่ของบ้านที่อยู่อาศัยในกรุงเทพและปริมณฑล คงที่ หรือถ้าเอาตามข้อมูลจริงๆ คือ ลดลงด้วยซ้ำ ลดลงจาก 130,000 หน่วยต่อปี ใน ช่วง 10 ปีก่อน มาเป็น 100,000 หน่วยต่อปี ในช่วงหลายปีล่าสุดนี้ด้วยซ้ำ
ทั้งๆที่ กรุงเทพ มีการลงทุนเพิ่มในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่าง รถไฟฟ้า ขยายเพิ่มขึ้นมาเป็น 10 สายตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา คือ เส้นทางความยาวเพิ่มเกือบ 4 เท่าภายใน 10 ปี จาก 80 กม. เป็น 270 กม. แต่การขยายตัวของเมืองกลับไม่เพิ่มขึ้น สะท้อนการพัฒนาเมืองของกรุงเทพ ว่าเป็นมหานครที่อิ่มตัวไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะยังคงติดอยู่ในกับดับของการพัฒนาแค่กรุงเทพ หรือ อย่างที่เคยพูดถึงนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่วิธีการจริงๆ คือ การเอาทรัพยากรของคนทั้งประเทศมาอุ้มเพียงแค่กรุงเทพ แบบชุดความคิดการพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ผ่านมา จะยิ่งซ้ำเติม ทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ช้าต่อไป
เพราะเมื่อทุ่มการลงทุนมหาศาลมายังที่มหานครที่อิ่มตัวแล้ว จะไม่ได้ก่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาเมืองของภาคเอกชนต่อเนื่องตามมา เมื่อเทียบกับการเลือกที่จะพัฒนาหัวเมืองในแต่ละภูมิภาคแทน
และเพราะประเทศไทยยังมีหัวเมืองในแต่ละภูมิภาคอีก 10 เมือง เป็นอย่างน้อย ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา พิษณุโลก โคราช อุบล อุดร ภูเก็ต นคร ที่ยังคงมีศักยภาพอีกมากที่จะพัฒนา จากฐานที่ต่ำกว่ากรุงเทพมาก
ซึ่งถ้าเกิดการพัฒนาหัวเมืองในทุกภูมิภาค ก็จะเกิดการก่อสร้าง สร้างตึกรามบ้านช่อง ลงทุนในห้างร้าน เกิดวงจรการลงทุนของภาคเอกชนจะตามมาได้อีกมาก นี่คือ โอกาสของเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย
ซึ่งโอกาสที่ผมว่านี้ ผมกลับไม่เห็นในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันนี้ ที่ว่าก็ยังดีหน่อย ก็ตรงที่ อย่างน้อยในคำแถลงนโยบายรัฐบาลชุดนี้ จะไม่มีคำว่า “ผู้ว่า CEO” อยู่แล้ว
แต่การเปลี่ยนคำ โดยมีการเพิ่มคำคีย์เวิร์ด “กระจายอำนาจ” ลอยๆ มาแทนที่ ก็เหมือนจะดี แต่กลับไม่มีรายละเอียดบอกมาด้วยว่ารัฐบาลชุดนี้จะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างไรบ้าง
ซึ่งก็ต้องเป็นคำถาม ต่อ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ว่า ที่ใส่คำว่า “กระจายอำนาจ” พวกท่านหมายถึงจะกระจายอำนาจอะไรบ้าง
เพราะสิ่งที่ ท้องถิ่นทุกท้องถิ่น เค้าต้องการ หรือถ้าพูดให้ถูกจริงๆ สิ่งที่เมืองทุกเมือง เค้ารอมายาวนาน คือ การปลดล็อคเมือง ปลดล็อคท้องถิ่น จาก “ล็อค” ของระบบราชการแบบรวมศูนย์ ให้สามารถพัฒนาเมือง สร้างโครงสร้างพื้นฐานของตัวเองได้
ที่มีตั้งแต่ ปลดล็อคการร่วมทุนระหว่างท้องถิ่นและเอกชนเองได้ ปลดล็อคการออกพันธบัตรระดุนทุนจากตลาดทุนได้เอง ปลดล็อคกระบวนการริเริ่มเวนคืนเองได้ ปลดล็อคการก่อตั้งวิสาหกิจท้องถิ่น หรือ สหการเองได้
เหล่านี้ คือ การปลดล็อค เปิดโอกาส ให้แต่ละหัวเมืองที่มีศักยภาพ สร้างเมืองของตัวเอง พัฒนาบริการสาธารณะ โครงการพัฒนาใหม่ๆ เช่น โมโนเรล แทรม หรือ ทางพิเศษ และจะทำให้การพัฒนาเมืองจะเกิดขึ้นได้เองในแต่ละภูมิภาค
เงินลงทุนเหล่านี้ เอกชนในประเทศไทยล้วนมีศักยภาพและความพร้อมมากในการลงทุน ซึ่งก็จะหมายถึง โอกาสของการลงทุนในระดับแสนล้านบาทในสิบหัวเมือง และการลงทุนพัฒนาเมืองก็จะตามมาอีกมาก
และถ้าปลดล็อคเมือง ก็จะเกิดการลงทุนได้ โดยที่พึ่งงบประมาณของรัฐบาลไม่มาก หรือ ไม่ต้องพึ่งเงินทุนจากรัฐเลยด้วยซ้ำในบางโครงการ เพียงแค่ ปลดล็อคให้ท้องถิ่น การร่วมทุนกับเอกชน หรือ การระดมทุนจากตลาดทุนได้เอง
เพราะการร่วมทุน หรือ การระดมทุนเหล่านี้ ก็สามารถตั้งเงื่อนไข ได้ว่าจะให้เอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงมากน้อยเท่าไหร่ หรือใน รูปแบบของนิติบุคคลเฉพาะกิจสำหรับการระดมทุนจากเอกชน หรือ ที่เรียกกันว่า SPV ก็ยังได้ ซึ่งทำให้ไม่ติดเงื่อนไขของการนับเป็นหนี้สาธารณะด้วยก็ได้
แต่การลงทุนเหล่านี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เพิ่มอำนาจ และ บุคคลากร ในการพัฒนาเมือง ควบคู่กัน เช่น การที่ท้องถิ่นจะสามารถเวนคืนในพื้นที่ของตัวเองสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ พัฒนาเมือง เพิ่มมูลค่าผลตอบแทนการลงทุนในบริเวณรอบๆ ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ผมชวนให้นึกภาพตามกันแบบนี้นะครับ ขอแค่ให้มีการพัฒนาเมือง ที่อยู่อาศัยในอีก 10 หัวเมืองทั่วประเทศ ได้แบบเดียวกับ ที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพ หนึ่งแสนยูนิตต่อปี มันก็จะหมายถึงการลงทุนเพิ่มอีก 3 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มเติมจากที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพเพียงจังหวัดเดียว
หรือแม้แต่ จะมองให้เห็นโอกาสของการร่วมทุนระหว่างเอกชนกับท้องถิ่น เพื่อเพิ่มพัฒนาบริการสาธารณะ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ก็จะเป็นการเร่งการลงทุนให้ในระบบเศรษฐกิจของไทยให้เกิดขึ้น พร้อมๆกันได้
อาทิเช่น การจัดการขยะ ให้ได้ตามมาตรฐาน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการลงทุนสร้าง โรงกำจัดขยะ เพิ่มอีก จำนวน 130 โรง ต้องมีการลงทุนอีก 120,000 ล้านบาท
หรือ โรงผลิตน้ำประปาสะอาด สำหรับ ทุกตำบล จำนวน 3,250 แห่ง ก็ต้องมีการลงทุน 67,000 ล้านบาท รถเมล์ไฟฟ้า ระบบขนส่งสาธารณะ ทุกจังหวัด ต้องมีการลงทุนอีก 88,000 ล้านบาท ดังนั้น เอาแค่พัฒนาบริการสาธารณะให้กับคนไทย ก็จะเกิดโอกาสการลงทุนจากเอกชนได้ถึง 3 แสนล้านบาท
หรือแม้แต่การพัฒนา Landmark ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สามารถใช้รูปแบบ การร่วมทุนระหว่างเอกชน หรือ ระดมทุนจากเอกชน ในการสร้างจุดเด่น จุดขายให้กับเมือง ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือ ดึงดูดคนให้เข้ามาอาศัยในเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น
จากตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาก็จะเห็นได้ว่า ขอเพียงปลดล็อคเมือง ให้ร่วมทุน หรือ ระดมทุน กับเอกชน ได้สะดวกขึ้น จะเป็น ประตูบานแรก ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการพัฒนาเมืองได้เอง และ จะเกิดการลงทุน จ้างงาน ไปพร้อมๆกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย
ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ที่ไม่ได้เห็นในรายละเอียดของนโยบาย “กระจายอำนาจ” ในคำแถลงนโยบายรัฐบาล
แต่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ก็มีการระบุ ความท้าทายของการพัฒนา ประการที่ 8 ไว้น่าสนใจมาก ว่าคือ “ระบบราชการแบบรวมศูนย์” ที่ “ซ้ำซ้อน ใหญ่โต เทอะทะ เชื่องช้า และเป็นภาระของประชาชน” อันนี้ผมเอามาจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้คิดขึ้นเองนะครับ
ซึ่งผมคงต้องขอคำตอบชัดๆ ว่าในเมื่อ พวกเรา เห็น ความท้าทาย ปัญหาและอุปสรรคที่ตรงกัน ท่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะกล้าใช้ เจตจำนงทางการเมือง ก้าวให้พ้นจาก ชุดความคิดของราชการแบบรวมศูนย์แบบเดิมๆ หรือไม่
เพราะ ถ้ารัฐบาล ยังคง จะฟัง ความเห็นจาก หน่วยงานราชการแบบรวมศูนย์ มากกว่า ความเห็นจาก ท้องถิ่น หรือ ประชาชน เป็นหลัก ก็คงจะได้ยินแต่ว่า ท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อม ยังไม่มีความจำเป็นเหมาะสมที่จะปลดล็อคหรือถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นได้พัฒนาเมือง
ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในรอบ 1 ปี ที่สูญเปล่า ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำ ร่างพ.ร.บ. ขนส่งทางบก ที่ให้อำนาจท้องถิ่นกำหนดเส้นทางขนส่งสาธารณะเองได้,
ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับรอง ร่างกฎหมายการเงิน ของนายก จากพรรคเพื่อไทย อาทิเช่น ปัดตก ร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ ที่ปลดล็อคอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น ปลดล็อคกระระดมทุน การตั้งวิสาหกิจท้องถิ่นหรือสหการเองได้, ปัดตก ร่าง พ.ร.บ. เวนคืน ที่ปลดล็อคให้ท้องถิ่นริเริ่มกระบวนการเวนคืนเองได้ ปัดตก ร่างพ.ร.บ. ถนน ที่ให้ท้องถิ่นดูแลและมีงบประมาณแทนที่ทางหลวงชนบท
ก็ได้แต่หวังว่า ท่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะไม่ซ้ำร้อย ทำผลงานที่ ย้อนแย้งกับการคำพูดของท่านว่าที่ “จะทำให้คนไทยทุกตารางนิ้วได้กล้าฝัน และกำหนดอนาคตตัวเองได้”
เพราะ ถ้านายกคนใหม่และครมชุดใหม่ ขาดเจตจำนงค์ทางการเมืองที่จะกระจายอำนาจ ขาดความเข้าใจที่จะสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ ก็จะได้ยินแต่ความเห็นจากส่วนงานราชการแบบรวมศูนย์ตลอดนี่แหละครับว่า ท้องถิ่นมีอำนาจทำสิ่งเหล่านี้ที่ผมอภิปรายถึงอยู่แล้ว
แต่ คอขวดและอุปสรรคที่สำคัญ คือ “ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์” ที่คำแถลงรัฐบาลระบุไว้ด้วยนี่แหละครับ คือ การที่ท้องถิ่นต้องมา “ขอ” ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์นี่แหละครับ ที่กลายเป็น คอขวด และเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่บังคับให้ท้องถิ่นจะต้องมาขออนุญาต ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่า, อธิบดี, รัฐมนตรี, ครม. ที่กลายเป็น ล็อค ไม่ให้ ท้องถิ่นและเมือง สามารถพัฒนาเมืองได้อย่างที่ แต่ละเมือง แต่ละท้องถิ่น ต้องการได้
ดังนั้นผมก็ขอถามย้ำอีกครั้งว่า แล้ว นายกคนใหม่ จะ “กระจายอำนาจ” อย่างไร ครม. ชุดใหม่ จะปลดล็อคเมือง อะไรบ้าง จาก “ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์” ให้เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย
หรือ ถ้าเป็นเพราะ เป็นการเสนอจากพวกเราพรรคประชาชน รัฐบาลภายใต้การนำพรรคเพื่อไทย เลยไม่เห็นชอบ ปัดตก ก็ขอให้ ท่าน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เสนอในฐานะรัฐบาลเลยก็ได้
ท้องถิ่นและประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงพรรคประชาชนของเราด้วย จะยินดีสนับสนุนและช่วยรัฐบาลทำให้สำเร็จเป็นอย่างยิ่ง
ประเทศไทยจะได้ไม่สูญเสียโอกาสในการพัฒนาเมืองนานกว่านี้
และอีกประเด็นสำคัญไม่แพ้กัน ที่ไม่ได้เห็น ในคำแถลงของนโยบายรัฐบาลชุดนี้ คือ การที่จะสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ในหัวเมืองแต่ละภูมิภาค ที่จะต้องทำควบคู่กัน กับการพัฒนาเมือง
เพราะถ้าไม่มีเมือง ไม่มีคน ก็ไม่มีอุตสาหกรรม และ ถ้าไม่มีอุตสาหกรรม ไม่มีงาน ก็จะไม่มีเมือง
หรืออธิบาย ง่ายๆ อีกแบบว่า เครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย คือ การเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มชนชั้นกลาง กระจายการพัฒนาให้เกิดขึ้นในทุกหัวเมืองแต่ละภูมิภาค เพื่อให้เกิดการลงทุน การพัฒนาเมือง และ เกิดวงจรการลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้นต่อเนื่องตามมา
ซึ่งแน่นอนว่า เป็นเรื่องที่่จะต้องพึ่งนโยบายรัฐบาล ที่ต้องกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้แต่ละหัวเมืองในแต่ละภูมิภาค แล้วทุกองคาพยพ ทุกสิทธิประโยชน์ของภาครัฐ จะได้พุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมายแต่ละภูมิภาคได้อย่างเป็นระบบ
แต่น่าเสียดายที่กลับไม่มีความชัดเจนใดๆ ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลในวันนี้ แม้แต่ ผลงานการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 8 Ignite Thailand ที่ผ่านมาแทนที่จะมองให้เป็นโอกาส 8 หัวเมืองแต่ละภูมิภาค รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ยังละเลยและมองข้ามโอกาสเหล่านี้ไป
ซึ่งถ้าจะให้ผมยกตัวอย่างโอกาสเร็วๆ เช่น ถ้ารัฐบาล จะให้เชียงใหม่ เป็น ดิจิทัล หรือ AI Hub ใบอนุญาต Virtual Bank ก็ควรกำหนดให้ไปตั้งที่เชียงใหม่ งานใหม่ การ reskill ก็จะได้พุ่งเป้าเกิดที่ภาคเหนือ
ซึ่งไม่ใช่แบบที่จะสร้าง Entertainment Complex ก็จะยังคิดอยู่ว่าจะตั้งที่กรุงเทพ ถ้ายังคิดอยู่ในชุดความคิดแบบเดิมๆ การพัฒนาหัวเมืองก็จะไม่เกิด
หรือ ถ้าจะพัฒนาอุตสาหกรรม รถเมล์ รถไฟ ก็มีโอกาสอีกมากที่จะต่อยอดเพิ่มเติมจาก EV ที่ภาคอีสาน ซึ่งก็ต้องมีมาตรการจูงใจสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์เฉพาะที่มากกว่าที่ EEC
หรือ อุตสาหกรรมสีเขียว สินค้าอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เทคโนโลยีเกษตร ภาคกลาง ก็มีศักยภาพตรงนี้ ถ้านโยบายรัฐบาลมี ศูนย์วิจัยนวัตกรรมที่ทันสมัยที่ภาคกลางและใช้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมารองรับ อุตสาหกรรมก็จะเกิด
หรือ อุตสาหกรรมอาหารและยาง ที่มีศักยภาพที่จะทำให้เกิดที่ภาคใต้ เพราะมีนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะรออยู่แล้ว แต่ไม่มีสิทธิประโยชน์พิเศษตามมา
เหล่านี้คือ โอกาสที่ไม่ได้เห็นในผลงาน 1 ปีที่ผ่านมา และ ไม่มีในคำแถลงนโยบายรัฐบาลวันนี้ และถ้ารัฐบาลยังยึดติดการพัฒนาแบบเดิมๆ ก็จะหนีไม่พ้นการดึงดูดการลงทุนไปกระจุกอยู่ที่ EEC เหมือนเดิม
กล่าวโดยสรุป ผมคาดหวังว่า ท่านนายกรัฐมนตรี จะกล้าหาญ และใช้เจตจำนงทางการเมืองนำ เพื่อหลุดจากกรอบชุดความคิดการพัฒนาแบบเดิมๆ ก้าวให้พ้นระบบราชการแบบรวมศูนย์ คือ เปลี่ยนจากการ พัฒนาแบบกระจุก มาเป็น กระจายการพัฒนาหัวเมืองและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในแต่ละภูมิภาค ปลดล็อคการพัฒนาเมืองให้ออกมาเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย และ ทำให้ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพ
1 บันทึก
2
1
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย