22 ก.ย. เวลา 00:00 • หนังสือ

จิตคืออะไร | The Zen Moment

ในทางวิทยาศาสตร์ จิต (mind) หมายถึงความรู้สำนึก (consciousness = ความรู้สำนึก จิตสำนึก สติ ความรับรู้ตัวเอง ความรู้สึกตัว) ที่เป็นผลรวมขององค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ความคิด การรับรู้ ความจำ อารมณ์ จินตนาการ จิตเป็นเสมือนสายน้ำของความรู้สึกตัว เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานของสมอง
มีทฤษฎีที่ว่า จิตอาจเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นในสมองขณะที่ยังทำงานได้เท่านั้น และเมื่อสมองดับ จิตก็ดับไปด้วย
2
ในแนวคิดนี้ หากเราเปรียบเทียบมนุษย์เป็นคอมพิวเตอร์ จิตก็เป็นเช่นพื้นที่เสมือนจริงที่ไม่มีตัวตนที่จับต้องได้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ มันมี 'ตัวตน' (existence) ก็ต่อเมื่อเรากดสวิตช์ไฟและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำงาน เมื่อเราปิดโปรแกรม มันก็หายวับไป ภาพหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในพื้นที่เสมือนจริงนี้จึงเป็นเพียง 'มายา' ทว่ามายานี้ดูจริงอย่างยิ่ง และจะว่าไปแล้ว มันก็เป็น 'ความจริง' อย่างหนึ่ง เป็นความจริงที่ไม่จริงและเป็นความไม่จริงที่จริง!
เช่นกัน มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า จิตอาจเป็นเพียงคุณสมบัติที่เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงขึ้นมา ส่วนสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำมีจิตหรือไม่ หรือมีในระดับใดนั้น เรายังไม่มีเครื่องมือใดที่จะวัดได้ บางแนวคิดไปไกลถึงว่า อาจมีจิตที่เป็นองค์รวมของจิตทั้งหลาย และจิตมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของจิตที่ใหญ่กว่านั้น เรียกว่า จิตสำนึกแห่งจักรวาล (cosmic consciousness) บางทีเรียกว่า higher consciousness หรือ super consciousness หรือ objective consciousness
หลายคนเห็นว่าแนวคิดนี้ฟังดูเป็นนิยายวิทยาศาสตร์มากเกินไป แต่ทว่าเรื่องนี้ต้นคิดไม่ได้มาจากนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ตรงกันข้าม ผู้คิดคือจิตแพทย์ชาวแคนาดา ริชาร์ด มอริซ บัคคี (Richard Maurice Bucke) ในศตวรรษที่ 19 บัคคีเสนอทฤษฎีฉีกแนวว่าจักรวาลอาจไม่ใช่สิ่งไร้ชีวิตอย่างที่เรามองเห็น หากเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูง (super organism) ที่ซึ่งสรรพชีวิตเชื่อมต่อเป็นจิตสำนึกเดียวกัน (collective consciousness)
ในกรณีนี้ หากเปรียบจิตเป็นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำทะเล น้ำในแม่น้ำลำคลอง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของหิมะ น้ำค้าง ฝน ลูกเห็บ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเชื่อมเป็นระบบรวมของน้ำในโลก น้ำทะเลอาจจะระเหยเป็นไอน้ำขึ้นฟ้า แต่ที่สุดก็กลั่นลงมาเป็นฝน กลายเป็นน้ำในแม่น้ำลำคลอง แล้วกลับคืนสู่ทะเล
ทฤษฎีของบัคคีแบ่งจิตสำนึกของมนุษย์เราออกเป็นสามระดับ ระดับที่หนึ่งคือจิตสำนึกแบบเรียบง่ายของสัตว์ ระดับที่สองคือจิตสำนึกของมนุษย์เรา และระดับที่สามคือจิตสำนึกแห่งจักรวาลซึ่งเป็นความรู้สำนึกของผู้ที่บรรลุรู้ความจริงแท้ (reality) หรือความจริงสูงสุด
มนุษย์เราสามารถก้าวจากระดับที่สองไปสู่ระดับที่สามได้ คุณสมบัตินี้อาจได้มาจากการมีศีล สมาธิ และปัญญา (บ้างว่าผ่านการฝึกโยคะชั้นสูงก็ได้) บุคคลสำคัญในโลกที่สามารถพัฒนาจิตสำนึกสูงขึ้นก็เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู และศาสดาอีกหลายองค์ เป็นต้น
แต่บัคคีเห็นว่าความสามารถนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ มันเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งในธรรมชาติ เช่นที่มนุษย์เราวิวัฒนาการทั้งกายภาพและจิตใจจากสัตว์ชั้นต่ำ และวันหนึ่งมนุษยชาติอาจพัฒนาจิตสำนึกได้ถึงจิตสำนึกขั้นสูง (มีผู้พยายามอธิบายเรื่องนี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า ในเมื่อสมองทำงานเป็นที่อยู่ของจิตสำนึก จึงเป็นจุดเชื่อมต่อกับ cosmic consciousness ได้)
แนวคิดของ cosmic consciousness เห็นว่าความรู้สำนึกของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป ยังเป็นความรู้สำนึกในระดับไม่สมบูรณ์ แม้จะมีสติทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ หรืออาจกล่าวว่า ยัง 'หลับ' ต่อความจริง หรืออยู่ในสภาวะของการตื่นที่หลับ หากตื่นเต็มที่ได้เมื่อไร ก็เท่ากับบรรลุความจริงสมบูรณ์ หรือหากเทียบกับคำทางศาสนาก็น่าจะคือคำว่า ดวงตาเห็นธรรม
1
จากคำอธิบายสภาวะของ cosmic consciousness ที่มีผู้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ (ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม) มันคือความรู้สึกเต็มตื้น ท่วมท้น ไร้ตัวตน ทุกอย่างถูกต้องลงตัวไปหมด สมบูรณ์ ชัดแจ้ง จนดูเหมือนว่าโลกเป็นสิ่งใสเหมือนมองทะลุได้ นี่ฟังดูคล้ายกับประสบการณ์การบรรลุธรรมของอาจารย์เซนหลายท่าน
1
ตำนานเล่าว่าเมื่อพระสังฆปริณายกองค์ที่หกแห่งจีน ฮุ่ยเหนิง (หรือ เว่ยหล่าง) บรรลุธรรมนั้น ท่านอุทานว่า "น่าอัศจรรย์จริงหนอที่ตัวตนเดิมแห่งธรรมชาติ (self nature) บริสุทธิ์เช่นนี้ น่าอัศจรรย์จริงหนอที่ตัวตนเดิมแห่งธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่เกิดและไม่ตาย (unborn and undying) น่าอัศจรรย์จริงหนอที่ตัวตนเดิมแห่งธรรมชาติเป็นสิ่งสมบูรณ์ น่าอัศจรรย์จริงหนอที่ตัวตนเดิมแห่งธรรมชาติไม่เคลื่อนและไม่หยุดนิ่ง น่าอัศจรรย์จริงหนอที่ธรรมทั้งหลายล้วนมาจากตัวตนเดิมแห่งธรรมชาติ"
1
ในลักษณาการคล้ายกัน เมื่อศิษย์เอกของอาจารย์ฮุ่ยเหนิงนามหย่งเจี้ยซ่วนเจี้ยว บรรลุธรรมนั้น ด้วยความปีติใหญ่หลวง ท่านร้องเพลงออกมาดัง ๆ เช่นต้นไม้ที่ผลิบานในฤดูใบไม้ผลิ
บันทึกสภาวะการบรรลุธรรมของอาจารย์เซนจำนวนมากก็คล้ายกัน คือเป็นประสบการณ์ที่เปี่ยมปีติ สงบ เต็มตื้น
เช่นนี้หมายความว่า cosmic consciousness ก็คือประสบการณ์การบรรลุธรรม / นิพพาน / ซาโตริ หรือ? คำตอบคือไม่รู้! เราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า บันทึกประสบการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการบรรลุธรรมและ cosmic consciousness เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ และเป็นเรื่อง 'เว่อร์' เกินจริงหรือไม่ เพราะคนที่บันทึกประสบการณ์การบรรลุธรรมมักไม่ใช่คนที่บรรลุธรรม มันอาจเป็นอย่างที่ปรมาจารย์เต๋า เล่าจื๊อ บอกว่า คนพูดไม่รู้ คนรู้ไม่พูด
จาก มังกรเซน (หนังสือเซนที่ต้องค่อยๆ ละเลียด) และ Mini Zen (เซนฉบับการ์ตูน)
มังกรเซน Shopee คลิก https://shope.ee/2VUCymbmSh?share_channel_code=6
โฆษณา