16 ก.ย. 2024 เวลา 06:30 • ข่าวรอบโลก

น้ำท่วมเมียนมา ความล่าช้าของรัฐบาลทหารในการจัดการวิกฤติภัยธรรมชาติ

  • ชาวเมียนมากว่า 320,000 คนต้องอพยพหนีน้ำ หลังฝนตกหนักน้ำท่วมบ้านเรือน และเกิดดินถล่มจากฝนตกหนัก อันเป็นอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น "ยางิ" ทำบ้านเรือนถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายเกือบ 66,000 หลัง ขณะที่ก่อนหน้านี้ชาวเมียนมากว่า 2.7 ล้านคนต้องพลัดถิ่นอาศัยจากภัยความรุนแรงภายในประเทศนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี 2564
2
  • ทางการเมียนมายืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมและดินถล่มในประเทศได้แล้ว 113 ศพ มีผู้สูญหายอีก 64 คน ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตเกินกว่า 200 ศพแล้ว ขณะที่ความช่วยเหลือจากทางการดำเนินไปอย่างล่าช้า
2
  • พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมา ต้องการความช่วยเหลือจากชาติอื่นๆในปฏิบัติการกู้ภัยและบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเวลานี้ และประชาชนต้องการความช่วยเหลือให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมียนมายังอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ซึ่งดำเนินมานานกว่า 3 ปีแล้ว หลังจากกองทัพนำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ในปี 2564 กองทัพรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านยังคงต่อสู้จนถึงตอนนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันศพ คนอีก 2.6 ล้านต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น
ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบรุนแรงเป็นระลอก เมียนมากลับโดนซ้ำเติม เป็นหนึ่งในหลายประเทศเอเชียที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นยางิ ทำให้มีฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม ส่งผลกระทบหลายพื้นที่ในภาคกลางของประเทศ รวมถึง รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง มัณฑะเลย์ พะโค รัฐมอญ และรัฐฉาน บ้านเรือนของประชาชนถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายเกือบ 66,000 หลัง เช่นเดียวกับโรงเรียนกับวัด 375 แห่ง ถนนยาวหลายกิโลเมตร และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ถูกน้ำท่วมทำลาย
1
ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทางการยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมและโคลนถล่มในประเทศได้แล้ว 113 ศพ มีผู้สูญหายอีก 64 ราย
ขณะที่กองทัพเมียนมาดิ้นรนที่จะยึดดินแดนและตอบโต้การโจมตีจากชนกลุ่มน้อยและพันธมิตรที่สนับสนุนประชาธิปไตยซึ่งขณะนี้รับผิดชอบพื้นที่และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการตอบสนองต่อภัยพิบัติและทรัพยากรในการบรรเทาทุกข์
  • ประเมินความเสียหาย
สำนักงานเพื่อการประสานงานกิจการมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs-OCHA) ระบุว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักส่งผลกระทบต่อประชาชนในกรุงเนย์ปิดอว์ เช่นเดียวกับภูมิภาคมัณฑะเลย์ มาเกว และพะโค รวมถึงรัฐฉาน ทางตะวันออกและทางใต้ รัฐมอญ รัฐกะยา และรัฐกะเหรี่ยง
โดยประเมินว่า จนถึงขณะนี้ชาวเมียนมาตอนกลางได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีแม่น้ำและลำธารหลายสายไหลลงมาจากเนินเขาฉาน ขณะเดียวกันมีรายงานผู้เสียชีวิตและดินถล่มเพิ่มขึ้น แต่การรวบรวมข้อมูลยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย รวมถึงสายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตขัดข้อง
พร้อมระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของประชากรชาวเมียนมา 55 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่หน่วยงานช่วยเหลือหลายแห่ง เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ไม่สามารถดำเนินการได้ในหลายพื้นที่ เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงและความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
  • การจัดการของรัฐบาลทหาร
หนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมา รายงานว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เผยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต้องการติดต่อกับนานาชาติ เรื่องรับความช่วยเหลือด้านการกู้ภัยและบรรเทาทุกข์ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัย ขณะนี้จำเป็นต้องดำเนินมาตรการกู้ภัย บรรเทาทุกข์ และฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด
โดยการที่รัฐบาลเมียนมาร้องขอความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้น เพราะนับตั้งแต่รัฐประหารยึดอำนาจในปี 2564 กองทัพและรัฐบาลทหารเมียนมา ได้ขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศมาโดยตลอด
อย่างเมื่อปีที่แล้ว ได้ระงับการอนุญาตเดินทางสำหรับกลุ่มองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อจากพายุไซโคลนโมคา จำนวนกว่า 1 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบในหลายเมืองทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งในเวลานั้น องค์การสหประชาชาติประณามการตัดสินใจของรัฐบาลเมียนมาที่พยายามขัดขวางการช่วยเหลือขององค์กรด้านมนุษยธรรม
ย้อนไปในปี 2551 รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาในขณะนั้นถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นความช่วยเหลือฉุกเฉินหลังจากพายุไซโคลนนาร์กิส คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 138,000 ศพในเมียนมาร์
ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีประชาชนมากกว่า 320,000 คน ต้องหนีออกจากบ้านไปอาศัยในที่พักชั่วคราว หลังจากไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้าให้ความช่วยเหลือ และก่อนหน้านี้ไม่มีการประกาศเตือนภัยหรือแผนรับมือฉุกเฉินใดๆ แม้แต่ในกรุงเนย์ปิดอว์ ศูนย์กลางการบริหารของรัฐบาลทหาร รายงานข่าวระบุว่า น้ำท่วมในกรุงเนย์ปิดอว์ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 ศพ และยังมีผู้สูญหายอีกหลายสิบราย ประชาชนจำนวนมากยังรอความช่วยเหลืออยู่บนหลังคาและบนต้นไม้โดยไม่มีอาหารและน้ำดื่มนานหลายวัน
ชาวบ้านระบุว่า ความช่วยเหลือเดียวที่พวกเขาได้รับมาจากหน่วยงานภาคประชาชนท้องถิ่นและสภากาชาด โดยจนถึงตอนนี้ยังไม่เคยเห็นพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย หรือนายโซ วินรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม ลงพื้นที่น้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือประชาชนมาก่อน
สิ่งที่น่าเศร้าคือชาวบ้านมองว่าก่อนหน้านี้ตอนเกิดน้ำท่วมในไทยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนยังเห็นภาพเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบินออกช่วยเหลือประชาชน แต่พอสัปดาห์ที่แล้วน้ำท่วมที่เมียนมา กลับมีข่าวว่าช่วงวันพฤหัสบดี 12 ก.ย. กองทัพกลับไปโจมตีทางอากาศถล่มหมู่บ้านพ่ากั่น ในรัฐกะฉิ่น
โดยกลุ่มวิจัยอิสระ ญัน ลิน ทิต อนาไลติกา เปิดเผยว่า มีพลเรือนสังเวยชีวิตแล้วอย่างน้อย 359 ศพ รวมไปถึงเด็ก 61 ศพ จากสถานการณ์รุนแรงในเมียนมา ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้
เจ้าหน้าที่เผชิญเหตุฉุกเฉินในพื้นที่พะโค ให้สัมภาษณ์ว่า มีกำลังคนไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัย เนื่องจากหมู่บ้านอย่างน้อย 30 แห่งในเมืองตองอู ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร ได้จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด หลังแม่น้ำซิตตองเอ่อล้น และกระแสน้ำไหลแรงมาก ทางด้านวัดแห่งหนึ่งในเมืองตองอู ต้องรับผู้พลัดถิ่นและจัดหาอาหารให้ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัยมากกว่า 300 รายจาก 6 หมู่บ้าน แต่ยังคงมีหมู่บ้านหลายแห่งถูกตัดขาด.
โฆษณา