17 ก.ย. 2024 เวลา 11:26 • ประวัติศาสตร์

เหตุใดเศรษฐีชาวเอเธนส์ที่ร่ำรวยเพียง 1% จึงยินดีจ่ายภาษีโดยไม่อิดออด

“ภาษี” คือสิ่งที่ประชาชนทุกคนบนโลกหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากภาษีคือสิ่งที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
และนอกจากความสำคัญของภาษี ภาษียังมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน สามารถย้อนกลับไปได้อย่างน้อย 500-600 ปีก่อนคริสตกาลในสมัยเอเธนส์โบราณ
ในสมัยเอเธนส์โบราณ มีระบบภาษีที่เรียกว่า “Liturgy” ซึ่ง Liturgy นี้จะเป็นหน้าที่ของคนรวยจำนวนเพียง 1% ของประชากรทั้งหมด
สำหรับที่มาของคำว่า “Liturgy” ก็มาจากภาษากรีกโบราณที่แปลว่า ”บริการสาธารณะ“ หรือ ”งานของประชาชน“ ซึ่งหลักๆ นั้น Liturgy ถูกนำไปใช้ในการพัฒนากองทัพเรือและเพื่อบูชาเทพเจ้า
แต่ที่น่าสนใจก็คือ เหล่าคนที่ต้องเสียภาษีนั้นต่างไม่อิดออด ยินดีที่จะจ่ายภาษี และแถมยังเอาไปโอ้อวดอย่างภาคภูมิใจเสียด้วย ซึ่งก็นับว่าน่าแปลกใจ
ประชาชนที่จ่ายภาษีนั้นจะรู้สึกดีเนื่องจากมองว่าการจ่ายภาษีนั้นเป็นหน้าที่และเป็นสิ่งที่มีเกียรติ และผู้ที่เสียภาษีก็มักจะเอาไปโอ้อวดอย่างภาคภูมิใจ
ในเอเธนส์โบราณ การจ่ายภาษีคือสิ่งที่เฉพาะคนรวยเท่านั้นจึงจะทำได้ และเหล่าเศรษฐีคนรวยต่างก็ชื่นชมในสถานะและชื่อเสียงที่จะตามมาจากการจ่ายภาษี
“อริสโตเติล (Aristotle)” นักปรัชญาชาวกรีกโบราณ ได้เรียกผู้ที่จ่ายภาษีว่า “ผู้เป็นเลิศ (Magnificent Man)” เนื่องจากคนจนไม่สามารถทำได้ ในขณะที่คนรวยนั้นมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามและเป็นที่รักของสังคม
หากย้อนกลับไปในสมัย 500-600 ปีก่อนคริสตกาล เอเธนส์มีประชากรราว 300,000 คน ซึ่งจำนวนนี้ยังรวมถึงชาวต่างชาติและทาสอีกด้วย
เศรษฐกิจของเอเธนส์โดยหลักจะอยู่ที่การค้าระหว่างประเทศ หากแต่งบประมาณก็จะต้องใช้สำหรับบริการสาธารณะต่างๆ
อริสโตเติล (Aristotle)
นอกจากนั้น เอเธนส์ยังมักจะก่อสงครามเสมอๆ ดังนั้นการบำรุงกองทัพเรือจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และงบประมาณเหล่านั้นก็จะมาจากภาษีที่เหล่าคนรวยเพียง 1% เท่านั้นที่สามารถจ่ายได้
ดังนั้น หากคิดจากจำนวนประชากรทั้งหมด เท่ากับว่าจะมีคนจ่ายภาษีเพียง 300-1,200 คนเท่านั้น ซึ่งต่างต้องจ่ายภาษีประมาณ 3-4 ทาเลนท์ ซึ่งนี่คือเงินก้อนโตที่คนธรรมดาไม่อาจจะจ่ายได้
สำหรับภาษีหรือ Liturgy นั้น จะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน นั่นคือภาษีกองทัพ ภาษีเทศกาล และภาษีสงคราม
อาณาจักรเอเธนส์โบราณนั้นเป็นมหาอำนาจระดับโลก มีการค้าและสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับนครรัฐอื่นๆ มากมาย ดังนั้นจึงต้องมีกองทัพที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันผู้รุกราน โดยเฉพาะกับกองทัพเรือ ซึ่งมีการนำเงินภาษีมาใช้บำรุงเป็นจำนวนมหาศาล
สำหรับการบำรุงกองทัพเรือนั้น ส่วนที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนมากนั้นไม่ใช่ค่าก่อสร้างเรือ หากแต่คือค่าบำรุงรักษาเรือ โดยการดำเนินงานกองเรือรบจะมีค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณหนึ่งทาเลนท์แร่เงิน ซึ่งจะเท่ากับแร่เงินประมาณ 25 กิโลกรัม
1
สำหรับภาษีสงครามนั้น ก็เป็นภาษีที่เรียกว่า “Eisphora” ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บในช่วงเวลาสงคราม และเอเธนส์นั้นก็ก่อสงครามบ่อยซะด้วย
1
ภาษีนี้จะถูกนำไปใช้จ่ายในการทำสงครามและบำรุงกองทัพ แต่หากเป็นช่วงที่ไม่มีสงคราม ประชาชนก็ไม่ต้องจ่ายภาษีนี้ ซึ่งเหล่าคนรวยก็มองว่าภาษีนี้เป็นช่องทางในการลงทุนที่อาจจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า
Eisphora จะอยู่ที่ประมาณ 1%-2% ของทรัพย์สินประชาชนแต่ละคน หากแต่ก็จำกัดอยู่เฉพาะคนที่ร่ำรวย ซึ่งก็จะอยู่ที่ประมาณ 6,000 ทาเลนท์ และจากการประเมิน ก็คาดว่าน่าจะมีประชาชนเพียง 2,000-6,000 คนเท่านั้นที่จ่ายได้
นอกจากเรื่องกองทัพและการสงครามแล้ว ก็มาถึงเรื่องของ “เทพเจ้า”
ชาวเอเธนส์โบราณเชื่อว่าความสำเร็จนั้นมาจากการดลบันดาลของเทพเจ้า เทพเจ้าและเทพีต่างๆ ล้วนควบคุมวิถีชีวิตของผู้คน และหากทำให้เทพเจ้าโกรธเคือง สิ่งที่จะตามมาก็คือหายนะ
และการที่จะทำให้เทพเจ้าพอใจ นั่นก็คือต้องสร้างวิหารให้ จัดพิธีกรรม และจัดงานเลี้ยงให้เป็นที่พอใจแก่เทพเจ้า ต้องมีการบูชายัญสัตว์ต่างๆ เช่น หมู แกะ แพะ วัว และนก บวงสรวงเทพเจ้า
ในแต่ละปีจะมีเทศกาลประมาณ 100 เทศกาล และเหล่าคนรวยก็มีหน้าที่จ่ายเงินเพื่อให้เทศกาลและพิธีกรรมต่างๆ ดำเนินไปได้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเงินจำนวนมาก แต่เหล่าเศรษฐีต่างก็ยินดีเนื่องจากมองว่าเป็นเกียรติและทำให้ตนมีสถานะทางสังคมที่สูงส่ง
และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมเหล่าเศรษฐีเอเธนส์โบราณจึงไม่รังเกียจการจ่ายภาษีเลย
โฆษณา