17 ก.ย. เวลา 03:12 • ศิลปะ & ออกแบบ
วัดยางหลวง อ.แม่เเจ่ม เชียงใหม่

"หมอน" ของชาวแม่แจ่ม (อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่)

"หมอนหก" เป็นหมอนที่มีการตัดเย็บให้เป็นช่องขนาดยาวตามความยาวของตัวหมอนสำหรับยัดปุยเส้นใยฝ้าย นุ่น หรืองิ้ว มีความโดดเด่นสวยงามอยู่ที่การเย็บตกแต่งบริเวณส่วนที่เป็นหน้าตัดทั้งสองด้านของหมอนด้วย “ผ้าหน้าหมอน” หรือ “ผ้าจกหน้าหมอน” ที่ทอด้วยวิธีเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษแบบต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง ซึ่งชาวแม่แจ่มนิยมเรียวิธีการทอทั้งสองวิธีนี้ว่า "จก" นิยมทอเป็น "ลายกุด" หรือลายขนาดเล็กที่มีความต่อเนื่องกันจนเต็มในโครงสร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ชาวแม่แจ่มนิยมใช้ “หมอนหก” ที่มีขนาดเล็กสำหรับหนุนศีรษะเวลานอน และสามารถนำไปใช้นอกสถานที่ด้วยเป็นหมอนที่มีน้ำหนักเบา เช่น การนำไปใช้หนุนนอนที่วัดในวันพระ
สำหรับหมอนที่มีขนาดใหญ่นั้น (หมอนหก หมอนแปด หมอนเก้า และหมอนป่อง) ไม่นิยมนำมาใช้หนุนนอน แต่จะนำไปใช้เป็นที่เท้าแขนหรือใช้เป็นพนักพิงหลังเวลานั่ง บ้างก็นำไปใช้ในงานพิธีการต่างๆ เช่น งานกินแขกหรืองานกินดอง (แต่งงาน) ใช้ประกอบอาสนะสงฆ์ในงานพิธีต่างๆ เป็นต้น
จากภาพ แสดงเครื่องนอนที่ชาวแม่แจ่มนำไปใช้นอนวัดในวันก่อนถึงวันพระ ประกอบไปด้วย “สาด” และ “หมอน” (หมอนขนาดใหญ่เย็บตกแต่งผ้าจกหน้าหมอนลายไก่ (มี 4 ขา ? น่าจะเป็นตีนของไก่) และลายแมงเวา (แมงป่อง) รวมถึงลายดอกแก้วหรือลายดอกจัน สำหรับหมอนขนาดเล็ก (โดยเฉพาะใบที่วางอยู่ด้านบนของหมอนลายไก่) ชาวแม่แจ่มจะเรียกลายนี้ว่า "กุดลาวแอ้"
ข้อมูล: อรรถพงษ์ ประดิษฐพงษ์
รูปภาพ: อรรถพงษ์ ประดิษฐพงษ์, ถ่ายภาพ, 8 ก.ย. 67
ถ่ายภาพที่งานสลากวัดยางหลวง ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
สามารถแชร์ข้อมูลได้
แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอกข้อมูล เพื่อไปใช้ในงานส่วนตัว ก่อนการได้รับอนุญาตทุกกรณีครับ
.
อ้างถึงสิทธิในลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที นับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือผ่านพิธีการใดๆ
โฆษณา