18 ก.ย. เวลา 02:06 • ประวัติศาสตร์

องค์ความรู้ที่สูญหายจากสถานศึกษาที่เก่าแก่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ในปีค.ศ.1193 (พ.ศ.1736) ห้องสมุดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งได้ถูกเพลิงเผาไหม้จนไม่เหลือซาก และเพลิงไหม้นั้นก็ดำเนินต่อเนื่องไปเป็นเวลานานกว่าสามเดือน
2
ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือและบันทึกกว่าเก้าล้านเล่ม และห้องสมุดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “นาลันทา (Nalanda)” สถานศึกษาที่เก่าแก่เป็นลำดับต้นๆ ของโลก
3
ลองจินตนาการถึงหนังสือและบันทึกกว่าเก้าล้านเล่มที่ถูกทำลาย นั่นคือองค์ความรู้จำนวนมหาศาลที่ต้องสูญหายไป และหากหนังสือและบันทึกเหล่านั้นยังอยู่ ก็น่าจะทรงคุณค่าต่อมวลมนุษย์เป็นอย่างมาก
1
นาลันทา (Nalanda)
สำหรับนาลันทา แหล่งข้อมูลก็มีอยู่ไม่มากนัก ดังนั้นการจะจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในอดีต ก็คงจะทำได้จำกัด ทำได้เพียงจินตนาการจากซากที่พบในการสำรวจเท่านั้น
1
นาลันทานั้นอยู่ในอาณาจักรมคธ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย และเป็นแหล่งกำเนิดองค์ความรู้และเหล่าบัณฑิตที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลกยุคโบราณ
2
ชื่อเสียงของนาลันทานั้นโด่งดังไปทั่วเอเชีย มีนักเรียนนักศึกษาจากจีน เกาหลี ทิเบต เอเชียกลาง และเอเชียตะวันตก ต่างเดินทางมาศึกษายังนาลันทา โดยศึกษาศาสตร์ต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ ปรัชญา ตรรกศาสตร์ เภสัชศาสตร์ การเมือง และภาษาศาสตร์ และนาลันทาก็เป็นเหมือนศูนย์กลางองค์ความรู้ระดับโลกเป็นเวลานานกว่า 800 ปี
2
สำหรับข้อมูลต่างๆ ของนาลันทานั้นก็มาจากนักเดินทางจากจีน เกาหลี และทิเบต ซึ่งได้จดบันทึกเรื่องราวของนาลันทา โดยนาลันทานั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.427 (พ.ศ.970) ซึ่งเกิดก่อนมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปอย่าง “มหาวิทยาลัยโบโลญญา (University of Bologna)” กว่า 661 ปี โดยมหาวิทยาลัยโบโลญญาได้เปิดทำการในปีค.ศ.1088 (พ.ศ.1631)
3
มหาวิทยาลัยโบโลญญา (University of Bologna)
ผู้ที่ก่อตั้งนาลันทาก็คือ “พระเจ้ากุมารคุปตะที่ 1 (Kumaragupta I)“ กษัตริย์แห่งราชวงศ์คุปตะ (Gupta Empire) ที่ปกครองอินเดียโบราณ ซึ่งนาลันทานั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับศาสนาพุทธ แต่ผู้ก่อตั้งคือกษัตริย์ฮินดู อันจะเห็นได้ว่านี่คือความปรองดองของศาสนาที่ต่างกันในอารยธรรมอินเดีย
1
“เหวียนซาง (Huein Sang)” คือนักเดินทางจากจีนที่เดินเท้านับพันกิโลเมตร ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอินเดียในปีค.ศ.630 (พ.ศ.1173) และอาศัยอยู่ในอินเดียเป็นเวลากว่า 17 ปี
1
ต่อมาในปีค.ศ.647 (พ.ศ.1190) เหวียนซางได้เดินทางกลับจีนและเขียนหนังสือเกี่ยวกับอินเดีย ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่โด่งดังในจีน
2
พระเจ้ากุมารคุปตะที่ 1 (Kumaragupta I)
จากบันทึกของเหวียนซางนั้น กล่าวว่าสถานที่ตั้งของนาลันทานั้นเป็นสวนมะม่วงที่อยู่มานานตั้งแต่ยุคสมัยของพระพุทธเจ้า ประมาณ 1,000 ปีก่อนนาลันทาจะถือกำเนิด โดยว่ากันว่าพ่อค้าจำนวน 500 คนได้ซื้อสวนมะม่วงนี้ และถวายให้พระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ประทับที่สวนมะม่วงนี้เป็นเวลาสามเดือนและทำการเทศนา
2
นั่นก็หมายความว่าถึงแม้ว่านาลันทาจะเพิ่งก่อตั้งในสมัยศตวรรษที่ 5 หากแต่บริเวณนี้ก็มีความสำคัญมาก่อนนับพันปีแล้วตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า
1
สถานที่นี้เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งของวิหารอารามทางพุทธศาสนา อยู่นอกตัวเมือง ห่างจากความวุ่นวายแต่ก็ไม่ไกลจนเดินทางลำบาก ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางมาได้โดยสะดวก
1
และลองจินตนาการว่านักบวชนับร้อยนับพันต่างมาทำสมาธิและปฏิบัติธรรม ณ ที่แห่งนี้ ก่อนที่อีกหลายร้อยปีต่อมา อารามนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางความรู้แหล่งสำคัญ และชื่อเสียงของสถานที่นี้ก็โด่งดังไปทั่วอินเดีย และโด่งดังไกลไปนอกอินเดียอีกด้วย
2
เหวียนซางได้บันทึกว่านาลันทามีนักศึกษา 10,000 คนและอาจารย์อีก 1,500 คน และยังบอกเล่าถึงเรื่องราวของห้องสมุดนาลันทา
1
ห้องสมุดในนาลันทานั้นสูงสามชั้น มีหนังสือของหลายชาติหลายภาษา เก็บไว้ในห้องหลายห้อง และมีหนังสือกับบันทึกกว่าเก้าล้านเล่ม
1
และหลังจากเหวียนซาง ก็ได้มีนักเดินทางจากจีนอีกรายเดินทางมาอินเดีย และศึกษาอยู่ที่นาลันทาเป็นเวลานับ 10 ปี
2
นักเดินทางผู้นั้นมีนามว่า “อี้จิง (Yijing)” และอี้จิงได้บันทึกบอกเล่าถึงชีวิตประจำวันของนักศึกษาที่นาลันทา โดยอายุที่ต่ำสุดของผู้ที่มีสิทธิสอบเข้านาลันทาคือ 20 ปี และต้องผ่านการทดสอบที่เข้มข้น
1
เมื่อผ่านการทดสอบ นักศึกษาจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียนในชีวิตประจำวันอย่างเข้มงวด ต้องตื่นแต่เช้าและไปอาบน้ำในบ่อน้ำ จากนั้นก็ต้องทำการไหว้พระสวดมนต์ ก่อนจะแยกกันไปศึกษาตามศาสตร์ที่ตนสนใจ
1
แต่ต่อมา นาลันทาก็ถึงยุคร่วงโรย โดยเริ่มขึ้นในยุคแรกของขบวนการภักติ (Bhakti Movement) ซึ่งเป็นขบวนการปฏิรูปศาสนา ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นผลจากการรุกรามของอิสลาม
2
ในช่วงแรก กองทัพมุสลิมได้มุ่งมารุกรานอินเดีย และได้ทำการทำลายอนุสรณ์สถานของศาสนาพุทธและฮินดู วิหาร วัดวาอารามต่างๆ ล้วนแต่ถูกทำลาย
2
นาลันทาก็ถูกทำลาย มีบันทึกว่านักบวชและพระสงฆ์นับพันรูปถูกเผาทั้งเป็น อีกนับพันถูกตัดศีรษะ
3
หลังจากถูกทำลายจนเสียหาย แต่นาลันทาก็ยังคงอยู่ต่อไปได้อีกซักระยะ โดยในปีค.ศ.1235 (พ.ศ.1778) ก็ปรากฎว่ามีนักศึกษาเหลือเพียง 70 คน และมีอาจารย์ที่อายุกว่า 90 ปีเป็นผู้สอน โดยสอนท่ามกลางซากปรักหักพังของนาลันทา
2
หลังจากนี้ นาลันทาก็ได้สูญหายไปจากประวัติศาสตร์
1
ข้ามมาในสมัยศตวรรษที่ 19 ในยุคที่อินเดียอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษ นาลันทาก็จมอยู่ใต้พื้นดินเป็นเวลากว่า 600 ปี
1
ในปีค.ศ.1811 (พ.ศ.2354) “ฟรานซิส แฮมิลตัน (Francis Hamilton)” นายทหารชาวอังกฤษ ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่บริเวณนาลันทา หากแต่ก็ยังไม่พบอะไร ก่อนที่ในช่วงปีค.ศ.1861-1862 (พ.ศ.2404-2405) ”อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Alexander Cunningham)” นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้ทำการสำรวจบริเวณนาลันทา และก็พบเศษซากสิ่งก่อสร้าง ก่อนจะตรวจสอบและยืนยันว่านี่คือซากของนาลันทา
1
ข้ามมาในปีค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) ได้มีการขุดสำรวจบริเวณนี้อย่างจริงจังและดำเนินไปเป็นเวลานานกว่า 22 ปี ก่อนที่เรื่องราวของนาลันทาจะได้ปรากฎโฉมสู่โลกจนทุกวันนี้
1
โฆษณา