18 ก.ย. เวลา 05:45 • สุขภาพ

ป้องกันท้องร่วง โรคระบบทางเดินอาหารช่วงน้ำท่วม เผยอาหารปนเปื้อนง่าย

สถานการณ์น้ำท่วม นอกจากพัดความเสียหายมา ยังพัดสารพัดโรคภัยไข้เจ็บตามมาด้วย โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เผย โรคระบบทางเดินอาหาร โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ อาการต้องระวัง แนะเทคนิคดูแลไม่ให้ป่วย เลือกกินอาหารไม่ปนเปื้อนง่าย
โรคระบบทางเดินอาหาร อาทิ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค โรคบิด ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบ นับเป็นปัญหาอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝนและสถานการณ์น้ำท่วมขัง ที่ขณะนี้ในหลายจังหวัดกำลังวิกฤติ โดยเกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ที่สร้างสารพิษนี้แม้จะผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อนจนเชื้อโรคตายไปแล้ว แต่สารพิษจากเชื้อโรคยังคงอยู่ในอาหารและก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ ซึ่งมักพบใน
-อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ
-อาหารกระป๋อง
-อาหารทะเล
-น้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
-อาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ หรือไม่ได้อุ่นให้ร้อนเพียงพอก่อนรับประทาน
น้ำท่วมลด
อาหารที่มักจะพบการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่เป็นเหตุให้เกิดอาหารเป็นพิษ ได้แก่
-เนื้อสัตว์ ปลา ไข่
-สลัด ไส้แซนด์วิช
-ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ฯลฯ
อาหารเหล่านี้มักจะมีการเตรียมวัตถุดิบ และถูกทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นช่วงเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบมากในน้ำแข็งและเครื่องดื่มผสมน้ำแข็ง
-อาการระบบทางเดินอาหารต้องระวัง
-ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือด
-ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
-ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว
-เบื่ออาหาร
-ตัวเหลือง ตาเหลือง
สัญญาณอันตรายโรคอุจจาระร่วง
-ภาวะอาหารเป็นพิษมักจะไม่มีอาการรุนแรง และเป็นไม่นาน ส่วนใหญ่จะมีอาการ 1- 2 วัน บางรายอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เป็นอาการเด่น
-บางรายอาจจะท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ เป็นอาการเด่น โดยอาการอาจเกิดขึ้นเร็วใน 0.5 - 6 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
-อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
-ที่มีภูมิต้านทานน้อย เช่น เด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อาจมีอาการรุนแรงและทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคทางเดินอาหาร
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแข็ง หรือเครื่องดื่มผสมน้ำแข็ง (จากแหล่งผลิตที่ไม่น่าไว้วางใจ)
- ทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด อาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม
- ควรดื่มน้ำสะอาดบรรจุขวดที่มีมาตรฐาน อย. หรือน้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำ หรือต้มน้ำให้สุก
- น้ำประปาสามารถใช้ดื่มได้ในภาวะปกติ แต่ในภาวะน้ำท่วมอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าสู่ระบบท่อน้ำ ถ้าจะดื่มน้ำประปาควรต้มให้เดือด หรือกรองน้ำและนำใส่ขวดแก้วหรือขวดใส PET (PolyEthylene Terephthalate) ตากแดดอย่างน้อย 1 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค จึงสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย
- อาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารกล่องที่ได้รับแจกควรกินทันที หรือหากสะดวกควรอุ่นให้ร้อนก่อนเพื่อจัดการกับเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมา ไม่ให้เพิ่มจำนวนมากจนสร้างสารพิษในปริมาณมากพอจะที่จะก่อโรคให้เราได้
- ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้วมาปนกับอาหารดิบอีก เพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้
- ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำจากขวดที่ฝาปิดสนิท น้ำต้มสุก
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำ
- ห้ามถ่ายอุจจาระลงในน้ำโดยตรง ถ้าส้วมใช้ไม่ได้ ให้ถ่ายลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น
-ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง
-เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่น ๆ
-ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร และควรระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารเด็กทารก
ทั้งนี้เมื่อกลับเข้าบ้านหลังน้ำลด ควรทำความสะอาดภาชนะทั้งหมดและตากแดดให้แห้ง เนื่องจากอาจมีแมลงและสัตว์อื่น ๆ เฝ้าบ้านแทนเราในช่วงที่เราไม่อยู่ และนำเชื้อโรคต่าง ๆ มารออยู่ในภาชนะและส่วนอื่นๆ ของบ้าน
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/health/care/5875
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา