18 ก.ย. เวลา 15:55 • ประวัติศาสตร์

"ทองเจือ" เชื้อ "ทองแถม" หลานนอกวังรัชกาลที่ 4

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ (พระสนมโท)
เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ เป็นธิดาของนายศัลวิไชย (ทองคำ ณ ราชสีมา)
นายศัลยวิไชย เป็นบุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)หรือพระองค์เจ้าทองอินทร์
ซึ่งพระองค์เจ้าทองอินทร์ เป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีบิดาบุญธรรมคือเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา)
ดังนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ จึงเป็นลื่อ (ลูกของเหลน) ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ซึ่งในราชตระกูลนี้นิยมตั้งพระนามพระราชบุตรด้วยคำว่าทอง เริ่มจาก ทองอินทร์ ทองคำ ทองกองก้อนใหญ่ ทองแถม ทองเชื้อธรรมชาติ ทองชมพูนุช ชุนทองชุด ทองเติม ทองต่อ และทองบรรณาการ เป็นต้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ มีภรรยา 10 คน เป็นชายา 2 องค์ คือหม่อมเจ้าหญิงเม้า กับหม่อมเจ้าหญิงสุวรรณ
ส่วน “หม่อม” ซึ่งเป็นหญิงสามัญชนอีก 8 คน มีพระโอรส 7 องค์, พระธิดา 8 องค์ รวม 15 องค์
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ทรงชอบพอกับหญิงสามัญชนคนหนึ่งอาศัยอยู่แถวพาหุรัด ต่อมาหญิงนั้นตั้งครรภ์ แต่หม่อมเจ้าเม้า พระภรรยาใหญ่ไม่ยินยอมให้รับรองบุตรเป็นพระโอรส จึงทรงยอมให้เป็นไปตามประสงค์ของชายา
เด็กที่เกิดกับหญิงสามัญชนย่านพาหุรัดคนนั้นจึงไม่ได้เป็น "หม่อมเจ้า"
เรื่องนี้ทราบกันดีในวังโดยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถทรงรับอุปการะโอรสที่เกิดขึ้นมาแต่ยังเยาว์ พระราชทานเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับให้เสมอชั้นหม่อมเจ้า และพระราชทานชื่อว่า “ทองเจือ”
กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสประเทศสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. 2439 และได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์เป็นครั้งแรก
ในปีต่อมา ทรงตามเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในพ.ศ.2440 ได้ทรงจัดซื้อเครื่องซีเนมาโตกราฟฟี ซึ่งเป็นทั้งกล้องถ่ายและเครื่องฉายภาพยนตร์ กลับมาเมืองไทยด้วย
ภาพบันทึกเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป เมื่อพ.ศ. 2440 คือภาพยนตร์ม้วนแรกสุดในโลกที่ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชาติไทย และนั่นทำให้ท่านได้พระสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งภาพยนตร์ไทย”
วังของพระองค์ปัจจุบันคือ “แพร่งสรรพศาสตร์”
ทรงรับราชการในรัชกาลที่ 6 ดำรงตำแหน่งสุดท้ายคือจางวางเอกในกรมมหาดเล็ก ในปี 2456
ทั้งนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานราชสกุลให้ว่า “ทองแถม” และพระราชทานราชสกุลให้กับลูกนอกสมรส พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ซึ่งรับราชการสนองพระเดชพระคุณว่า “ทองเจือ”
ท่านจึงมีชื่อและนามสกุลอย่างเดียวกันว่า “ทองเจือ ทองเจือ” ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นการประชดประชันของรัชกาลที่ 6 แต่จริงๆแล้วนามนี้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระราชมารดา เป็นผู้พระราชทานให้ตั้งแต่แรก
กระทั่งรัชกาลที่ 7 จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า"พระยาไพชยนต์เทพ" มีศักดิ์เป็นลืบ(ลูกของลื่อ)ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระยาไพชยนต์เทพ อัญเชิญพระแสงขรรค์ไชยศรี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่7 ขอบคุณภาพจาก IG: thaithaibytan
*พระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) มีบุตรธิดารวม 8 คน บุตรคนที่ 8 ชื่อ พานทอง ทองเจือ
พานทอง ทองเจือ (ลืดในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) มีบุตรคือ
ภิญโญ ทองเจือ (อ๊อด)
ปรางทิพย์ ทองเจือ (แต๋ว)
เผ่าทอง ทองเจือ (แพน)
(เป็นพี่น้องต่างมารดากัน)
ภิญโญ ทองเจือ มีบุตรคือ ธนภณ (พีท) ทองเจือ
ดังนั้น เผ่าทอง ทองเจือ จึงมีศักดิ์เป็นหลานปู่ ของพระยาไพชยนต์เทพ
ส่วนพีท ทองเจือ มีศักดิ์เป็นหลานอาของเผ่าทอง ทองเจือและเป็น “เหลนปู่ทวด” ของพระยาไพชยนต์เทพ
(* ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
1
จาก Family Tree ชัดเจนว่า “ทองแถม” กับ “ทองเจือ” นั้นสืบเชื้อสายรัชกาลที่4 จากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
แต่หากย้อนกลับยังต้นกำเนิดก็จะพบว่ามีครึ่งหนึ่งเป็นเชื้อสาย “ณ ราชสีมา” จากเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ด้วยเช่นกัน
อาจสรุปได้ว่า เชื้อพระราชวงศ์ในรัชกาลที่4 เกี่ยวดองกับเจ้าเมืองนครราชสีมา (ณ ราชสีมา) ก่อนจะกลายมาเป็นต้นสกุล “ทองแถม” หรือ ทองแถม ณ อยุธยา แล้วแตกย่อยเป็น “ทองเจือ” นั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก #เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ
#ทองแถม
#ทองเจือ
#ราชสกุล
#ณราชสีมา
โฆษณา