3 ชั่วโมงที่แล้ว • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน อสิมอฟมองโลก

ตำนานเล่าว่าเมื่อกองทัพของกาหลิบโอมาร์ (Caliph Omar หรือ Caliph Umar ibn al-Khattab) ยึดเมืองอเล็กซานเดรีย มีคนถามกาหลิบว่าจะทำอย่างไรกับหอสมุด
อเล็กซานเดรียในเวลานั้นเป็นศูนย์กลางความรู้ของโลก และความรู้ทั้งหมดเก็บไว้ในหอสมุด
โอมาร์บอกว่า “ถ้าหนังสือพวกนั้นตรงกับคัมภีร์กุรอ่าน มันก็ไม่มีความจำเป็น และควรถูกเผา ถ้ามันแย้งกับคัมภีร์ มันก็เป็นอันตราย และควรถูกเผา”
สรุปก็คือยังไงก็จะเผา เพราะตั้งธงไว้แล้วว่าสิ่งที่ตนเชื่อถูกต้องที่สุด
ไอแซค อสิมอฟ บอกว่า โลกเราตอนนี้ก็ยังมีคนใช้ตรรกะของกาหลิบโอมาร์อยู่เสมอ พวกที่คิดว่าความรู้ทั้งหมดถูกบรรจุอยู่ในไบเบิลเล่มเดียว และปฏิเสธว่ามีข้อผิดพลาดในหนังสือ เขาเห็นว่านี่เป็นอันตรายมากกว่าระบบความรู้ที่ไม่ยึดมั่นตายตัวเช่นวิทยาศาสตร์
อสิมอฟบอกว่ามีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ศรัทธาต่อศาสนา แต่ก็ไม่นำมาศาสนากับวิทยาศาสตร์มารวมกัน เมื่อทำงานวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้ดีที่สุด พวกเขาจะไม่สรุปเอาว่า ถ้าพวกเขาไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นทางวิทยาศาสตร์ ก็โยนไปที่ข้อสรุปว่า “พระเจ้าทรงต้องการอย่างนั้น”
1
ความคิดแบบนี้มิเพียงเป็นอันตราย ยังทำให้โง่เขลาลง
คนจำนวนมากปฏิเสธวิทยาศาสตร์ด้วยคำอ้างคลาสสิกว่า “วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ทุกเรื่อง” แต่ที่ย้อนแย้งคือ กลับสามารถเชื่อเรื่องเทพงมงายอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องพิสูจน์
1
คนเรามักยอมรับความเชื่อที่ไม่ผ่านการพิสูจน์โดยไม่ตั้งคำถาม ด้วยคำอ้างคลาสสิกอีกข้อว่า “เรื่องบางเรื่องอยู่เหนือมนุษย์”
1
แต่กลับปฏิเสธเรื่องที่พิสูจน์ได้หรือมีหลักฐาน พวกเขาเลือกเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์ โลกแบน มนุษย์ต่างดาวสร้างพีระมิด ฯลฯ
ไอแซค อสิมอฟ เป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องเทพหรือพระเจ้า แต่เขาบอกว่า ถ้ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่ามีพระเจ้า เขาก็ไม่มีทางเลือก จะยอมรับความจริงนี้
แต่ในทางกลับกัน พวก fundamentalist กลับไม่ยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์​ เช่น มีหลักฐานที่ชี้ว่าวิวัฒนาการเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าแสดงหลักฐานอะไร พวกเขาจะบอกว่ามันแย้งกับคำของพระเจ้า
fundamentalism คือความเชื่อทางศาสนาที่ตีความคัมภีร์แบบเคร่งครัดเฉพาะ บางครั้งไปทางความรุนแรง
มีคนถาม ไอแซค อสิมอฟ ว่า “คุณเป็นศัตรูกับศาสนาหรือเปล่า?”
เขาตอบว่า เปล่า เขาเห็นว่าคนทุกคนที่ศิวิไลซ์มีสิทธิเลือกความเชื่อ ความมั่นคงตามใจชอบ แต่เขาต่อต้านความพยายามที่จะกำหนดความเชื่อของบุคคล หรือทั้งโลก
เขาว่าเราไม่อยากให้พวกโซเวียตพยายามครองโลก เปลี่ยนทุกชาติเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สหรัฐฯก็พยายามทำให้ทั้งโลกเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
เขาต่อต้านความพยายามทำให้ทั้งโลกเป็นคริสต์ หรืออิสลาม หรือยิว ฯลฯ
เขาต่อต้านลัทธิ fundamentalism “ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นชาว fundamentalist แต่เพราะพวกเขาต้องการให้ผมเป็น fundamentalist ด้วย”
พูดง่ายๆ คืออยากเชื่ออะไรก็เชื่อไป แต่อย่าไปบังคับให้คนอื่นเชื่อด้วย
เราควรสามารถรับข้อมูล ขบคิด แล้วค่อยเชื่อเอง
เขาว่านี่รวมวิทยาศาสตร์ด้วย ยกตัวอย่าง เช่น เขาเชื่อว่าทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นเรื่องจริง แต่เขาก็ไม่ต้องการโน้มน้าวให้ใครเชื่อว่าทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นเรื่องจริง เขาต้องการให้คนอื่นเชื่อเพราะศึกษามาดีแล้ว และตัดสินใจเชื่อเอง
ทำนองเดียวกัน อสิมอฟก็ไม่ต้องการให้มีการสอน creationism (พระเจ้าสร้างโลก) แบบเดียวกับทฤษฎีวิวัฒนาการ “เพราะ creationism ไม่ใช่วิทยาศาสตร์”
เขาบอกว่า “คุณสามารถสอน creationism ในโบสถ์ ในบทเรียนเกี่ยวกับศาสนา ผมหมายความว่า พวกเขาคงตกใจถ้าผมเสนอให้โบสถ์สอน secular humanism เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการมองจักรวาล หรือสอนทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อพิจารณาว่าชีวิตเกิดขึ้นมาได้ยังไง”
Secular Humanism คือลัทธิมนุษยนิยมที่ไม่มีศาสนาหรือไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา (Secular แปลว่าไม่มีศาสนา Humanism คือลัทธิมนุษยนิยม) แนวคิดนี้ไม่จัดว่าเป็นศาสนา เป็นวิธีมองโลกอย่างหนึ่ง มันรวมวิทยาศาสตร์เข้ากับตรรกะ
มันเห็นว่าความจริงต้องผ่านการพิสูจน์ ไม่ใช่ด้วยความเชื่อความศรัทธา กระบวนการหนึ่งที่ใช้คือวิทยาศาสตร์ ทดลอง สืบค้นความจริงโดยใช้ตรรกะ เหตุผล หลักฐาน มองโลกไม่ใช่แค่ปัจเจก แต่มองภาพรวม ไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า เชื่อเรื่องชาตินี้ เดี๋ยวนี้ การทำชาตินี้ให้ดีมีความหมาย สร้างโลกใหม่ให้ดีขึ้น เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ที่สำคัญมีจรรยาบรรณ ศีลธรรม ความยุติธรรม ความประพฤติที่เหมาะสม ไม่เอาเปรียบใคร
“ในโบสถ์พวกเขาสอนแต่เรื่องที่พวกเขาเชื่อ แต่ในวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน เราต้องสอนสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าจักรวาลทำงานยังไง”
สำหรับคนที่เชื่อศรัทธาในบางเรื่อง มองว่าวิทยาศาสตร์อันตราย เพราะไม่แน่นอน เรื่องนี้อสิมอฟบอกว่า “นั่นก็คือความเท่ของวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่ยึดมั่น ไม่ถาวร มันเปลี่ยนแปลงได้”
เขาเห็นว่าสิ่งที่น่าอายคือการมีความเชื่อชุดหนึ่งที่คุณคิดว่าสูงสุด และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คุณจึงไม่ยอมฟังหลักฐาน คุณบอกว่า “ถ้าหลักฐานตรงกับสิ่งที่ฉันเชื่อ มันก็ไม่จำเป็น ถ้ามันไม่ตรงกับที่เชื่อ มันก็ผิด”
ก็คือตรรกะกาหลิบโอมาร์!
ไอแซค อสิมอฟ ไม่เคยปิดบังเรื่องมุมมองเรื่องศาสนาและชีวิตหลังความตาย
ในประเด็นชีวิตหลังความตาย เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเชื่อว่าชีวิตคนเราจบแค่ที่ความตาย
เขาเชื่อว่าหลังจากเขาตาย จะไม่มีอะไร ไม่มีชาติหน้า
เช่นเดียวกับ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก ที่บอกว่า ยังมองไม่เห็นหลักฐานทางฟิสิกส์ที่บอกว่ามีกลไกอะไรสามารถทำให้เกิดชาติหน้า
อสิมอฟบอกว่า อย่าทึกทักเอาว่ามนุษย์เราไม่รู้จักแยกแยะชั่วดี “มีเหตุผลเดียวเท่านั้นหรือที่คุณมีศีลธรรมและจริยธรรมเพราะมันเป็นใบเบิกทางไปสวรรค์? มันคือเหตุผลเดียวหรือที่คุณไม่ตีลูกจนตาย เพราะคุณไม่ต้องการตกนรก? ผมรู้สึกว่ามันดูหมิ่นมนุษย์โดยทึกทักเอาเองว่า มีแต่ระบบให้รางวัลและการลงโทษ จึงทำให้คุณเป็นคนดี คิดไม่ออกหรือว่าคนคนหนึ่งต้องการเป็นคนดีเพราะมันเป็นทางที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้น? เพราะมันเป็นทางที่ทำให้โลกดีขึ้น?”
เขาบอกว่า “ผมอยากคิดว่า... ผมไม่เชื่อว่าผมจะไปสวรรค์หรือนรก ผมคิดว่าเมื่อผมตาย มันไม่มีอะไร นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่ออย่างหนักแแน่น นั่นไม่ได้แปลว่าผมจะอยากไปปล้น ขโมย และข่มขืนใคร และอื่นๆ เพราะผมไม่กลัวบทลงโทษ”
คนส่วนใหญ่ชอบบอกว่า ความคิดแบบนี้เป็นอันตราย เพราะถ้าตายแล้วสูญ เราก็ทำชั่วได้ทุกอย่างซี ฆ่าใคร ข่มขืนใครก็ได้ นี่เป็นกรอบคิดยอดนิยมที่ชอบใช้อ้างกัน
อสิมอฟบอกว่าไม่เกี่ยวกัน
นี่จัดเป็นตรรกะวิบัติ โยงสองเรื่องเข้าด้วยกัน โดยสรุปเองว่าถ้าเราฆ่าคนได้ เราก็จะฆ่าคน ซึ่งไม่เป็นความจริง คนวิปลาสอาจฆ่าคน แต่คนที่มีมโนธรรมไม่ฆ่าใครทำร้ายใครเพียงเพราะทำได้
“ผมกลัวบทลงโทษจากมโนธรรมของผมเอง ผมมีมโนธรรม มันไม่ได้เกิดจากศาสนา...”
และ
“นอกจากนี้แม้ในทุกสังคมที่ศาสนามีอำนาจมาก ก็ไม่เคยขาดแคลนอาชญากรรมและบาป และสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น...”
นิยายวิทยาศาสตร์เป็นงานเปิดสมอง เปิดโลก อสิมอฟจัดเป็นเซียนคนหนึ่งในวงการนี้
อสิมอฟบอกว่า “เรามาดูวรรณกรรมในภาพรวมกัน นิยายอะไรก็ได้ ผมคิดว่านิยายซีเรียส นิยายที่นักเขียนรู้สึกว่าเขาได้ทำบางอย่างสำเร็จลุล่วงนอกเหนือไปจากการให้ความบันเทิง มันไม่มีอะไรผิดที่จะให้แค่ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ถ้าเขาคิดว่าเขาทำบางอย่างเพิ่มจากการมอบความบันเทิง สิ่งที่เขาทำก็เป็นกระจกเงาสะท้อนสายพันธุ์มนุษย์ ทำให้มันเป็นไปได้ที่จะเข้าใจคนดีขึ้น เพราะคุณอ่านนวนิยายเรื่องนั้น บางทีอาจทำให้คุณเข้าใจตัวเองดีขึ้น นี่เป็นเรื่องสำคัญ...
“เอาละ ทีนี้นิยายวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการที่ต่างออกไป มันสร้างสังคมเทียมขึ้นมา สังคมที่ไม่มีอยู่จริงๆ อาจมีอยู่ในอนาคต แต่ก็อาจไม่จำเป็น มันจำลองภาพเหตุการณ์ต่อฉากหลังของสังคมนี้ นี่ทำให้มันสนุก มันน่าสนใจ แต่ในความหวังว่ามันจะสร้างทางสายใหม่ในการมองคนและมองตัวคุณเอง มองว่าคุณอยู่กับสังคมประหลาดในทางที่คุณไม่สามารถมองตัวเองในสังคมปัจจุบัน...
“ผมไม่คิดว่าผมประสบความสำเร็จหรอกนะ เพราะดูเหมือนว่าจะเขียนให้ดี ต้องใช้คนเก่งมากๆ ระดับครึ่งหนึ่งของเช็คสเปียร์ ผมยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ผมพยายาม และบางทีผมก็ทำสำเร็จบ้างเล็กน้อย แต่ผมพยายาม และนั่นคือเหตุผลที่ผมเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เพราะมันเป็นทางเขียนนิยายในสไตล์ที่แตกต่าง และขับเน้นให้ผมสามารถชี้จุดที่ผมไม่สามารถทำด้วยวิธีการอื่น”
มีคนถามเขาว่า แล้วจริงไหมที่ข้อได้เปรียบใหญ่ๆ ของนิยายวิทยาศาสตร์คือแนะนำผู้อ่านไอเดียของความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่หนีไม่พ้น แต่ผู้อ่านไม่สามารถมองเห็น
อสิมอฟตอบว่า เขาบอกอย่างนั้นมาหลายครั้งแล้ว ความจริงคือสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่อัตราความเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุผลหลายประการ สิ่งหนึ่งคือความเปลี่ยนแปลงนั้นสะสมตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงที่คุณทำ ทำให้มันง่ายขึ้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงขั้นต่อไป
เขาว่าปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงเร็วพอที่จะเห็นในหนึ่งชั่วคน ทันใดนั้นนั่นทำให้คนรับรู้ว่า ไม่เพียงสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลง มันยังจะเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องหลังจากที่พวกเขาตาย และนั่นคือเมื่อนิยายวิทยาศาสตร์ปรากฏตัวขึ้นมา ซึ่งต่างจากแฟนตาซีและนิยายผจญภัย เพราะคนรู้ว่าพวกเขาจะตายก่อนเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษหน้า ดังนั้นมันรู้สึกดีที่ได้จินตนาการว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นอย่างไร และบางคนก็ตัดสินหาเงินด้วยวิธีนี้
“เวลาผ่านไป อัตราความเปลี่ยนแปลงก็ทวีเร็วขึ้นเรื่อยๆ มันสำคัญมากขึ้นๆ ที่จะปรับตัวสิ่งที่คุณทำในวันนี้กับความจริงที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต มันเป็นเรื่องน่าหัวเราะที่จะวางแผนเดี๋ยวนี้บนข้อสมมุติฐานว่าสิ่งต่างๆ จะดำเนินไปอย่างเดิม คุณต้องนึกว่าถ้าสิ่งที่คุณกำลังทำจะออกดอกออกผลในสิบปี ความเปลี่ยนแปลงในสิบปีนั้นอาจเกิดขึ้นและบางทีสิ่งที่คุณกำลังทำตอนนี้อาจไร้ความหมายไปเสียแล้วในตอนนั้น
เขาบอกว่า ดังนั้นในตอนนี้ อนาคตนิยม (futurism) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการคิดในวงการธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ การเมือง การทหาร
1
และนี่ทำให้นิยายวิทยาศาสตร์มีความสำคัญ
ไอแซค อสิมอฟ เห็นว่านิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีชี้ให้เราเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และเตือนให้เรารับมือกับมันล่วงหน้า หรือหาทางแก้ไขมันก่อนที่จะเกิด
ยกตัวอย่างปัญหาประชากรล้นโลก
อสิมอฟเห็นว่าถ้าประชากรล้นโลก มันจะทำลายโลก เขาเรียกมันว่า bathroom metaphor (อุปมาห้องน้ำ) นั่นคือถ้าคนสองคนอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่มีห้องน้ำสองห้อง ทั้งสองก็จะมีอิสรภาพในการใช้ห้องน้ำ เข้าห้องน้ำได้ทุกเมื่อ นานเท่าไรก็ได้ นี่คือสภาพอุดมคติ
แต่ถ้ามีคนยี่สิบคนในอพาร์ตเมนต์นี้ ไม่ว่าแต่ละคนจะเชื่อเรื่องอิสรภาพในการใช้ห้องน้ำแค่ไหน มันไม่มีสิ่งนี้ คุณต้องกำหนดเวลาการใช้ห้องน้ำ
ในทางเดียวกัน ประชาธิปไตยไม่สามารถอยู่รอดหากมีคนล้นโลก ศักดิ์ศรีมนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ในสถานการณนี้ ยิ่งมีคนมาก คุณค่าของชีวิตไม่เพียงลดลง มันจะหายไป
มีคนถาม ไอแซค อสิมอฟ ว่า ถ้าให้เขาเขียนปาฐกถาให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯในวันสาบานตน เพียงเรื่องเดียวให้คนสนใจ มันจะเป็นยังไง
เขาตอบว่า มันจะเป็นดังนี้ : ทุกๆ ปัญหาที่เราเผชิญตอนนี้ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตและความตาย เป็นปัญหารวมของทั้งโลก มันกระทบเราเหมือนกันหมด ชั้นโอโซนถ้าหายไป ก็หายไปหมดสำหรับทุกคน มลภาวะในมหาสมุทร ในชั้นบรรยากาศ ในดิน ในน้ำ เกิดกับเราทุกคน ทางเดียวที่เราสามารถแก้ไขมัน ป้องกันมันทำลายเรา ก็เป็นทางแก้ระดับโลก
พูดง่ายๆ คือลำพังสหรัฐฯประเทศเดียวแก้ปัญหาโลกอะไรไม่ได้ ต้องเป็นการร่วมมือของทุกชาติทั่วโลก
นี่ทำให้เราต้องจ่ายน้อยลงในการทำสงคราม และมีเงินมาแก้ปัญหา
ไม่กี่ปีก่อนตาย ไอแซค อสิมอฟ ให้สัมภาษณ์ว่า คนสมัยนี้ชอบบ่นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้เรื่อง มันตอบคำถามอะไรไม่ได้ อย่างโน้นอย่างนี้
เขาว่าลองเอาโทรทัศน์และรถยนต์ออกไปจากชีวิตซี เมื่อนั้นจะเกิดอาการลงแดง เห็นว่าวิทยาศาสตร์ก็ดีขึ้นมาทันที
คนจำนวนมากในโลกบ่นว่าโลกเราใช้จ่ายเงินทองมหาศาลในโครงการอวกาศทำไมไม่รู้ ไม่เกิดประโยชน์อันใด
แต่ถ้าเขาเจ็บป่วยหัวใจวายไปโรงพยาบาล หมอต้องผ่าตัดหัวใจด้วยระบบเลเซอร์ ก็อย่าลืมขอบคุณโครงการอวกาศ ‘ที่ไร้ประโยชน์’ ด้วย
ถ้าตรวจพบมะเร็ง ก็อาจต้องเลิกด่าโครงการอวกาศที่ไร้ประโยชน์ด้วย เพราะเครื่องสแกนมาจากวิทยาการอวกาศ
การสั่งอาหารโดยปักหมุด GPS ก็มาจากโครงการอวกาศ
เวลามองโลก มองอย่างน้อยสองด้านเสมอ อย่ามองอะไรด้านเดียว
โฆษณา